ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนแรกของประเทศไทย กับ Blockchain Technology




ฟ้าฝนช่างไม่เป็นใจซะเลย ชีวิตคนเมืองหลวง ถ้าฝนตกรถก็ติด
เย็นวันจันทร์ 5 ก.ค.​2559 ผมมีนัดหมายกับทีมThnic มูลนิธิสารสนเทศเครือข่ายไทย เพื่อมานั่งคุยกับเกี่ยวกับงานสัมมนาเรื่อง Blockchain : The Next Internet ซึ่งจะจัดขึ้นวันจันทร์ 25 ก.ค. 2559 โดยทีมงานเชิญผมเป็นผู้ดำเนินรายการสนทนากับผู้เชี่ยวชาญ ความจริงแล้วก็ไม่ได้อยากจะรับเชิญเลย เขียนไปแล้ว ทีมงานจะเสียใจหรือเปล่า แต่ผมก็บอกเขาไปตรงๆ ว่า มีพิธีกรที่มีชื่อเสียงและเก่งกว่าผมเยอะ ทำไมไม่เชิญครับ ขอสารภาพความจริงว่า ฝนตกอย่างหนึ่งกว่าจะถ่อสังขารจากแถวนนทบุรี ไปโรงแรม Vic3 พหลโยธินซอย 3 ผมไม่รู้จะต้องไปพบใครบ้าง แต่ด้วยความเกรงใจ ผู้ที่ให้เกียรติเชิญผม คือ ดร.กาญจนา กาญจนสุต แห่งสถาบันเทคโนโลยี AIT เธอได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแม่แห่งวงการอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่ได้เจออาจารย์มาหลายปี แต่ท่านก็ยังอุตส่าห์นึกถึงผมชวนไปทานอาหารด้วย อาจารย์เป็นคนยุคแรก ๆ อินเทอร์เน็ตของประเทศไทย น่าจะรวยไปกับความมั่งคั่งของเศรษฐกิจดิจิตอลที่รัฐบาลทหาร กำลังโหมเป็นแคมเปญเหมือนกับเป็นเรื่องใหม่ แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องเก่าสุด ๆ
แต่ อ.กาญจนา ก็คือ กาญจนา ใครจะรวยอย่างไรฉันไม่สนขอผลักดันอินเทอร์เน็ตให้ประเทศไทยแล้วกัน


ย่านเศรษฐกิจใหม่แห่งอนาคต สถานีรถไฟบางซื่อ


ผมเรียกรถแท็กซี่แผ่นแอพ Grab มารับที่หน้าบ้าน เส้นทางวิ่งจากสะพานพระนั่งเกล้า วิ่งไปขึ้นทางด่วนงามวงศ์วาน รถค่อนข้างติดเล็กน้อย หลังจากมอบเงินให้โซเฟอร์ไป 60 บาท เป็นค่าทางด่วนก็นั่งมองการจราจร แก้เซ็ง มองซ้ายมองขวา มองไปทางขวา ไกลๆ เห็นคอนโดมิเนียม ขึ้นหลายแท่ง รองรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่กำลังจะเปิดทำการในเดือนสิงหาคม สั่งมาอีกสักพัก เห็นตึก SC Asset ของกลุ่มชินวัตร เมื่อ 2 ปีก่อน ม๊อบ กปปส. นำกำลังคนไปปิดไปกดดันรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มาวันนี้ทุกอย่างเป็นปกติ
โซเฟอร์แท็กซี่ชายหนุ่ม 20 ต้นๆ บอกกับผมว่า กำลังมีทางด่วนเกิดขึ้นใหม่จากตรงนี้สามารถวิ่งไปลงแถวบางกรวยได้เลย ช่วยลดปริมาณการจราจร ไปได้แล้วทำให้ไม่ต้องไปลงทางด่วนยมราชวิ่งตรงออกไปยังเส้นบรมราชชนนี ไปสู่สายใต้นครปฐมได้


 สิ่งที่ทำให้ผมสะดุดตาต้องหยิบสมาร์ทโฟนมาถ่ายรูปคือ บริเวณจุดซ่อมหัวรถจักรบางซื่อ ใกล้กับสถานีรถไฟบางซื่อ กำลังเร่งก่อสร้างเป็นการใหญ่ไม่รู้ว่าเป็นสถานีรถไฟใหม่หรืออย่างไร แต่เปลี่ยนรูปโฉมบริเวณนั้นไปเลย ถ้าจำไม่ผิดบริเวณนี้ในอดีตก็คือโรงงานปูนซีเมนต์บางซื่อ วันนี้คือสำนักงานใหญ่กลุ่ม SCG บริษัทแสนล้านของคนไทยที่ก่อตั้งโดยในหลวง ร.6 ในอดีตบริเวณนี้เป็นจุดเริ่มต้นแนวรบของสงครามกลางเมืองในประเทศไทยที่เรียกว่า กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 มาถึง พ.ศ. 2559 ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด บริเวณนี้น่าจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในอนาคตถ้าหากย้ายหัวลำโพง มาอยู่บริเวณนี้ ผมถ่ายภาพไปเพื่อเก็บภาพไว้เป็นประวัติศาสตร์ในวันข้างหน้าเผื่อไป 100 ปี


ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ สนทนา Blockchain (เสื้อเขียวใส่แว่นนั่งด้านใน)

รถวิ่งสักพักก็ไปถึง โรงแรม Vic3 เป็นครั้งแรกที่ได้มา ไปถึงบนโต๊ะอาหาร ทุกคนมารอกันอยู่แล้ว
เห็น ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ อดีต ผอ.ซอฟต์แวร์ปาร์ค สังกัดกระทรวงวิทย์ , คุณเพ็ญศรี แห่งบริษัทดอทอะไร , อาจารย์กาญจนา กาญจนสุต , น้องโอ๋ มูลนิธิ Thnic รู้จักกันมานานสมัยตั้งแต่ทำงานเป็นเลขาสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ส่วนผู้ร่วมโต๊ะอาหารท่านอื่น ผมไม่รู้จักเป็นครั้งแรก ผมสวัสดีทุกคน และสวัสดีอาจารย์รอม
ซึ่งรู้จักกันมานานเกือบ 20 ปี
"สวัสดีครับอาจารย์รอม เสียใจด้วยครับที่อาจารย์ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี"
เสียงหัวเราะดังไปทั้งโต๊ะ
"ผมเกษียณแล้วคุณชีพธรรม ปีนี้ 62 แล้ว"
"แต่อาจารย์ยังหนุ่มกว่าตัวจริงมากครับผมคิดว่าว่าสัก 52" จริงๆ แล้วอาจารย์หนุ่มมากจากสายตาของผม
"แหมขอบคุณมากครับคุณชีพธรรม"
ผมทักทายอาจารย์กาญจนาด้วย
"ขอบคุณที่ให้เกียรติเชิญผมมานะครับอาจารย์ ดีใจที่ได้เจออาจารย์"
อาจารย์กาญจนาบอกว่า
"ต้องขอคุณชีพธรรมมาช่วยดำเนินรายการเรื่อง Blockchain หน่อย"
"อาจารย์ผมสาบานได้เลยว่าเพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรกไม่รู้คืออะไร"
"ดีแล้วคะ ไม่ต้องการคนรู้ต้องใช้คนไม่รู้ถาม จะได้คำถามที่ตรงใจ"
"ครับๆ ผมจะพยายาม"
ทั้งโต๊ะเงียบไปชั่วครู่ ผมหันไปถามคุณเพ็ญศรี กองแม่งานของสัมมนา Blockchain
ทุกท่านกำลังทานอาหารมีความสุขไปเหมือนกับผมมาขัดจังหวะการสนทนาทางเทคโนโลยี
"คุณเพ็ญศรี ใครจะมาฟังเนี๊ยะเรื่องยากขนาดนี้ ผมไม่เคยได้ยิน แล้วมันเอาไปทำอะไร Blockchain"
"คุณไตร" คุณเพ็ญศรีเรียกชื่อเล่นผม เรารู้จักกันมานานมาก แถม 8 ปีก่อนช่วงที่ บริษัทดอทอะไร จำกัด ที่คุณเพ็ญศรีเป็นผู้บริหารจับมือกับกูเกิ้ลประเทศไทยช่วงที่ คุณอ้อ พรทิพย์ กองชุน ยังทำงานที่ Google โครงการนี้แจกโดเมนเนมพ่วงกับระบบ Google Apps ให้โรงเรียนทั่วประเทศมีโดเมน ผมก็ได้เป็นอาสาสมัครสอนในโครงการ แต่ภายหลังก็เงียบไปตามกาลเวลา เพราะต้องอาศัยความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ และ โรงเรียนทั่วประเทศ
แต่ถือว่าเป็นโครงการที่ดีเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาของไทย และทุกวันนี้จากโครงการนั้น
 Google ประเทศไทยได้ผลักดันให้โรงเรียน มีอีเมลเป็นของตนเองภายใต้โดเมนเนม ของโรงเรียน
 ทำให้โรงเรียนในประเทศไทย มีอีเมลใช้ระบบงานออฟฟิศการทำงานของกูเกิ้ล ทำให้ระบบการศึกษาของไทย ยกระดับเสมือนหนึ่งเป็นการทำงานผ่านเว็บคล้ายกับพนักของกูเกิ้ล
 " คุณไตร ตอนนี้คนลงทะเบียนมา 600 คนแล้วคะ เต็มแล้ว"
 "อ้าวแล้วจัดที่ไหนคุณเพ็ญศรี" ผมถามแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลยแบบมึน ๆ เพราะไม่คิดว่า
 ใครจะเชิญมาเป็นผู้ดำเนินรายการแล้ว เพราะช่วงเวลานั้นของผมได้ผ่านไปแล้ว เหลือแต่จัดรายการวิทยุอย่างเดียว กับสอนหนังโซเชียลมีเดียเพื่อการประชาสัมพันธ์
 "จัดที่ตลาดหลักทรัพย์คะ เขาจัดร่วมเป็นเจ้าภาพ"
 "แล้วหัวข้อ Blockchain นี่ใครเป็นคนคิดครับ"
 คุณเพ็ญศรีโบ้ยไปทางอาจารย์กาญจนา ซึ่งบุคลิกของอาจารย์กาญจนา เหมือนกับพวกเด็กเนริ์ดทางเทคโนโลยีพูดน้อยๆ บางทีก็ดูคล้ายกับนักมวยไทยให้สัมภาษณ์ถามคำตอบคำ แต่ขอบอกว่า
 เธอเป็นบุคคลระดับโลกในวงการอินเทอร์เน็ต ขอย้ำว่าระดับโลกครับ
คุณเพ็ญศรีให้ผมสั่งอาหาร ก็เลยถือโอกาสสั่งสเต็กแล้วกัน เมนูเสือร้องไห้แบบฝรั่งไม่มีน้ำจิ้มแจ่วอีสาน เครื่องเคียงเป็นผักกับเนย ไม่ใช่ผักสด ผักกาดหิ่นที่กินตามร้านลาบ
มองไปเห็นทุกท่านน้ำเปล่าหมด ผมเลยสั่งเบียร์ซะเลย นึกในใจพวกนักเทคโนโลยีนี่ไม่ค่อยแอลกอฮอร์เลย สีสันน้อยมาก ถ้ามีเบียร์จะช่วยให้การสนทนาสนุกขึ้น
ระหว่างรอสเต็กมา ผมก็นั่งฟังวงสนทนาคุยกัน ยิ่งฟังยิ่งไม่รู้เรื่อง Blockchain แต่ละท่าน
ทำไมถึงได้มีความรู้มาก เล่นเอานักข่าวไอทีอายุงานเกือบ 20 ปีอย่างผม กลายเป็นเด็กอนุบาลไปเลยครับ ผมทึ่งในความรู้ของวิทยาการแต่ละท่านมาก ยิ่ง ดร.รอม วัย 62 แล้วทำไมถึงได้อัพเดท เทคโนโลยีมาก สมแล้วที่เป็น ผอ.ซอฟต์แวร์ปาร์คของ กระทรวงวิทย์ และเป็นตัวจริงเสียงจริงในวงการสตาร์ทอัพเมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้วตอนที่ยังไม่มีใครเริ่ม
ผมจับใจความได้ว่าผิดถูกว่ากันอีกทีนะครับ ถือว่าเป็นนักเรียนใหม่มาก ๆ เรื่องนี้ ถ้าจะพูดแบบดูถูกตัวเองเรียกว่า เข้าข่ายโง่ แต่ถ้าจะพูดแบบ Self Exteem มองในแง่ดีของตัวเอง โชคดีนะที่มีโอกาสได้มาฟัง คนที่เก่งในประเทศไทยที่สุด ขอย้ำอีกว่า คนที่เก่งที่สุดในประเทศไทย ไม่งั้น โปรโมเตอร์ศึกเทคโนโลยี อย่าง ดร.กาญจนา คงไม่เลือกให้มาเป็นนักมวยหรือวิทยากรให้ความรู้กับวงการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

สรุปว่า Blockchain เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่อินเทอร์เน็ตอนาคตข้างหน้า จะแทนที่ 4G หรือเปล่าผมตอบไม่ได้ แต่น่าจะเป็นคนละแบบ Blockchain จะมีอิทธิพลกับโลกการเงินบนอินเทอร์เน็ต มีความเกี่ยวกับพันกับ Bitcoin และ ทุกคนต้องให้ความสนใจกับ Blockchain
ผมจับใจความได้เท่านี้

ระหว่างที่ฟังอยู่น้องภาคภูมิหนึ่งในทีมงาน Thnic ก็ส่งเอกสารมาให้ผมอ่าน นึกในใจค่อยอ่านแล้วกันแต่ผมไม่น่าจะทำความเข้าใจยาก ผมขอเอ่ยชื่อเขียนถึงวิทยากรทั้ง 3 ท่านสักนิดที่อยู่บนโต๊ะอาหารกับผมจะพูดในงาน

ท่านแรก ร้อยโท ดร.เจษฏา ศิวรักษ์ จาก กสทช. คงเป็นญาติกับ อาจารย์ ส.ศิวลักษณ์
ท่านที่สอง ดร.ภูมิ ภูมิรัตน จากบริษัท G-Able เป็นบริษัทไอทีสัญชาติคนไทย ที่วางระบบพาสปอร์ตให้กับกระทรวงต่างประเทศ
ท่านที่สาม คุณสุวิชชา สุดใจ จากบริษัท Digital Ventrues เป็นบริษัทในเครือของธนาคารไทยพาณิชย์

ดร.กาญจนา กาญจนสุต กับ ผู้เขียน


หลังจากคุยเรื่อง Blockchain จนผมมึนไปหมด ก่อนจบบทสนทนา ผมนินทาเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอลกับรัฐบาลทหารว่าเป็นเรื่องเก่าเพราะหนังสือ Digital Economy ของ ดอน แท็บสกอต์ นักเขียนชาวแคนาดา เขียนไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คนแปลในครั้งนั้น คือคุณสงกรานต์ จิตสุทธิภากร นักเขียนชาวจังหวัดนครสวรรค์ หลายหลังสมัคร สส.พรรคประชาธิปัตย์ เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการ คุณจุติ ไกรฤกษ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที สมัยรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

"คุณชีพธรรมรู้ไหม ตอนนี้ ดอน แท็บสก๊อต เขียนหนังสือเล่มใหม่แล้ว ชื่อ Blockchain Revolution"
อ.รอม บอกกับผม และมีเสียงประสานตามมาจากวิทยากรแต่ละท่านอีกว่า เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อ 10 พ.ค. 2016 ที่ผ่านมานี่เอง
"จริงดิอาจารย์ทำไมเขาถึงมีวิสัยทัศน์ขนาดนี้ ผมต้องดาวน์โหลดซื้อมาอ่านบนแอพคินเดล (Kindle) บ้างแล้วขอบคุณมาก ๆ เลยครับที่แนะนำ"

เมื่อทุกคนร่ำลากับเหลือแต่ ดร.กาญจนา คุณเพ็ญศรี น้องโอ๋ และ คุณภาคภูมิ
ด้วยความอยากรู้ของผมว่า ปัจจุบันคนไทยใช้อินเทอร์เน็ต 38 ล้านคนเห็นจะได้
แล้วใครเป็นคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตคนแรกของประเทศไทย
อาจารย์กาญจนายิ้มเล็กน้อยที่มุมปากตามสไตล์พูดน้อยต่อยหนัก
ผมเริ่มถามอาจารย์เลยว่า "อาจารย์ใช้เน็ตอย่างไรเวลานั้น"
"ก็ต่อโมเด็ม ใช้ส่งอีเมลกับออสเตรเลีย แล้วให้ทางโน้นโทรมาเพราะเวลานั้นค่าโทรศัพท์แพง"
เสียดายเวลามากเพราะดึกแล้วด้วยความเกรงใจอาจารย์เข้าใจว่า
การเริ่มต้นใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยน่าจะปี 1990-1991 หรือ พ.ศ. 2533-2534
ไว้ผมมีโอกาสได้คุยกับอาจารย์กาญจนาอีกสักครั้งก็จะถามสัมภาษณ์มาเขียนเล่าสู่กันฟังให้ละเอียดถึงเส้นทางประวัติศาสตร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ในยุคก่อนโซเชียลมีเดียครับ


ทีมงาน Thnic คุณภาคภูมิ(ยืน) , คุณเพ็ญศรี (เสื้อลายดอก)  และ คุณโอ๋ 


ชีพธรรม คำวิเศษณ์
บันทึก พุธ 6 ก.ค. 2559





ความคิดเห็น