ชวนเด็กไทยเรียนเป็นนักบินอวกาศด้วย Moon In Google Earth ติดตามภารกิจเหยียบดวงจันทร์ อพอลโล่ 11 กับนิล อาร์มสตรอง

                               
                                     คลิปติดตามภารกิจนักบินอวกาศผ่านโปรแกรม Google Earth


พุธ 20 ก.ค. 2559 เขียนรำลึกครบรอบมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของโลก
ภารกิจอพอลโล่ 11 นักบินอวกาศ 3 คน นิล อาร์มสตรอง, ไมเคิล คอลลินท์ และ บัซ แอนดริน
เดินทางจากโลกไปยังดวงจันทร์กว่า 3 แสน กม. และสามารถไปเหยียบดวงจันทร์ได้
ในวันที่ 20 ก.ค. 2512 (ค.ศ.1969)


ไกลเกินไปไหมถ้าบอกว่า เราจะมีนักบินอวกาศจากประเทศไทย ผมมีความเชื่อว่าเป็นไปได้
ไม่น่าเชื่อว่าซอฟต์แวร์ Google Earth มีคุณสมบัติที่เรียกว่า Moon ให้เราสามารถศึกษาเรื่องดวงจันทร์และติดตามภารกิจของนักบินอวกาศชุดแรกที่ไปเหยียบดวงจันทร์ ในภารกิจ อพอลโล่ 11
จนถึงภารกิจอพอลโล่17 จากนั้นก็ไม่มีมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์อีกเลย


ผมได้ทำคลิปแนะนำวิธีการใช้ Moon in Google Earth เพื่อเป็นเครื่องมือจุดประกายว่า
ซอฟต์แวร์ฟรีอย่าง Google Earth นั้น ผมเชื่อว่าคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนทุกแห่งของประเทศไทยมีติดตั้งไว้ และสามารถใช้งานได้บนเบราเซอร์ ระบบการศึกษาไทยสามารถเรียนรู้การเป็นนักบินอวกาศได้เป็นวิสัยทัศน์ของประเทศไทยว่าเราต้องผลิตนักบินอวกาศบ้าง ไม่ใช่ผลิตแต่นักบินพาณิชย์และนักบินขับไล่ของกองทัพอากาศ ศูนย์การบินทหารบก กองบินเกษตรฝนหลวง แต่เรามองไกลออกไปอีกสักนิด


ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า ถ้าเราบรรจุหลักสูตรการบินและนักบินอวกาศ ให้เด็กนักเรียนชั้นประถมของประเทศไทย จะทำให้เยาวชนไทยมีแรงบันดาลใจใหม่ ๆ นอกเหนือจากการไปดูการจัดแสดงเครื่องบินในวันเด็กซึ่งมีปีละ 1 ครั้งซึ่งเวลาเด็กไปดูเครื่องบินก็เห็นแต่เหล็กไม่ได้เข้าใจกลไกในการทำงานต่างๆ ของเครื่องบิน ขอชวนชมคลิปกันครับ ผมพยายามที่จะถ่ายทอดออกมา เป็นจุดเริ่มต้นว่า เราสามารถให้เด็กไทยเรียนเป็นนักบินอวกาศได้

47 ปีที่แล้วมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ได้ ด้วยแรงบันดาลและนิสัยของสังคมคือความอยากรู้อยากเห็น บ้านเราก็ผลิตจรวดแต่เป็นบั้งไฟ แล้วก็ยังคงเป็นบั้งไฟแต่ไปเพราะเป็นวัฒนธรรม เรามองบั้งไฟเป็นประเพณีและการละเล่นรวมไปถึงพนันขันต่อ แต่ไม่ได้ใส่เรื่องราวและแรงบันดาลใจใหม่ๆ เข้าไปในสังคมวัฒนธรรมของเรา


 ด.ช.หม่อง ทองดี กับ ผู้เขียน 

เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 หรือ 7 ปีที่แล้ว ด.ช.หม่อง ทองดี เด็กสัญชาติพม่าเกิดในเมืองไทย เรียนที่โรงเรียนห้วยทราย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แข่งขันชนะเลิศพับจรวดเป็นที่หนึ่งได้รับคัดเลือกไปแข่งขันในต่างประเทศ
แต่ไม่สามารถไปแข่งขันได้เพราะติดเป็นเด็กต่างด้าวไม่มีพาสปอร์ตและสัญชาติไทย เขามาออกทีวีที่ช่อง9 ผมได้มีโอกาสไปพบกับเขาเพื่อให้กำลังใจ เวลานั้น ด.ช.หม่องน่าจะสัก 8 ขวบได้มั้งครับ ผ่านไป 7 ปี เวลานี้ เขาคงอายุ 15 ปี โตเป็นหนุ่มแล้ว ไม่รู้ว่าเขาจะยังคงพับจรวดอยู่เหมือนเดิม หรือวางแผนชีวิตแนวทางเพื่อเป็นนักบินหรืออะไรที่ก้าวหน้ากว่าพับจรวดหรือไม่ แต่ผมเห็นใจเขามาก ๆ ครับ กลัวจะพับจรวดหรืออาจจะไม่ได้เรียนหนังสือต่อ หรืออาจจะก้าวไปไกลกว่าที่ผมคิดไว้ ถ้าเขาไปได้ไม่ไกลกว่าที่เป็นอยู่ก็เป็นเพราะระบบการศึกษาของไทยเราไม่ได้ใส่จิตวิญญาณให้เยาวชนไทยมองไกลออกไปกว่าที่เป็นอยู่ หรือครอบครัวของเขาอาจไม่พร้อมและไม่มีกำลังที่จะส่งลูกให้ไปไกลสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ ซึ่งผมเองก็คือผลผลิตอย่างนั้น กว่าจะมารู้อีกทีก็แทบจะเลยวัยกลางคนมาแล้วว่า เราสามารถศึกษาเรื่องการบินและนักบินอวกาศได้ไม่ใช่เรื่องยาก
ถึงแม้จะมีการเรียนเรื่องอวกาศในเมืองไทยก็ยังเป็นกลุ่มเล็กๆ มาก ๆ ไม่ได้ขยายหรือสร้างความสำคัญและตระหนักว่าเรื่องอวกาศไม่ได้ไกลตัวเลย ยิ่งผมมาเห็น ดวงจันทร์ใน Google Earth แล้วหรือเลยว่า สังคมอเมริกันให้สำคัญกับการศึกษาดาราศาสตร์ และทำซอฟต์แวร์ให้เด็กและผู้สนใจสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพียงแต่ติดตั้งลงบนคอมพิวเตอร์และศึกษาได้จากหนังสือรวมไปถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ต

หนังสือ First Man ชีวประวัติของนิล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกของโลกที่เหยียบดวงจันทร์ 

การที่สหรัฐอเมริกาสามารถนำพามนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ได้เพราะวิสัยทัศน์ของ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ไปประกาศใน ปี ค.ศ. 1961 ว่าก่อนสิ้นทศวรรษนี้ สหรัฐฯจะไปเหยียบดวงจันทร์ให้ได้ เพราะก่อนหน้านี้ ยูริ กาการิน นักบินของรัสเซียเป็นมนุษย์คนแรกที่บินขึ้นไปในอวกาศ หลังจากนั้นในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 ( ค.ศ.1963) เคนเนดี้ถูกลอบสังหารยิงเสียชีวิต แต่วิสัยทัศน์ของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนในชาติและ Nasa ผลักดันให้ภารกิจนี้ประสบผลสำเร็จ

หลายวันก่อน พี่ชายที่ผมเคารพนับถือคนหนึ่งชื่อพี่เด่นในอดีตทำเป็นผู้บริหารในกลุ่ม ARIP ทำนิตยสารคอมพิวเตอร์ทูเดย์​ จากนั้นก็ย้ายไปอยู่กับกลุ่มเอสปายกรุ๊ป ทำนิตยสาร PC Today ปัจจุบันได้ปิดตัวลงไปแล้ว เขาได้โพสลงเฟซบุ๊คลงไปว่า เขาได้เดินทางไปส่งลูกชายที่สนามบินสุวรรณภูมิไปเรียนกฏหมายที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลก บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน เป็นศิษย์เก่าสถาบันแห่งนี้ และ ในข้อความนั้นเขียนได้อย่างประทับใจเล่นเอาผมน้ำตาซีม ด้วยความประทับใจ พี่เด่นเล่าว่า เมื่อลูกอายุได้ 13 ปี เรียนอยู่ ม.1 อยู่ที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ซึ่งพี่เด่นเองก็เคยเรียนอยู่ที่นั้น วันหนึ่งลูกเดินมาถามว่าอยากไปเรียนที่นิวยอร์ค
คำถามของลูกเล่นเอาพี่เด่นอึ้งไปเลย

ถ้าหากเป็นลูกคนมีฐานะ ผมบอกเลยครับว่า เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยมาก นิวยอร์ค ไปเมื่อไหร่ก็ได้ ยิ่งวีซ่านักเรียน ไปเรียนซัมเมอร์ หรือไปติวภาษาอังกฤษ ผมเคยทำงานช่วงเวลาหนึ่งอยู่บริษัทที่ปรึกษาเรียนต่อต่างประเทศ ทำให้พอรู้ว่าเงินคือคำตอบแรกที่ไปเรียนที่ไหนก็ได้ในโลก ถ้าไม่ต้องสอบชิงทุนการศึกษา มีเงินอย่างเดียวไปได้เรียนได้ทุกที่ครับยกเว้นสถาบันการศึกษาที่เจ๋งจริงๆ ความน่าสนใจว่า
  พี่เด่นจะบอกลูกอย่างไร นิวยอร์คไกลเกินไปสำหรับฐานะครอบครัวและความเป็นไปได้ แต่พี่เด่นก็ไม่ได้ปิดโอกาสลูก ถ้าพี่เด่นพูดออกไปคำเดียวเพื่อไม่ให้ผิดศีลข้อสี่ มุสาวาทาเวระมณี การพูดโกหกหรอกลวงเป็นความผิด พูดไปตรง ๆ กับลูกว่า พ่อไม่มีปัญญาส่งหรอกลูก ก็เป็นอันจบเห่ ความฝันของเด็กชายผู้ใฝ่ดีถูกทำลายด้วยความจริงของชีวิตว่าเราไม่มีเงินส่งลูกไป ไม่รู้ว่าดับความฝันเลยหรือไม่ แต่พี่เด่นใช้กุศลโลบายแบบไม่มีเงินบอกกับลูกถ้าอยากไปเรียนนิวยอร์คได้เลย ลูกอ่านหนังสือแฮรี่พอตเตอร์ ภาคภาษาอังกฤษให้จบ และแล้วแรงบันดาลใจมีจริงไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ลูกชายพี่เด่นเอาจริงและจากวันนั้นกลายเป็นความชอบภาษาอังกฤษขั้นมาจนกระทั่งสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ทำงานเป็นทนายความบริษัทที่ปรึกษากฏหมายข้ามชาติและได้รับการตอบเข้าความเรียนมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สิ่งที่เป็นไปไม่ได้และเป็นไม่ได้ เด็กชายจากโรงเรียนวัด ไม่ได้เรียนอินเตอร์ ค่าเทอมปีละเกือบล้าน สอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลกได้

มาเริ่มต้นให้เด็กไทยเป็นนักบินอวกาศด้วย Moon in Google Earth ครับ เริ่มจากตรงนี้แล้วค่อยๆ เจาะลึกลงไป
บนโลกอินเทอร์เน็ต

บันทึก รำลึกครบรอบ 47 ปี มนุษย์เหยียบดวงจันทร์
พุธ 20 ก.ค. 2559

ชีพธรรม คำวิเศษณ์







ความคิดเห็น