ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ผู้ก่อตั้งสวนสยาม สอนสร้างธุรกิจ

                    
                                                           คลิปยูทูบ ขอบคุณผู้ผลิตรายการ


สวนสยามเป็นสวนน้ำสวนสนุกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ในเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานครเปิดมาก่อนแล้ว  35  ปี ด้วยวิสัยทัศน์อยากให้คนไทยมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจมีสวนสนุกไว้ให้ครอบครัวได้เที่ยวกัน  แต่การสร้างสวนสยามได้สูบกินชีวิตและธุรกิจของ คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ไปจนเกือบทั้งชีวิต ด้วยความที่เคยลำบากและไม่ย่อท้อของเขาและครอบครัวจึงได้พลิกฟื้นขึ้นมาใหม่


ทำไมผมถึงอยากเขียนเรื่อง ไชยวัฒน์ เหลืออมรเลิศ สอนสร้างธุรกิจ กลางเดือนมีนาคม 2559
ก่อนผมเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดได้เปิดช่องทีวีดิจิตอล เข้าใจว่าเป็น CCTV ได้สัมภาษณ์คุณไชยวัฒน์ ผมมีความทรงจำกับสวนสยามในวัยเด็กจำได้ว่าเมื่อปี พ.ศ.2527 ผมกำลังเรียนชั้น ป.6 อายุประมาณ 12  ปี ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาปิดเทอม บ้านอยู่เชียงใหม่เข้ามาเที่ยวกรุงเทพฯ แม่พาไปเที่ยวสวนสยามตื่นเต้นมาก เพราะได้ดูโฆษณาทางทีวี ทะเลกรุงเทพ อยากเล่นสไลด์เดอร์สูงเท่าตึก 7 ชั้น  เมื่อได้ไปเที่ยวก็ตื่นเต้นมากตามประสาเด็กและในปี พ.ศ.2540 นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้ไปสวนสยามเป็นเวลา 19 ปีผ่านมาแล้ว

ผมชื่นชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางธุรกิจอยู่แล้ว พิธิกรเป็นชาวจีนสัมภาษณ์เป็นภาษาไทย
ถามคำถามได้ดีมาก คุณไชยวัฒน์ เองก็เล่าแบบหมดเปลือกเหมือนกับขายชีวิต สิ่งที่ท่านได้เล่าออกมาเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก โชคดีที่ผมได้อัดเป็นคลิปไว้ได้มาเผยแพร่บางส่วน ชีวิตในช่วงเป็นเด็กเสียดายมากที่ผมไม่ได้อัดไว้  เรื่องราวเข้มข้นยิ่งกว่ากรณีศึกษาในโรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด ผมจึงทำคลิปและถอดเทปมาให้ได้อ่านกันครับ

ผมปิดเสียงเพลงคลาสิคบรรเลงของบีโธ่เฟ่น เพื่อตั้งใจจะถอดเทปคำต่อคำ
ในคลิปยูทูบภายใต้แว่นตากันแดดของคุณไชยวัฒน์ ผมเชื่อว่าระหว่างสัมภาษณ์ไปนั้น คุณไชยวัฒน์คงน้ำตาซึม ถึงความยากลำบากแต่หนหลังที่สร้างสวนสยาม

คลิปที่ผมได้ถอดเทปมีความยาว 13 นาที แต่ความจริงแล้วคุณไชยวัฒน์ได้เล่าชีวิตในวัยเด็กแต่หนหลังซึ่งยากจนมาก ถ้าจำไม่ผิด ไปเกณฑ์ทหาร แล้วออกมาทำฟาร์มปลา จากนั้นมาทำหมู่บ้านเสนานิคมขาย จนกระทั่งเป็นมหาเศรษฐี แล้วถึงมาทำสวนยาม

มาอ่านที่สัมภาษณ์ที่คุญไชยวัฒน์กันเลยครับ อ่านเสร็จแล้วไปชมคลิป มีค่ามาก ๆ สำหรับชีวิตและการทำธุรกิจ ของผู้ที่ยากจนมาร่ำรวย ล้มเหลว และประสบความความสำเร็จ

คุณไชยวัฒน์เล่าให้ฟังว่า "ตอนสร้างสวนสยามใหม่ ๆ ต้องลงทุนประมาณ 2 พันล้าน ตอนแรก ลงไปคนละ 40 ล้าน พอธนาคารกรุงเทพ ซึ่งคุณชาตรี โสภณพนิช เปลี่ยนใจไม่ถือหุ้นด้วย ข่าวหนังสือพิมพ์ก็ลงว่า สวนสยามต้องไปไม่รอด และเจ๊งแน่นอน ไปไม่รอดแน่ ข่าวที่ออกไปเซ็งแซ่ไปหมด สมัยก่อนสั่งหินปูนทรายมา ส่งที่สวนสยาม เก็บเงินเมื่อไหร่ก็ได้เพราะหุ้นกับนายธนาคาร เหตุการณ์เปลี่ยนไป จะเอาหินเอาปูนมาส่งให้ ต้องจ่ายเงินก่อน เพราะเหมือนเราไม่มีเครดิตแล้ว"

ความสนุกตื่นเต้นน่าติดตามมาก คุณไชยวัฒน์บอกว่า "หยุดสร้างก็ไม่ได้ สร้างต่อไปก็ไม่มีเงินให้เค้า (ผู้รับเหมา) ตอนนั้นมีบริษัทอยู่ มาคิดว่า เราจะขายบริษัทดีไหม คุณบุญชู โรจนเสถียร เคยเป็นประธานบริษัทของผมลาออกเลย ผมก็เลยต้องมาเป็นประธานบริษัทเอง จากนั้นผมก็เลยขายบริษัทแรกของผม ก็คือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ขายใบอนุญาต ไป 10 ล้านบาท หายใยได้เฮีอกหนึ่ง
เครดิตเสียไปแล้ว”

ฟังจากตรงนี้ก็เหมือนกับหมดตัวเลยครับ น่าสนใจว่าเขาดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร

คุณไชยวัฒน์เล่าต่อว่า "คำพูดที่เตือนสติคนทำธุรกิจบอกว่า ไม่มีเครดิตก็เหมือนกับตายแล้วเพราะคนเราอยู่ได้ด้วยเครดิต เสร็จแล้ว ทำอย่างไรดี ผมเคยเกิดมาเป็นคนจนข้าวไม่มีกินก็อยู่ได้ เราทำด้วยความซื่อสัตย์ ทำเพื่อให้ประชาชนได้มีสถานที่ท่องเที่ยว จะจนไปอีกครั้งก็ไม่เป็นไร ก็เลยประกาศขายบริษัททั้งหมด"


พิธีการถามต่อไปว่า
“ตอนนั้นอายุเท่าไหร่ครับ”
คุณไชยวัฒน์ตอบว่า “ตอนนั้น 40 ต้นๆ ประมาณ 42 ได้ แต่ขายบริษัทไปในราคาถูกเหมือนกับของที่เราไม่ได้ใช้ แม้แต่โต๊ะเก้าอี้นั่งทุกอย่าง พูดง่ายๆ เหลือแต่ตัวคนเดียว
และสวนสยาม เหมือนกับธุรกิจที่ถมลงไปเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะว่าทรัพย์สินที่ดิน เกินกว่าพอ เหมือนประเมินว่า 10 บาท ขายช้าหน่อยอาจได้ 12 บาท แต่ถ้าขายเร็วเหลือ 5 บาท
แต่ถ้าผมไม่ขายสิ่งเหล่านั้นก็อยู่ไม่ได้ จ่ายเช็คไปไม่มีเงินก็โดนจับ ของที่สั่งซื้อไปก็ไม่ได้มาส่ง พอธนาคารกรุงเทพไม่สนับสนุนอะไรก็เกิดขึ้นได้หมด

ตกเย็นๆ ผมก็ชวนพรรคพวกที่เป็นนักวิชาการมาพูดคุยกัน ถามเขาว่าปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขอย่างไร นักวิชาการเหล่านั้นก็บอกว่า ผมไม่มีทางแก้ไขได้ ต้องไปไม่รอดอย่างเดียว ทุกคนลาออกกันหมด
นักวิชาการเขาไม่อยากเสียชื่อ ถ้าหากสวนสยามล้มไป ก็จะกลายเป็นว่าสวนสยามนั้นล้มเพราะเขา สุดท้ายก็เหลือผมอยู่คนเดียว ผมก็เลยเอาน้องเขยของผมมาเป็นผู้จัดการใหญ่
แล้วก็ต่อสู้ การต่อสู้ของผมก็คือ ประหยัดสุด ๆ ผมบอกกับพนักงานว่า เงินเดือน ค่าจ้าง เดือนไหนมีออก เดือนไหนไม่มีก็ไม่มี ว่ากันไม่ได้ ทำข้อแม้ไว้เลย
สวนสยามจะได้เงินในวันเสาร์อาทิตย์ ในแต่ละเดือนมี 8 วันเท่านั้น วันธรรมดาไม่ได้เงิน วันเสาร์แรกอาทิตย์แรกสำหรับจ่ายค่าไฟ อาทิตย์ที่สอง จ่ายค่าของ อาทิตย์ที่สามจ่ายค่าแรงที่เป็นรายวัน
อาทิตย์สุดท้่ายจ่ายเงินเดือน ถ้าเดือนไหนไม่มีติดไว้ก่อน เพื่อนบางคนสงสารผมก็ช่วยไปซื้อหินซื้อทรายให้ ช่วยกันคนละ 5 คันรถบ้าง
ผมเป็นหนี้บุญคุณคนเยอะมาก ค่าโฆษณาก็ไม่มีเงินจ่าย ใครก็ไม่อยากให้โฆษณา ผมก็ต้องไปหาเวลาที่เขาว่างๆ ไว้โฆษณา
โฆษณาช่วงเวลาดึก ๆ ก็เอา ถ้าไม่มีก็ไม่ว่ากันนะ คิดไปคิดมาแล้วก็เหมือนขอทาน"
คุณไชยวัฒน์พูดไว้อย่างนั้น ภาพก็ตัดหยุดไว้ ขึ้นภาษาอังกฤษว่า Passion To Wealth

คุณไชยวัฒน์เล่าต่อไปอีกว่า "ขายที่ดินทั้งหมดปีกว่า ตั้งแต่ชะอำ บางปะกง เชียงใหม่ ฯบฯ  ก็ได้เงินส่งลูกไปเรียนอังกฤษ ไม่ให้ลูกได้รับรู้ว่าพ่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
ไปถึงอังกฤษเงินทองก็ไม่มี พรรคพวกก็ให้ยืมเงินส่งให้ลูกเรียน พอมาถึงระยะหนึ่งก็อยู่ตัว พรรคพวกเรา หนังสือพิมพ์สื่อสารมวลชน ช่วยกันเชียร์ สวนสยามสวนน้ำของเรา
ก็มีคนเข้ามาเยอะ ผมก็เอาชนะได้ ธนาคารฟ้องผมล้มละลายเพื่อจะเรียกเงินคืน ผมก็ต่อสู้ฟ้องธนาคารกลับว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทน ว่าเราเคยหุ้นกัน แล้วไม่ให้กู้ทำให้เสียหาย ที่เราเสียทุกวันนี้ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนตามที่สัญญาไว้ ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากธนาคารไป 3 พันล้านบาท
ต่อสู้กันมา 10 กว่าปี ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แพ้คดีบอกว่าธนาคารไม่เกี่ยวที่หุ้นกันเกี่ยวกับตัวบุคคลไม่เกี่ยวกับธนาคาร

จากนั้นมาถึงศาลอุทธรณ์ พอลูกชายกลับจากต่างประเทศ ผมก็มาคิดว่า ธนาคารกับเราก็คบกันมาตั้งนาน
นาย(คุณชาตรี โสภณพานิช) ก็เคยมีบุญคุณต่อเรา นายก็ช่วยเหลือเรามาตลอด เราจะทำอะไรก็ช่วยเหลือมาตลอด  ถ้าหากไม่อุดหนุนช่วยเหลือมา ผมจะเป็นใหญ่ได้ขนาดนี้หรือ ถึงแม้ว่าต่างคนต่างคิดไปคนละแบบ ที่สวนสยามมันเจ๊งไปเพราะว่า  ป๊า (พ่อ) เป็นคนดื้อ ไม่ยอมฟังผู้ใหญ่ เขาบอกให้เลิก เราก็ดื้อจะทำ เพราะฉะนั้นขอเจรจายุติคดีความ ลูกชายผมก็ไปเจรจากับธนาคาร ภรรยาผมก็ขายที่ลาดพร้าวแล้วธนาคารก็ลดหนี้บางส่วน"


คุณไชยวัฒน์เล่าต่อว่า ลูกชายจบปริญญาตรีจากประเทศอังกฤษ จบปริญญาโท จากจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ มาเป็นผู้จัดการใหญ่สวนสยาม   ก็ได้โฉนดกลับคืนมา ทุกคนก็มองว่า ขนาดแบงค์ฟ้องคุณยังอยู่ได้ขนาดนี้ ธนาคารรายใหม่ก็เลยให้กู้ได้มาอีก 3 พันล้านบาท
ได้นำเงินก้อนนั้นมาซื้อเครื่องเล่นใหม่เข้ามา แล้วในปีนั้นเอง สวนสยามได้รับการจัดอันดับจากกินเนสต์ให้เป็นสวนน้ำใหญ่ที่สุดในโลก
ทำให้คนมาเที่ยวมากขึ้น


ตอนนี้เราเป็นสวนสยามสวนน้ำใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งตอนนี้เข้า AEC แล้วเพิ่มประชากรเป็น 600 ล้านคนแหล่งท่องเที่ยวจะเป็นพระเอก เวลานี้มีคนมาขอเข้าหุ้นด้วย ลูกชายก็ยังไม่เอา ผมก็แล้วแต่เขาก่อนที่ผมจะยุติบทบาทจากสวนสยามที่ดูแลมา 35 ปี นับแต่ก็ตั้งก่อตั้งมา
อยากบอกให้เห็นถึงชีวิตของผมจากเด็กยากจน ฟื้นๆ ตายๆ มาตลอด”


พิธีกรบอกว่าเป็นชีวิตที่สุดยอดมาก ๆ เขาถามต่อว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสวนสยามได้เรียนรู้จากอะไรบ้าง คุณไชยวัฒน์ตอบว่า “ผมที่อยู่ได้เรียนรู้จากใจรัก มิตรสหาย ผู้ร่วมงานผู้ร่วมถือหุ้น ทั้งทุกข์และสุข
แต่สิ่งใดในโลก มนุษย์เราเกิดมาตั้งช่วยตั้วเอง เมื่อฟื้นแล้ว หมอก็จะมาช่วยเราต่อ
คุณต้องหายใจด้วยตัวเองให้ได้ก่อน เพราะฉะนั้นมนุษย์จะยากจนหรือหมดแรง ถนอมหัวใจไว้ให้มีลมหายใจ อย่าให้ตาย


พิธีการถามว่า “ความร่ำรวยคืออะไรเป็นคำถามสุดท้าย”
คุณไชยวัฒน์ตอบทิ้งทิ้งว่า “คำว่าร่ำรวยคือเครดิต ความซื่อสัตย์ จริงใจกับมนุษย์ แล้วต้องยอมเสียสละ คนเสียสละถือว่าร่ำรวย
ถ้าคุณร่ำรวย แล้วเอาเปรียบนิดเดียวคุณเป็นคนจนแล้ว เพราะฉะนั้นคุณต้องเป็นผู้ให้
มนุษย์เกิดมาต้องให้ตัวเองร่ำรวย เสียสละแล้วให้อภัย ไม่มีใครเก่งกว่าเรา ไม่มีใครเก่งกว่าเรา
คนเหล่านั้นตายไปหมดแล้ว โลกทุกวันนี้มีทั้งคนโง่และคนฉลาดอยู่ด้วยกันได้”

ยิ่งใหญ่มากครับคำพูดของคุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ทีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับคนทำธุรกิจ
และเป็นมรดกทางภูมิปัญญาในการสร้างธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ให้กับตัวเองและประเทศไทย
นับถือหัวใจจริงๆ ครับ ไปเที่ยวสวนสยามคราใด นี่คือชีวิตและจิตวิญญาณของการต่อสู้
Passion To Wealth




ผมไม่ได้เขียนเรื่องเกี่ยวธุรกิจมานานมากแล้ว ทั้งที่ 8 ปีที่แล้ว ผมข้ามน้ำข้ามทะเลไป Harvard Business School และ Wharton School โรงเรียนบริหารธุรกิจอันดับต้นๆ ของโลก
ใครใช้ไอโฟนไอแพดลองเข้าไปในแอพสโตร์แล้วพิมพ์คำว่า Study Harvard ครับ
หวังว่าคงได้แง่คิดและความสุขจากการชมและการอ่านบล๊อคเรื่องราวของคุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ นักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของหนึ่งของประเทศไทยครับ

บันทึก
ชีพธรรม คำวิเศษณ์
ศุกร์ 22 ก.ค. 2559









ความคิดเห็น