เส้นทางและการออกแบบชีวิตของ อ.มานิตย์ จุมปา ผู้เขียนตำรากฏหมายมากที่สุดในประเทศไทย



รศ.มานิต จุมปา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่องที่จะเขียนเล่าต่อไปนี้ เป็นโลกแห่งความพากเพียร ความทรหดอดทน โลกของสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แต่เป็นไปได้ ผมเขียนเพื่ออยากปลุกขวัญกำลังใจทุกคนที่อยากจะเขียนหนังสือหรืออยากเป็นนักเขียน
รวมถึงตัวผมซึ่งเขียนใช้เรื่องราวชีวิตของเพื่อนเป็นวัตถุดิบในการเขียนเล่าสิ่งที่อาจจะเป็นประวัติศาสตร์บันทึกไว้สำหรับอาจารย์กฏหมายที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทยในยุคนี้

ผมเขียนเพื่อสร้างความภูมิใจให้กับตัวเอง ผมเขียนเพื่อชื่นชมเพื่อนคนหนึ่ง เราเป็นคลาสเมท เพื่อนร่วมห้อง แต่เขาอยู่ในกลุ่มโลกสีขาว ผมอยู่ในโลกเทาๆ  เวลานั้นเขามีเป้าหมาย แต่ผมไม่มีเป้าหมายในชีวิต
แต่ในที่สุดโลกการเขียน โลกแห่งการศึกษา โลกแห่งความรักในวิชาการ โลกแห่งตำรา พาให้เรามาอยู่บนเวทีเดียวกัน ซึ่งผมก็ภูมิใจมาก ๆ ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำให้ชีวิตของอดีตนักเรียนโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยแห่งจังหวัดเชียงใหม่ได้โคจรมาพบกัน ในโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง
การเขียน การผลิต และการเผยแพร่ตำรา หนังสือวิชาการระดับอุดมศึกษา ของสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งที่โลกของเขาและผมจะเดินในเส้นทางกันคนละสายวิชาชีพ

เรือภะรตราชา


พุธ 8 มิถุนายน 2559 ยามเช้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เรือนภะรตราชา (พะ-รด-ราชา) อาคารเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัย พ.ศ.2460 เป็นอาคารทรงสวยงามชั้นล่างโล่ง ชั้น 2 เป็นอาคารชั้นสอย และชั้น 3 ขึ้นไปเล่นระดับ
ตอนแรกผมไม่รู้ว่านี่คือตึกนี้คืออะไร ความหมายของชื่อเป็นอย่างไร เมื่อความสงสัยเกิดขึ้น
เมื่ออยากทราบ ได้ลงแอพ Wikipedia ติดตั้งลงไปในเครื่อง LAVA สมาร์ทโฟนแอนดรอยที่เพิ่งซื้อมาใหม่แทนการใช้ไอโฟน เพื่อต้องการเรียนรู้สมาร์ทโฟนไปสอนให้กับผู้ใช้แอนดรอย เมื่อติดตั้งแล้วก็กด Nears by ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษ ทำให้ผู้ใช้ทราบว่า บริเวณสถานที่ใกล้เคียงที่อยู่นั้น มีข้อมูลสถานที่สำคัญอะไรอยู่บ้างที่มีผู้อาสาสมัครมาเขียนไว้บนวิกิพีเดียในที่สุดผมก็ทราบว่า เรือนรตะราชา มีความสำคัญเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นบ้านพักของอาจารย์ชาวต่างประเทศ เคยเป็นอาคารของโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาฯ ซึ่งอ่านเพิ่มเติมได้จากวิกิพีเดียครับ

รถบัสจุฬาฯ สีชมพู สวยเชียว


รถบัสของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจอดติดเครื่องยนต์อยู่ คณาจารย์จากหลายคณะของจุฬาฯ และ วิทยากร ซึ่งจะไปบรรยาย มาขึ้นรถบัสเพื่อเดินทางไปยังโรงแรมดีวารี หาดจอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี
ซึ่งทางสำนักพิมพ์จุฬา ได้จัดโครงการ เขียนตำราขึ้น โดยได้เชิญชวน ผู้สนใจและอาจารย์จากที่ประเทศที่สนใจเขียนตำราวิชาการเพื่อต้องการตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ไปร่วมกัน
บนรถบัส เมื่อมีการแนะนำตัวว่า ใครมาจากที่ไหนบ้าง  ปรากฏว่า อาจารย์แต่ละท่านจากคณะแพทยศาสตร์, สถาปัตยฯ , วิศวกรรมฯ , อักษรศาสตร์ , วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ผมทึ่งมาก
และมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวที่สำนักพิมพ์จุฬาฯให้ทุนและออกค่าใช้จ่ายทุกอย่างให้มาเรียนเรื่องการเขียนตำราด้วย


ยินดีต้อนรับคณาจารย์จากทั่วประเทศ


บรรยากาศ โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ของสำนักพิมพ์จุฬาฯ


รถบัสใช้เวลาวิ่งเพียง 2 ชั่วโมงก็มาถึง หาดจอมเทียน พัทยา ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไรมากมากมาย
มาสอนหนังสือสอนเสร็จให้ความรู้แล้วก็กลับบ้าน
ก็เหมือนกับนักมวยไทยที่ไปต่อยในต่างประเทศ ต่อยมวยเสร็จคนดูเชียร์อย่างสนุกๆ ต่อยหมดยกแพ้ชนะ
กรรมการยกมือก็หมดหน้าที่ของนักมวย  เมื่อไปถึงที่ห้องลงทะเบียน แล้วไปดูรายชื่อผู้เข้าร่วมสัมมนาด้วยความอยากจะทราบว่ามาจากไหนบ้าง ซึ่งผมต้องเป็นผู้บรรยายจะต้องรู้ว่าควรจะพูดแบบไหน
ให้ประทับใจและได้ความรู้นำไปใช้กับงานและชีวิตได้  ปรากฏว่า ผู้ที่มาอบรมจากทั่วประเทศประมาณ 200 ท่านเป็นอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมด มีตั้งแต่อาจารย์ที่ยังไม่มีตำแหน่งวิชาการ ไล่ขึ้นไปตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และ รองศาสตราจารย์มานั่งอบรม เพื่อต้องการอยากจะตีพิมพ์หนังสือและตำรากับสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ ซึ่งความจริงแล้ว ผมอยากจะบอกว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน เพียงแต่ขอให้คุณเป็นนักเขียนและต้นฉบับผ่านเกณฑ์ทางวิชาการของสำนักพิมพ์จุฬาฯ ท่านจะได้เป็นเจ้าของผลงานมีชื่อบนปกหนังสือ และ โลโก้ของสำนักพิมพ์จุฬาฯ มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศไทย

คณะวิทยากรผู้บรรยาย ผู้เขียนที่ 2 ยืนจากขวา

หนึ่งในวิทยากรที่มาบรรยายด้วยก็คือ รศ.มานิตย์ จุมปา  อาจารย์กฏหมายที่แต่งตำราหนังสือทางนิติศาสตร์มที่สุดในประเทศไทย เขาคนนี้ได้ชื่อว่าเป็นเพื่อนของผมในชั้นเรียนเดียวกัน
ซึ่งบอกผมเคยบอกกับผู้ที่ผมรู้จักว่าผมเคยเรียนห้องเดียวกับ อ.มานิต จุมปา ท่าทางเหมือนจะไม่ค่อยเชื่อผม 
ว่านายชีพธรรม นี่นะหรือเรียนห้องเดียวกับอาจารย์มานิต ซึ่งไม่ผิดครับ ถูกต้องแล้วครับ
ก็เลยจะเขียนเล่าสู่กันฟังและบันทึกเป็นความทรงจำ Memoir Writing ของผมเอง


นับจากนี้ไปขอใช้คำว่า รศ.มานิต จุมปา เป็นมานิต เฉยๆ  เพื่อให้ภาษาเขียนเหมือนกับภาษาพูดและจะได้ลื่นไหนสะดวกต่อการอ่าน
บรรยากาศในการฟังการบรรยายอาจารย์ 200 ท่าน นั่งฟังมานิตอย่างตั้งใจ ซึ่งมานิตได้บรรยายเรื่อง เขียนผลงานวิชาการอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์  การฟังด้วยความตั้ใจนั้นเพื่อต้องการทราบถึงข้อกฏหมาย และ หลีกเลี่ยงไม่ให้ไปละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น มานิตบรรยายว่า แม้แต่ว่าที่นายกรัฐมนตรีของประเทศแห่งหนึ่งในยุโรป ตกเก้าอี้มาแล้วจากการไปละเมิดลิขสิทธิ์งานเขียนของผู้อื่น


อาจารย์มานิตกับผู้เขียน บนโต๊ะอาหารกลางวัน ภาพแรกถ่ายคู่ในรอบ 29 ปีนับแต่รู้จักกัน


มานิตบรรยายสนุกมากไม่เหมือนกับสอนหนังสือ ผมเองก็เป็นนักเรียนกฏหมายมาเหมือนกัน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ทำให้นึกถึงสมัยเรียนหนังสือเหมือนกัน  แต่อย่าไปเทียบเรื่องการเรียนกับเรียนการมานิต เทียบฟอร์มกันไม่ได้เลย อย่าคิดแม้แต่จะไปสู้เรื่องการเรียน

แม้ในช่วงบ่ายที่ยานอนหลับคืออาหารกลางวันที่เพิ่งทานเข้าไปจะเริ่มออกฤทธิ์กับคณาจารย์ผู้มาจากทั่วประเทศหลายท่านเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางแต่ก็ดูรับฟังอย่างสนุกสนานได้ความรู้
มานิตพูดเก่งมีลีลา อารมณ์ขันปนกับข้อกฏหมายทำให้ผู้ฟังไม่เบื่อ เรียกเสียงหัวเราะและความสนุกให้กับผู้ซึ่งบุคคลผู้ฟังเหล่านั้นเป็นครูบาอาจารย์ระดับประเทศ ผมก็ภูมิใจในตัวของเพื่อนมาก

แต่ผมมีมุมมองไม่เหมือนผู้อื่นและสมองได้ดึงภาพความทรงจำเก่าๆ เมื่อเกือบ 30 ปีมาแล้วว่า
มานิตได้ไม่เป็นคนพูดเก่งแบบนี้ เขาเป็นคนเงียบๆ สงบเสงี่ยม และ ผมเองไม่คิดว่าเขาจะมาได้ไกลสุดกู่ขนาดนี้ เป็นเพราะความพากเพียรและความพยายาม ใครจะรู้บ้างว่า เด็กนักเรียนจากห้องบ๊วยห่วยที่สุดของในการจัดอับดับของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ม.4/12 แม้แต่ครูประจำชั้นยังให้คำแนะนำหรือแนะแนวในห้องเรียนวันหนึ่งที่ผมพูดจำได้ว่า

“พวกเธอควรจะเป็นสมัครเข้าเรียนใหม่นะ อย่ามาเรียนห้องพาณิชย์เลย ไปสมัครเรียนสายวิทย์ สายศิลป์ใหม่ดีกว่า หรือไม่งั้นก็ไปเรียนสายอาชีพเรียนวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวะจะได้ตรงกับสิ่งที่เรียน”
โดยอาจารย์ประจำเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ ก็พูดด้วยความหวังดีกับลูกศิษย์ไม่อยากให้มาอนาคตและชีวิตมาจมปลักกับสิ่งที่กำลังจะเรียนต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า และจะได้มีอาชีพอนาคตที่รุ่งโรจน์เป็นเจ้าคนนายคนไม่ต้องมาเป็นเสมียนพิมพ์ดีดและทำบัญชีเหมือนกับสิ่งที่กำลังเรียนกันอยู่

อาจารย์มานิตบรรยายให้กับคณาจารย์  200  ท่าน


ปี พ.ศ.2531 โรงเรียนยุพราชจังหวัดเชียงใหม่ ชั้น ม.4/12  นักเรียนทั้งหมดมีไม่เกิน 30 คน เป็นสายพาณิชย์ นักเรียนในห้องมาจากหลายที่ทั้งในเชียงใหม่และจากต่างจังหวัดเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในชั้น ม.ปลาย  เพื่อนนักเรียนในห้องมาจากชั้น ม.3 สอบแข่งขันขึ้นเข้าไปเรียนด้วย
และมีเพื่อนมาจากโรงเรียนอื่นมาเรียนร่วมกัน หนึ่งในนั้น ก็มี มานิต จุมปา ถ้าจำไม่ผิด จบ ม.3 มาจากโรงเรียนสารภีวิทยาคม ซึ่งเป็นอำเภอติดกับอำเภอเมืองเชียงใหม่มีเขตติดกับจังหวัดลำพูน  ในห้องก็จะมีเพื่อน ชื่อวิมล วงศ์สิงห์ มาจาก อ.เทิง เชียงราย , ทำนอง มาจาก อ.จอมทอง , เอ สุนิสา มาจากโรงเรียนพระหฤทัยเชียงใหม่ และมีเพื่อนมาจากต่างจังหวัดด้วย และมานิต มานา มาจากอำเภอฮอด ซึ่งมานิต มานา ก็อยู่ในก๊วนเดียวกับมานิต จุมปา และเพื่อนคนอื่นๆ

โรงเรียนยุพราช จ.เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ไม่ว่าคุณจะยากดีมีจนมาจากไหน ก็มาเรียนรวมกันหมด ไม่เหมือนโรงเรียนในกรุงเทพ ซึ่งก็จะแบ่งคลาสผู้เรียนตามเศรษฐกิจและฐานะหน้าที่การงานของครอบครัวเอ่ยชื่อมาสักนิดก็ได้ สาธิตจุฬาฯ, สาธิตเกษตร, วชิราวุธ, เซนคาเบรียล, อัสสัมชัญ​ ,​ กรุงเทพคริสเตียน ฯลฯ
เพราะผมเห็นสภาพแวดล้อมโลกของการศึกษาที่เชียงใหม่มาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรีและมาใช้ชีวิตในกรุงเทพ 20 ปี ก็ทำให้เห็นภาพของทั้งสองสภาพแวดล้อมของโลกการศึกษาของกรุงเทพฯและเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองอันดับสองของประเทศไทย

เมื่อเจอมานิตในห้องบรรยายเราก็โอบกอดกัน ผมดีใจที่มานิตยังจำผมได้แม้ว่าผมจะอ้วนขึ้น แต่มานิตอ้วนกว่านิดนึงตามวัยที่มีอายุเยอะขึ้นไปด้วยกัน เขาคงมีงานเยอะ เพราะเป็นรองคณบดีนิติศาสตร์ จุฬาฯ ด้วย  เราเจอกันบน Facebook แต่ก็ไม่ได้ทักทายอะไรกันมาก เพราะคงด้วยความห่างเหินและหน้าที่การงานคนละสายอาชีพ
บนโต๊ะอาหารกลางวันก่อนที่มานิตจะบรรยาย ผมได้ถามมานิตด้วยความอิจฉาเพราะอยากเขียนเก่งแบบเขาบ้าง
“ทำไมถึงเขียนหนังสือหรือตำราได้เยอะขนาดนี้” ผมถามเป็นภาษาเหนือคำเมือง แต่มานิตตอบเป็นภาษาไทยบอกว่า “อ้าวจำไม่ได้หรือเราเรียนวิชาพิมพ์ดีดด้วยกัน” “เออใช่ วิชาพิมพ์ดีด” เป็นคำอุทานจากผม ซึ่งก็เรียกความทรงจำเก่าๆ จากผม

เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทีมงานสำนักพิมพ์จุฬาฯ พูดถึงมานิต แววตาของทุกคนจะเป็นประกายด้วยความชื่นชม เพราะเขาเป็นนักเขียนและอาจารย์หนุ่มนักบรรยาย ผู้มีผลงานวิชาการมากที่สุดคนหนึ่งทางนิติศาสตร์ของประเทศไทย ลองค้นชื่อใน Google ก็จะรู้ว่าเขาเขียนตำรามากขนาดไหน และชื่อบนของเขาบน Google มีจำนวนการค้นหาเท่าไหร่


จากความทรงจำของผม มานิต เป็นคนเงียบ ๆ เรียบร้อย ตั้งใจเรียนมาก ๆ ขยันหมั่นเพียร เป็นนักเรียนว่านอนสอนง่าย ว่างั้นเถอะ เรียนเก่งมากที่สุดคนหนึ่งของห้อง
เพื่อนๆ มักจะต้องเพิ่งพาความเก่งของมานิตบ้างในยามคับขันก็คือลอกข้อสอบ ผมจำไม่ได้เหมือนกันว่าผมลอกข้อสอบมานิตบ้างหรือเปล่า ซึ่งผมเองไม่ได้อยู่ในกลุ่มนักเรียนเรียนเก่ง แต่มั่วไปกับเพื่อนทุกคนในห้อง ครั้งหนึ่งจำได้ว่ามีเพื่อนหัวโจกคนหนึ่งไม่พอใจมานิตไม่ให้ลอกข้อสอบหรืออะไรสักอย่าง ถึงขั้นกระทืบลงมือลงไม้กับมานิต แต่เขาก็ไม่ตอบโต้และอดทนมาก ซึ่งคนที่ต่อยมานิต ก็เลวได้ใจ และเลวมากขึ้นตามลำดับ ตอนผมเรียนขอพ่อแม่ไปเป็นเด็กวัดร่ำเปิง มันยังอุตสาห์เข้าไปหลอกขอยืมพิมพ์ดีดพิมพ์งาน ซึ่งรู้ภายหลังว่าหมอนี่เอาไปจำนำ แต่ก็ยังดีได้พิมพ์ดีดไปคืนวัด ซึ่งไม่รู้ว่าปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่อย่างไรผมเองก็ไม่ได้ข่าวเลย

เวลานั้นไม่มีใครรู้อนาคตของตัวเองว่าจะไปทางไหน ชีวิตจะเป็นอย่างไร  สำหรับผมแล้วก็เรียนไปวันๆ ใช้ชีวิตไปแบบไม่มีเป้าหมายมากนัก  สอบผ่านได้ก็บุญโขแล้ว มีโลกๆใหม่แอบไปจีบสาว ๆ บ้าง  เรื่องความรักในวัยเรียน ผมก็ไม่เห็นมานิตยุ่งกับใคร ตั้งใจเรียนปี พ.ศ.2531 วงนูโว ชุด เป็นอย่างนี้ตั้งแต่เกิด กำลังดัง และบิลลี่ โอแกน เป็นที่ชื่นชอบของพวกเรา

หลังจากจบการศึกษา พ.ศ. 2531 ผมลาออก Dropout ในภาษาฝรั่งจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและเพื่อนฝูงเพื่อไปเผชิญโชคชะตาในชีวิต ตามที่พ่อแม่อยากให้เป็น และผมก็อยากเป็นแบบแนวทางที่แม่พ่อวางไว้ให้ ครั้งนั้นจำได้ว่า เพื่อนๆ ในชั้นมีการเลี้ยงส่งผมที่ลาออกไป และมานิตก็มาร่วมงานนั้นด้วย  

จบชั้น ม.5 พ.ศ.2532 ขึ้น พ.ศ.2533  มานิต คงได้ทำตามที่ครูประจำชั้นแนะนำหรือเปล่าก็ไม่อาจทราบได้  เขาทำได้ดีกว่าที่ครูประจำชั้นได้บอกไว้ ก็คือเขาสอบเทียบ กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน)  และสอบเอ็นทรานต์ ติดคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ซึ่งเป็นไปได้อย่างไร
โลกของการศึกษาในเวลานั้นการสอบเอ็นทรานต์ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตนักเรียนและ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับนักเรียนจากเชียงใหม่แล้วเส้นทางในการเข้าเรียนยากและตีบตัน ต้องแข่งขันกับนักเรียนจากทั่วประเทศ แต่มานิตก็สามารถทำได้ ซึ่งเหมือนจะประกาศให้ประเทศไทยรู้ว่า
เขาจะเป็นคนเก่งระดับประเทศต่อไป สิ่งที่เขาทำก็เป็นที่ภูมิใจกับเพื่อนๆ ทุกคน ผมเชื่อว่าเพื่อนทุกคนดีใจกับมานิตด้วย  เขาวางแผนและออกแอบชีวิตได้ดีมาก ๆ และห้อง ม.6/12 ก็ไม่มีชื่อนักเรียนชาย มานิต จุมปา อยู่ในห้องชีวิตใหม่ของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาของมานิต เร่ิมต้นในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เร็วกว่าพวกเราในห้องทุกคน แต่สำหรับผมแล้วยังห่างไกลมากกับการเรียนอุดมศึกษา ต้องไปเผชิญโชคในโลกกว้างในโลกธุรกิจกับครอบครัวในยุคที่พลเอกชาติชายตีฟองสบู่เรื่องอสังหาริมทรัพย์ไว้เป็นเครื่องบำรุงเศรษฐกิจของประเทศ

การออกแบบชีวิตและการตัดสินใจในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ที่สุดและผมชอบยกเป็นกรณีศึกษา
ของการออกแบบและใช้ชีวิตในการบรรยายของผมทุกครั้งถ้าหากมีโอกาส ว่าบางครั้งคุณต้องตัดสินใจในทางสองแพร่งอะไรบ้างอย่างที่เกิดขึ้นกับชีวิต
ซึ่งการเขียนครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมจะได้เล่าเรื่องกรณีศึกษาของการออกแบบและการตัดสินใจในชีวิตออกมาเป็นตัวหนังสือ โดยมี มานิต จุมปา เป็นตัวละครอยู่ในนั้นด้วย เพราะเขาคือ อดีต นักศึกษานิติศาสตร์ เกียรตินิยม อันดับหนึ่ง แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้
เป็นครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์หลายหมื่นคนในประเทศไทยทั้งด้านการสอนและการให้ความรู้กับตำรากฏหมาย  และเปรียบเทียบกับ วิมล วงศ์สิงห์ เพื่อนสนิทของเขาเมื่อครั้งเรียน รร.ยุพราช ม.4/12


ร.ต.อ.วิมล วงศ์สิงห์

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องจริงๆที่เกิดขึ้นและเรียนเก่งพอๆ กันสอบได้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเหมือนกัน  นั่นก็คือมานิต จุมปา และ วิมล วงศ์สิงห์
ทั้งสองคนเป็นเพื่อนรักและสนิทกัน ตั้งใจเรียนเหมือนกัน เก่งพอๆ กัน ขยันหมั่นเพียรมาก
มานิต สอบติดจุฬาฯ แล้วได้เข้าไปเรียนต่ออย่างภาคภูมิ
ผมไม่รู้ว่าฐานะของมานิตทางบ้านเป็นอย่างไรก็ไม่เคยถาม และเด็กนักเรียนเชียงใหม่
ก็ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องฐานะกัน

วิมล ก็ใช่ย่อยครับสอบเอ็นทรานต์สอบติดคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เหมือนกัน เขาเคยเล่าความหลังให้ผมฟังเมื่อคราวผมไปสอนโซเชียลมีเดียเพื่อการประชาสัมพันธ์ให้กับตำรวจภาค 5 ที่วิมลทำงานอยู่ที่เชียงใหม่
“ฮาก็สอบจุฬาฯได้นะชีพธรรม แต่บ้านฮามันตุก (ทุกข์ยากลำบาก) ฮาก็บ่เฮียนจุฬาฯ เพราะกลัวบ่มีตังเฮียน(เรียน) บ่มีไผ(ใคร)มาส่งเสีย”

หลังจากจบ ม.6 วิมลตัดสินใจเลือกทางเดินของชีวิตไปสอบเป็นนักเรียนพลตำรวจ จ.ลำปาง เขาสอบได้เป็นนักเรียนพลตำรวจ ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า สังคมไทย การเป็นพลตำรวจ กับคนจบนิติศาสตร์ ซึ่งสามารถไปเป็นผู้พิพากษาและอัยการนั้น  เป็นคนละคลาสเป็นคนละชนชั้นในสังคมซากศักดินา เส้นทางในชีวิตเทียบกันไม่ได้ ทั้งที่มนุษย์ที่เกิดมาทุกคนบนโลกเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่เท่ากัน ผมเคยไปสอนหนังสือในค่ายทหาร แม้แต่ห้องน้ำยังแบ่งเป็นชั้นประทวนกับห้องนำ้ชั้นสัญญาบัตร
ผมก็เลยถามกวนประสาทนายทหารไปว่า แล้วพลเรือนเข้าห้องน้ำไหนครับผม

เส้นทางของเพื่อนผมสองคนเริ่มพร้อมกัน แต่แยกทางเดินคนละด้าน วันเวลาผ่านไปไม่นานนัก
ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นิติศาสตร์จุฬาฯ ส่งผลให้มานิตกลายเป็นครูบาอาจารย์​ ที่เริ่มประกายแสงเจิดจรัสเขาเริ่มผลิตตำราวิชาการออกมา และได้รับการไว้วางใจเรียกว่าเป็นศิษย์เอก
ของ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโน
แต่เส้นทางของวิมลเป็นพลตำรวจขับรถมอเตอร์ไซค์ตรวจตราความเรียบร้อย  อยู่ที่สถานีตำรวจภูพิงค์ ใกล้กับเส้นทางขึ้นดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย แบบนายตำรวจชั้นผู้น้อย
วิมล ค่อยๆ ไต่จากพลตำรวจขึ้นไปชั้นประทวน นายสิบ เรื่อยๆ   เป็นไปได้อย่างไรสำหรับเพื่อนที่เรียนเก่งที่สุดในห้องต้องมาเป็นพลตำรวจ เพราะเพียงแค่เขาไม่พร้อมทางการเงินเรียนไม่ได้เรียนต่อ
ทำไมวิมลถึงไม่กัดฟันไปเรียนจุฬาฯ ผมก็ไม่อาจทราบได้  ผมเชื่อว่าถ้าวิมลได้เรียนนิติศาสตร์จุฬาฯ เหมือนกับมานิต ก็คงไม่สูสี ไม่แพ้กัน แต่เส้นทางของเขาทั้งสองคนห่างออกไปทุกที ทุกที

ในที่สุดด้วยความเพียรและความเก่งของ วิมล ซึ่งมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาก็เรียนหนังสือ คว้า ปริญญาตรี ทางสังคมศาสตร์ มาได้ ถึงแม้ว่าเขาจะมีปริญญาตรีแล้ว แต่การจะได้เป็นนายร้อยมีดาวติดบ่าไม่ใช่เรื่องง่านเลย ก็ต้องมีเส้นสาย เด็กของนายคนไหนอีก แน่นอนว่าเส้นทางของเขาตีบตันไม่ได้เปิดกว้างมากสำหรับคนที่จบมาจากโรงเรียนพลตำรวจ  ไม่เหมือนกับนักเรียนที่จบจากโรงเรียนนายร้อยสามพราน

ครั้งหนึ่งผมเคยไปสอนเรื่อง Competitive Intelligence การใช้ความได้เปรียบทางข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งพลตำรวจตรี ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บังคับการตำรวจจังหวัดสระแก้ว ท่านได้ให้เกียรติผมเชิญไปสอนด้วย  ผมอยากให้วิมลได้ไปเรียนในหลักสูตรเตรียมเป็นผู้การที่วิทยาลัยตำรวจเหมือนกับนายตำรวจคนอื่นๆ บ้าง  ซึ่งผมก็เชื่อในมันสมองของวิมลมาก ๆ  ว่าซึ่งถ้ามานิตเก่งไปขนาดนั้น เขาก็คงไม่แพ้กัน แต่เส้นทางของชีวิตไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าวิมลจะเขียนหนังสือเก่งเหมือนกับมานิตหรือไม่

ผศ.มานิต รุจิวโรดม กรรมการผู้อำนวยการ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ ผู้ให้เกียรติผมอย่างยิ่ง


การตัดสินใจเลือกทางเดินของวิมลในวันนั้นเขาคงคิดรอบคอบแล้ว และภายใต้ความกดดันทุกอย่าง เขาคงเสียใจเหมือนกันที่ไม่ได้เรียน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นี่เป็นการออกแบบเส้นทางชีวิตและตัดสินใจที่ผมอยากเขียนและเล่าออกมาเป็นตัวหนังสือ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะดีเหมือนกับพูดเล่าด้วยน้ำเสียงของผมที่เต็มไปด้วยพลังที่อยากจะผลักดันว่าความทรหดอดทนและความตั้งใจเท่านั้นจะพาคุณไปได้ไกลสุดกู่ และความเห็นออกเห็นใจในยามยากของเพื่อนที่ต้องเลือกระหว่างความอยุ่รอดของครอบครัวและความก้าวหน้าของชีวิต

หลังจากเพื่อนทุกคนจบชั้น ม.6/12 ไปทุกคนก็ต่างแยกย้ายไปเรียนหนังสือตามแต่ชีวิตของแต่ละคนจะเลือกเส้นทางเดินเพื่อนของเรามีทั้ง ฟรีแลนซ์ (อาชีพอิสระ) ที่ปรึกษาและบริหารโซเชียลมีเดีย-จัดรายการวิทยุและสอนหนังสือเขียนหนังสือก็คือผู้เขียน , แม่ค้าขายหมูไส้อั่วในตลาด, รับจับบริหารดูแลสายการบินเปิดใหม่, ทำงานบ่อนคาสิโน, ตำรวจ, ทำงานธนาคาร,แม่บ้าน, ครู, เกษตรกร , ค้าขาย, ขายประกัน ฯลฯ แต่ทุกคนก็มีความสุขในชีวิตตามอัตภาพและการออกแบบชีวิตของแต่ละคน

เรื่องราวของมานิต จุมปา สำหรับผมแล้ว เขาคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และเป็นไปได้ ด้วยความทรหดอดทน จริงๆ ความบากบั่นพยายาม ความไม่ย่อท้อ และนิสัย (Habit) ต่าง ๆที่เป็นนิสัยอันดีงาม ตั้งแต่วัยรุ่น ได้สะท้อน ออกมาทั้งหมดแล้วในวัย 40 ต้นๆ เขาประสบความสำเร็จไกลแบบสุดกู่  ใครจะไปคิดว่านักเรียนธรรมดาคนหนึ่งจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จะกลายเป็นว่าที่ศาสตราจารย์กฏหมาย
ของประเทศไทย และผมเชื่อว่าชื่อของมานิต จุมปา จะถูกอ้างอิง ในผลงานตำราวิชาการทางกฏหมายและวิทยานิพนธ์ทุกเล่มในประเทศไทยนับจากนี้ต่อไป


พี่กรรณะ กองศักดา ผู้จัดการสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ ให้โอกาสใหม่กับผู้เขียนเสมอ


เขียนไว้ด้วยความชื่นชมในความสำเร็จของเพื่อน  และขอบคุณสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่ได้ให้เกียรติไว้วางใจผมได้มาบรรยายและเจอเพื่อนเก่าที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในแวดวงวิชาการนิติศาสตร์ของประเทศไทย

ชีพธรรม คำวิเศษณ์
หาดจอมเทียน พัทยา
พฤหัสบดี 9 มิถุนายน 2559











ความคิดเห็น