หนังสือ 4 เล่ม ทำให้ผมตัดสินใจไปสมัครเป็นอาจารย์สอนคณะแพทย์

อาจารย์หมอ นพ.สมนึก นิลบุหงา (ถือหนังสือ) กับ ผู้เขียน

สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เชิญผมมาเป็นวิทยากรเพื่อบรรยายในโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การเขียน การผลิตและการเผยแพร่ตำรา หนัสือวิชาการระดับอุดมศึกษา ให้กับคณาจารย์จากทั่วประเทศกว่า 200 ท่านที่มาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และได้มารวมกันอยู่ 8-10 มิถุนายน 2559
โรงแรม ดีวารี หาดจอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี ทุกท่านที่มาเข้าร่วมต่างมุ่งหวังที่จะเขียนหนังสือและตำราวิชาการกับสำนักพิมพ์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับนิสิตนักศึกษาและประโยชน์ทั่วไปกับสังคมความรุ้ในการพัฒนาทุนมนุษย์ทรัพยากรบุคคลของประเทศไทย

คณะวิทยากรที่มาให้ความรู้ในการสัมมนางานเขียน




ในการจัดสัมมนาโครงการครั้งนี้ ทางสำนักพิมพ์ได้นำหนังสือที่ทางสำนักพิมพ์ตีพิมพ์จำหน่ายแล้ว
มาวางขายให้กับคณาจารย์ผู้สนใจที่จะได้อ่านหนังสือความรู้เพิ่มเติม ลด 20 เปอร์เซ็นต์
ทำให้ผมได้ทราบว่าหนังสือที่สำนักพิมพ์จุฬาฯ ตีพิมพ์ เป็นความรู้ที่หลากหลายแขนงเปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจอยากจะเป็นนักเขียนสามารถที่จะเข้ามาเขียนได้ไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือครูในสถาบันการศึกษา ซึ่งนับว่าเป็นองค์กรที่ให้ทุกคนพิสูจน์ตนเองไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหนถ้าอยากเป็นนักเขียนแล้วผ่านเกณฑ์ของสำนักพิมพ์จุฬาฯ แล้วตีพิมพ์ให้หมด ขอให้เป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์กับสังคมไทย


คณาจารย์จากทั่วประเทศที่มาอบรมนักเขียนกับสำนักพิมพ์จุฬาฯ 

ส่วนตัวผมมีความสนใจหนังสือที่เกี่ยวข้องกับร่างกายมนุษย์เพราะสมัยเป็นเด็กนักเรียนไม่ค่อยสนใจเรียนหนังสือ แถมไม่ได้เรียนสายวิทย์เลย อายุมากขึ้นวัยและสมองกลับด้านอยากมีความรู้แบบสรรพวิทยาและสิ่งที่อยากรู้ที่สุดก็คือ ร่างกายทำงานอย่างไรบ้าง เพราะอวัยวะ และ ระบบ ฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายของเราผมยอมรับว่าแทบจะไม่มีความรู้เรื่องเลยแม้ว่าอยู่ในตัวของเรา

หนังสือของสำนักพิมพ์จุฬาฯที่นำมาวางขายได้ตอบโจทย์ผมแทบทั้งสิ้นครับ  ผมค่อยๆ เลือกดูหนังสือแล้วเลือกมา 3 เล่ม ความจริงอยากได้อีกเล่มคือ หมอในบ้าน แต่ปรากฏว่าเงินในกระเป๋าดันไม่พอไม่ได้กดเอทีเอ็มมา  


หนังสือ 4 เล่ม ผลงานของ อ.สมนึก นิลบุหงา ที่ผู้เขียนกำลังอ่าน




หนังสือ 3 เล่ม ก็คือ
  • ระบบประสาทและการทำงาน Funtional Neuroanatomy
  • ระบบหัวใจและการทำงาน Funtion Cardiology
  • ระบบทางเดินอาหารและการประยุกต์


ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็คือ 3 เล่มนี้ก็คือ  อาจารย์หมอ นพ.สมนึก นิลบุหงา  ซึ่งท่านเป็นหนึ่งในคณะวิทยากรที่ทางสำนักพิมพ์เชิญมาร่วมให้ความรู้กับว่าที่นักเขียนใหม่ของสำนักพิมพ์จุฬาฯ ในกลุ่มหนังสือวิทยาศาสตร์  และมาเสวนาสร้างแรงบันดาลใจให้กับอาจารย์ได้ฟังด้วย


หลังจากซื้อเสร็จผมก็ตรงเดินเข้าไปหาอาจารย์สมนึก ซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังห้องสัมมนา
“สวัสดีครับอาจารย์ผมมาขอลายเซ็นต์หน่อยครับเพิ่งซื้อหนังสือมา ชอบที่อาจารย์เขียน
ดูน่าสนใจครับ ผมเป็นคนเรื่องสนใจเรื่อง Cognitive สมอง ประสาท และการรับรู้ครับผม”

“โห ขอบคุณมากครับที่สนับสนุนน มาผมเซ็นต์ให้ ขอทราบชื่อนิดนึงครับ”
"ผมชื่อชีพธรรม คำวิเศษณ์ ชื่อเล่น ไตร ครับ"

อาจารย์ถามผมเป็นการพบกันครั้งแรงแต่ก็ได้ถ่ายรูปร่วมกันตอนที่ถ่ายภาพหมู่กับคณะวิทยากรบนเวทีก่อนพิธีเริ่มจะเริ่มขึ้น อาจารย์สมนึก ท่านเป็นนักเขียนมาประมาณ 5 ปี เป็นอาจารย์สอนทางด้านกายวิภาค ชำแหละทุกส่วนของร่างกายมนุษย์เพื่อสอนให้กับนักศึกษา  อาจารย์สอนที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร  เส้นทางการเป็นแพทย์ของอาจารย์แปลกกว่าคนอื่นก็คือเรียนทางด้านกายภาพบำบัด แล้วมาเรียนต่อทางด้านแพทย์ แล้วเป็นอาจารย์สอน ต่อมาเป็นนักเขียนหนังสือการแพทย์


“อาจารย์ครับ ขอถามไรหน่อย เวลาอาจารย์ผ่าสมองคน จับมีดอย่างไรครับ แล้วกรีดลงไปตรงไหน”
ผมถามอาจาย์สมนึกด้วยความอยากรู้อยากเห็น
“จับเหมือนกับปากกาเลยครับ กรีดลงไปตรงกลางหัวก่อนเลย”
ฟังแล้วเริ่มสยดสยองเล็ก ๆ  
จากนั้นผมก็เริ่มถามรายละเอียดในหนังสือที่อาจารย์เขียน เริ่มจากหนังสือระบบประสาทก่อนเลยครับ
ไล่ไปทีละเรื่อง ฟังแล้วสนุกมากๆ  อาจารย์เขียนหนังสือได้ยอดเยี่ยม ภาพประกอบท่านบอกว่า
“ภาพประกอบในเล่มนี้ผมทำเองทั้งหมด ทำไม่ยากครับ แป๊บเดียวเอง ใช้โปรแกรม Adobe illustrator


ผมฟังอาจารย์สมนึกอธิบายด้วยความทึ่งในองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์เกี่ยวกับร่างกาย
ทำไมสิ่งเหล่านี้อยู่ในตัวเราถึงได้ซับซ้อนและละเอียดขนาดนี้ ผมทำให้เกิดความรู้สึกว่า
การเรียนแพทย์นั้นยากเย็นเหลือเกิน แล้ว อาจารย์แพทย์จะต้องเก่งและเตรียมสอนเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับนิสิตขนาดนั้น รวมถึงการเขียนตำรับตำราเพื่อให้ได้ไปอ่านต่อและเข้าใจ

“อาจารย์ครับหนังสือทั้งหมดนี่ใช้เป็นตำราเรียนในการแพทย์ทั้งหมดเลยหรือครับ
“ใช่ครับ ทุกชั้นปีต้องเรียน และต้องเรียนกับอาจารย์ใหญ่ด้วย”
ผมถามอาจารย์ต่อไปว่า
“แล้วอาจารย์ใหญ่ที่บริจาคร่างกายต้องใช้ประมาณกี่ปีต่อร่างครับ”
“ประมาณ 2 ปีครับ นักศึกษาแพทย์ก็จะเรียนครบทุกระบบ”

ผมเงียบไปสักครู่หนึ่ง

“ผมอยากขอไปสมัครเป็นอาจารย์ใหญ่เพื่อสอนหมอได้ไหมครับ ต้องทำอย่างไรบ้าง
ความจริงผมก็เคยบริจาคร่างกายมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี พ.ศ.2536”
“โหห เอาอย่างนั้นเลยครับ คุณไตรไปหาผมได้ตลอดเลยที่คณะแพทย์”
“คณะแพทย์ที่องครักษ์ จ.นครนายกหรือครับ” ผมถาม
“เปล่าครับ ประสานมิตรกลางใจกรุงเทพ สุขุมวิทเลย ถ้าอาจารย์ไปเดี๋ยวผมพาไปชมการเรียนการสอน
ของคณะแพทย์ด้วย”
“เยี่ยมเลยครับอาจารย์” น้ำเสียงของผมตื่นเต้นเพราะคิดว่าในชีวิตนี้เราไม่มีสติปัญญาเรียนแพทย์ได้
แต่นี่เป็นหนทางเดียวที่จะได้เป็นอาจารย์ของนักศึกษาแพทย์
แล้วผมจะไปหาอาจารย์นะครับที่ประสานมิตร

จากนั้นอาจารย์สมนึกก็แนะนำหนังสือ หมอในบ้าน ให้กับผมอีกหนึ่งเล่ม ซึ่งเป็นหนังสืออ่านง่ายๆ ให้ทราบถึงยาที่เราซื้อกินเมื่อเป็นโรคภัยไข้เจ็บด้วยตนเอง และโรคที่เป็นบ่อย ๆ หนังสือเล่มนี้เหมือนกับคู่มือหมอประจำบ้าน
“คุณไตรมีเล่มนี้หรือยังครับ
“อาจารย์พอดีตังค์ผมไม่พอครับซื้อมาสามเล่ม”
“โหห ผมขอมอบให้เลยครับ”
จากนั้นอาจารย์สมนึกก็เซ็นต์มอบหนังสือหมอในบ้านให้กับผม
ผมเชื่อว่าหนังสือที่อาจารย์สมนึกได้เขียนนั้นจะช่วยทำให้ผมรู้จักกับร่างกายของตนเอง
ในแบบนักศึกษาแพทย์ ได้รู้จักระบบและส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มากก็น้อย
เพื่อเป็นความรู้แบบรู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม ที่ อ.มานิต รุจิวโรดม กรรมผู้อำนวยการสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในวันปิดท้ายของการสัมมนาโครงการนักเขียน


เร็วๆ นี้ผมจะไปสมัครเป็นอาจารย์ (ใหญ่) แพทย์ที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ครับ


ขอบคุณสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ทำให้ผมได้พบกับ อ.สมนึก และแรงบันดาลใจ
ในการไปเป็นอาจารย์แพทย์ด้วยการอุทิศร่างกายของตนเอง และขอเชิญชมคลิปรีวิวหนังสือทั้ง 4 เล่มข้างท้ายบล๊อคด้วยนะครับ


ชีพธรรม คำวิเศษณ์
บันทึก อังคาร 14 มิถุนายน 2559





คลิปรีวิวหนังสือระบบประสาทและการทำงาน



คลิปรีวิวหนังสือระบบหัวใจและการทำงาน



คลิปรีวิวหนังสือ ระบบทางเดินอาหารและการประยุกต์



คลิปรีวิวหนังสือ หมอในบ้าน

ความคิดเห็น