จิตใต้สำนึก ชีวิตที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก แม้ผ่านไปแล้ว

คุณยายวันดา สุนทรยาตร คุณยายของผู้เขียน

หกโมงเย็นตะวันใกล้จะพลบค่ำ ผมตื่นนอนขึ้นมาด้วยความเพลียเพราะพิษของโรคภัยไข้เจ็บ
ท้องก็หิว เพราะกลางวันฉันขอใช้ภาษาพระนิดนึง หรือทานมาม่า ซึ่งก็ไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารอร่อย มีแต่ความอร่อยจากน้าซุปจากซองที่คุ้นลิ้นมานานนับสิบปี

ชีวิตในช่วงนี้กลับมาอยู่กับคุณยายของผม ท่านบวชเป็นแม่ชี อายุ 90 ปี บวชชีมาแล้วเกือบ 30 ปี ซึ่งแม่ชีต้องถือศีล 8 และงดทานอาหารในตอนเย็น แต่ด้วยวัยที่มากขึ้นต้องทานอาหารเย็นเพื่อให้มีคุณค่าทางอาหารเพียงพอในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บและความชรา
ความฝันของคุณแม่ของผมอย่างหนึ่งคือได้ดูแลยายในบั้นปลายของชีวิตให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะในช่วงวัยสาวของยายและวัยรุ่นของแม่ ชีวิตของยายที่ต้องดูแลลูกห้าคนนั้นทรหดอดทน ที่แม้หลานอย่างผมนึกไม่ออกเลยว่า ครอบครัวและบรรพบุรุษของเราผ่านวันเวลานั้นไปได้อย่างไร
ยายเป็นแม่ค้าขายขนมจีนเลี้ยงลูก ทุกวันนี้ยายรูปร่างเล็กลงหลังโค้งงอ ผมสันนัษฐานว่าเกิดจากการการแบกหามหาบขนมจีนที่หนักอาจส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้

แต่ทุกวันนี้ชีวิตของยายนั้นสบายอย่างยิ่ง
เพราะมีคนดูแลคือพ่อของผม (ลูกเขย) และลูกหลานที่หมั่นมาเยี่ยมเยียนที่บ้านของคุณแม่ผม ที่ยายมาพักอยู่ด้วยซึ่งปกติแล้วยายจะพักอยู่ที่เชียงใหม่ ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะที่เชียงใหม่ ยายควรจะมาอยู่ที่เมืองนนท์เพื่อใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุข แต่ยายก็ยังห่วงและติดที่บ้านเชียงใหม่อยู่อย่างลึก ๆ




        
                             สัมภาษณ์ยายถึงความยากลำบาก ตอน1


จิตใต้สำนึกของยาย มีแต่ความยากลำบากเป็นห่วงลูกหลานว่าจะลำบากเหมือนกับตัวเอง
ก็เที่ยวพร่ำบอกกับลูกหลาน รวมถึงตัวผมเองให้มีแต่ความประหยัด อดออม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว
ชีวิตในเมืองหลวง การประหยัดอดออมแถบเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่เหลือให้อดออม ค่าใช้จ่ายพอดีกับรายรับหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่เข้าข่ายชักหน้าไม่ถึงหลัง ซึ่งก็เป็นกันทั้งนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร


เวลาจิตใต้สำนักของยายทำงานก็จะบ่นกับลูกหลาน พ่อกับแม่ผมซึ่งเรียนจิตวิทยามา
สรุปกันว่า ยายเป็นเน็กกะทีฟริสซึ่ม (มองโลกในแง่ร้าย) อยู่เกือบตลอดเวลา
ความทุกข์ยากลำบากได้ฝังรากลึกลงไปในจิตใต้สำนึกอย่างมาก ซึ่งผมเองก็คงจะได้รับสิ่งเหล่านั้นมาบ้างผ่านทางสายเลือดและสภาพแวดล้อม แต่ทุกข์วันนี้ผมปรับปรุงและดูแลจิตใจจนพ้นสิ่งเหล่านั้นมาแล้ว และคิดว่าตัวเองก็สามารถจะช่วยเยียวยายายของผมให้หายจากจิตใต้สำนึกเหล่านี้บ้าง



         สัมภาษณ์ยายถึงความยากลำบาก ตอน 2


ประสบการณ์ของผมที่ได้เรียนรู้กับการอยู่กับผู้สูงอายุในวัย 90 ปี พบว่า ชีวิตในวัยนี้
ใช้ชีวิตเป็นวัน ๆ รอคอยความตาย ไม่มีกิจกรรมอะไร หรือถ้ามีกิจกรรมก็ทำไม่ไหวแล้ว
คนในวัยนี้ถ้าหากไม่มีคนดูแลแล้วถือว่าชีวิตอยากลำบากมาก
เพื่อนรุ่นพี่ของผม นอ.ดร. อุษา โพนทอง เป็นด๊อกเตอร์ที่ศึกษาทางด้านผู้สูงอายุมาบอกผมว่า
ผู้สูงอายุนิยามใกล้เคียงกับผู้ป่วยคือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ วัยนี้เหมือนกับย้อนกลับสู่วัยเด็กอีกครั้ง ซึ่งหลังจากที่ผมได้ฟังก็ถูกต้องเลยครับ


ช่วงหลายวันอาจจะเป็นเป็นเดือนๆ ที่ผ่านมาเป็นเรื่องแปลกมาก คือยายบ่นลดลงไป
อาจเป็นเพราะการตอบโต้ของผมในหลายเรื่องสร้างมุมใหม่และข้อมูลใหม่ลงไปในสมองของคุณยาย


เมื่อผมคุยกับยายด้วยความถามใหม่ ๆ ที่ถามกับยาย
"ไหนยายลองบอกซิว่ายายลำบากอย่างไร ทุกวันนี้ ก็เห็นยายสบาย มีแต่คนดูแล ไม่ต้องทำอะไรเลย และผมเกิดมาก็ไม่เคยเห็นยายลำบากเลย "
นี่เป็นคำถามที่ผมถามยาย
"ตุ๊ก ก๋อหาบข้าวหนมจีนขาย เลี้ยงแม่สูไง (ทุกข์หาบขนมจีนขายเลี้ยงแม่ของเธอไง) ยายตอบเป็นภาษาเหนือ
"ยายครับ สิ่งเหล่านั้นมันผ่านไปแล้ว ต้องใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่ต้องสนใจอะไร"
"ก็หมู่สูเป็นหนี้เป็นสิน บ้านช่องฮ่องหอ" (ก็บ้านที่อยู่เป็นหนี้เป็นสินทั้งนั้น) ยายตอบกลับมา
ผมก็สวนกลับทันที

"แล้วมีใครที่ไม่เป็นหนี้บ้างยาย ในหมู่บ้านที่เราอยู่อาศัยก็เป็นหนี้ส่วนใหญ่ทั้งนั้น"

แถมมีเสียงตามหลังจากพ่อของผม
"คนรวยๆ ก็เกิดจากหนี้ทั้งนั้น"
ผมบอกกับยายต่อไปว่า
"ยายครับ ยายอยู่ให้มีความสุขไป การทำมาหากินเป็นเรื่องของลูกหลานไม่เกี่ยวกับยาย
ยายอยู่ให้มีความสุข ไม่มีอะไรที่ลำบาก สิ่งเหล่านั้นผ่านไปแล้ว แล้วก็จะไม่กลับมาอีก"

ความจริงแล้วธรรมชาติของผู้สูงอายุมักจะเป็นห่วงลูกหลานเหลน ห่วงเป็นชั้นๆ
ความห่วงก็คือความทุกข์อย่างหนึ่ง ที่แฝงเข้ามาในจิตใจ ที่ทำให้ปล่อยวางได้ยาก
ยิ่งหลานเหลนที่ยังขัดสนอยู่ด้วย แม้ปากจะบอกว่าไม่ห่วง ชีวิตใครชีวิตมัน แต่ลึก ๆ ก็คือความเป็นห่วง เพราะเป็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงร้อยรัดในความเป็นครอบครัวและสายเลือด


ผมพยายามใส่ข้อมูลใหม่ๆ ลงไปให้กับยายว่า ยายไม่ได้ลำบาก ยายไม่ได้ลำบาก ยายไม่ได้ลำบาก
อะไรเลย อยู่อย่างมีความสุขที่สุด เป็นคนที่มีความสุขที่สุดในโลก

ผมถามยายอยู่เสมอว่า "หลับสบายไหม"
ซึ่งยายก็บอกว่า "หลับเยอะมาก และหลับสบาย"

และอีกเรื่องก็คือเรื่องการประหยัด โลกเก่าของยายที่เต็มไปด้วยความประหยัด ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงครับ ถ้าหากไม่ประหยัดก็คงไม่สามารถฝ่าฝันชีวิตเลี้ยงลูกได้ถึง 5 คนโดยไม่มีสามี และ ใครมาช่วยเหลือ
แข็งแกร่งมาก ๆ เพราะยายของผมเป็นคนบ้านนอก อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน การศึกษาก็มีเพียงแค่ชั้น ป.4 เท่านั้น

"ยายครับ ชีวิตในกรุงเทพ ประหยัดไม่ได้ อยากจะประหยัดก็ทำไม่ได้ เฉพาะค่าไฟยายก็เห็นอยู่แล้ว
ว่าเยอะขนาดไหน การกินการอยู่ "
ยายก็ไม่ได้พูดอะไรมาก
"อย่าใช้จ่ายอ่วย (มาก)"



กลับมาที่ยามเย็น โชคร้ายประตูไฟฟ้าที่บ้านขัดข้องด้วยสาเหตุอะไรไม่ทราบอาจเป็นเพราะฝนตกหนัก
ทำให้ผมก็เดินออกไปที่ตลาดประมาณหนึ่งกิโลเมตร เย็นนี้อยากกินก๋วยเตี๋ยวนำ้ซุปร้อน ๆ มาลวกคอหน่อย เดินนับเท้า เหมือนเดินจงกลม ไม่เกิน 20 นาที ก็ถึงที่หมาย



บริเวณร้านก๋วยเตี๋ยวแถวตลาดท่าอิฐ จ.นนทบุรี ที่ผมไปทานอยู่ด้านหน้า ร้านสะดวกซื้อ 7-11
มีของกินขายของเยอะมาก ไก่ย่างห้าดาว , ตำซั่ว, ลูกชิ้นปลาทอด , ข้าวสารสุก, มะม่วงน้ำปลาหวาน
, ผลไม้สด, น้ำเต้าหู้ นมสด สารพัดที่จะเลือกทานได้บำบัดความหิวยามเย็น

"ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเอ็นเส้นเล็ก พิเศษ เส้นนิดเดียว" ผมสั่งแม่ค้า
"ได้คะ แป๊บนะคะ" แม่ค้าหน้าตาสะสวยผ่านเริ่มเข้าสู่วัยกลางคนทวนคำสั่งของลูกค้า
ชามที่หนึ่งหมดไปสั่งชามที่สอง
"เส้นหมี่ลูกชิ้นเนื้อเปื่อยธรรมดาครับ" ผมสั่งออกไปแล้วย้ายโต๊ะใหม่เพราะฝนกำลังเริ่มปรอย ๆ
ผมขยับเปลี่ยนมุมนั่งพลันสายตาไปเห็นหญิงชราวัยใกล้เคียงกับคุณยายของผม แต่อาจจะอายุอ่อนกว่าสัก 10 ปีเห็นจะได้ เธอนั่งอยู่กับพื้นขายขนมต่างๆ ให้กับผู้เดินผ่านไปมา
สิ่งที่ผมเห็นรู้สึกเห็นใจและเปรียบเทียบกับคุณยายของผมว่าชีวิตช่างแตกต่างกันอย่างมากเหลือเกิน
นึกในใจว่า

"ทำไมอายุเยอะขนาดนี้ถึงต้องมาทำงาน เธออาจจะชอบกิจกรรมการขายของหรือเธอต้องทำ แล้วลูกหลานไปไหน"

ผมก็ได้แต่นั่งมอง และหยิบกล้องออกมาบันทึกภาพไว้ แต่ผมก็เสียใจเหมือนกันที่ไม่ได้ไปอุดหนุนคุณยายขายขนม เพราะหลังจากทานก๋วยเตี๋ยวเสร็จก็เข้าไปหลบฝนใน 7-11 เกือบหนึ่งชั่วโมง
ฟ้าฝนตกลงมาไม่ลืมหูลืมตา ช่างไม่สงสารพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของ ไม่รู้ว่า ขายได้กำไรหรือยังวันนี้

ความลำบากของคุณยายขายขนมกับคุณยายของผมเทียบกับไม่ได้เลย แต่ทำไมคุณยายของผมจะมีความสุขในสิ่งที่เป็นอยู่บ้าง

คุณยายขายขนมหน้า 7-11 ท่าอิฐ จ.นนทบุรี


ก่อนกลับบ้านผมแวะซื้อน้ำเต้าหู้ และนมสด กลับไปฝากยายและ พ่อกับแม่
เมื่อไปถึงบ้านหยิบน้ำเต้าหู้ออกมา ยายออกอาวุธทันที
"ซื้อมาทำไมเยอะ ใครจะไปกินหมด"
"ก็กินทุกคนไงยาย เดี๋ยวก็หมด"
"ไผ๋จะไปกิ๋นหมด"
"ยายมีหน้าที่ดื่มดื่มไป ไม่ต้องสนใจ จะมาสนใจทำไม คนเราต้องดื่มทุกวัน"
พ่อผมรีบเสริมว่า
"ไม่หมดก็แช่ตู้เย็นได้ เอามาอุ่นกับไมโครเวฟ ซื้อมาครั้งเดียวทานได้เรื่อยๆ "
หมดประเด็นสนทนา นำ้เต้ำหู้ถูกรินใส่แก้ว คุณยายผมดื่มอย่างมีความสุข ก่อนที่จะเข้านอน

"ยายมีอะไรให้ยายดูหน่อยครับ" ผมหยิบสมาร์ทโฟนที่ถ่ายภาพคุณยายขายขนมไว้ให้ยายดู
"นี่ยายดู คนแก่อายุเท่าๆ กับยายต้องมาขายขนมหน้า 7-11 เปรียบเทียบกับยายแล้วมีความสุขขนาดไหน ขอให้ยายมีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่"

ยายผมหยิบมาดูแล้วก็ไม่ได้พูดอะไร ดื่มน้ำเต้าหู้จนหมด
แล้วเดินไปยังเตียงนอน ผมเดินตามไปห่มผ้าให้ยายแล้วนั่งคุยแป๊บนึง
"ยายเป็นคนที่มีความสุขที่สุดแล้ว ดื่มหลับสบาย"
ยายตอบว่า "ใช่หลับสบายจริงๆ "
"เปิดเครื่องจับยุงไหมยาย"
"บ่ต้องเปิด"
"อ้าวทำไมละ ยุงมันเยอะ"
"บ่มี บ่หันบ่ต้องเปิด"
"เปิดไปเถอะไม่ได้เปลืองอะไรหรอก ไม่ต้องประหยัด อยู่ให้สบาย"
ว่าแล้วผมก็ไปเปิดเครื่องดักยุง ให้ยายได้นอนสบาย
สิ่งที่เขียนมาทั้งหมด ผมต้องการเล่าและสื่อถึงความทรงจำของจิตใต้สำนึก ถ้าหากท่านใดที่อยู่กับผู้สูงอายุที่อาจมีความทรงจำได้วัยหนุ่มสาวที่ยังมีความทุกข์ใจฝังใจกับความยากลำบาก
ลองใส่ข้อมูลและความสุขใหม่ๆ ลงไปในสมองเพื่อล้างภาพความทรงจำเก่าๆ ออกไปครับ

ชีพธรรม คำวิเศษณ์
บันทึก พุธ 22 มิ.ย. 2559




ความคิดเห็น