เที่ยวโฮจิมินท์ ประเทศเวียดนาม คิดถึงพระองค์เจ้าบวรเดชและพระยาทรงสุรเดช


คลิปเปิดแอพวัดความเร็วเครื่องบิน
ชมเพิ่มเติม  www.youtube.com/trimemory



เครื่องบินนกแอร์กำลังลดระดับการบินเพื่อลงสู่สนามบินโฮจิมินท์  ก่อนหน้าที่จะลดระดับการบิน
ผมทดสอบการใช้ wifi บนเครื่องบินและทดสอบความเร็วของเครื่องบินด้วยแอพ Speedmeter 

มองออกไปนอกหน้าจากความสูงไม่น่าจะเกิน 6,000 ฟิต เร่ิมเห็นบ้านเรือน สนามกอล์ฟ ตึกรามบ้านช่อง 
สายตามองไปหัวสมองก็คิด นี่ผมกลับมาโฮจิมินท์เป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี ครั้งแรกมาในเดือนสิงหาคม 
2558 ครั้งนั้นมาทำงานโซเชียลมีเดียประชาสัมพันธ์ให้กับกรมอาเซียน และ ต่อไปสอนโซเชียลมีเดียให้กับสถานทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ตามคำเชิญของท่านทูตณัฐวุฒิ โพธิสาโร ซึ่งผมเคยรับใช้ท่านด้านประชาสัมพันธ์ผ่านทวิตเตอร์ในคดีคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งท่านเป็นหัวหน้าทีมในฝ่ายไทยขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

เครื่องบินลดระดับลงเรื่อยๆ  ตามเช็คลิสต์ของเครื่องบินพาณิชย์ ความเร็วก่อนร่อนลงสนามบินจะไม่เกิน 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่นักบิน Gear Down หรือกางล้อเครื่องบิน เปิด Flap แบบ Full Flap เพื่อลดความเร็วของเครื่องบินซึ่งทำให้หัวของเครื่องบินเชิดขึ้น  ซึ่งผมเองก็เคยเรียนการบินมาบ้างกับกัปตันสุรชัย พูลศิริวรรณะ และอีกหลายท่านที่ได้ให้ความรู้ด้านการบินกับผมไปสอนเด็กนักเรียนเกี่ยวกับวิธีการขับเครื่องบินจำลอง Flight Simulator เมื่อหลายปีก่อน


คณะนักเขียน สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



มาครั้งที่สองผมมากับคณะนักเขียนของสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักเขียนได้รับรางวัลขายดีติดอันดับ ผมมาในฐานะสื่อมวลชนโซเชียลมีเดียและว่าที่นักเขียนของสำนักพิมพ์ 
คิดโน่นคิดนี่ไป หยิบกล้อง Gopro ออกมาถ่าย เก็บภาพความทรงจำไปโพสบนยูทูบ  
โฮจิมินท์ โฮจิมินท์ ไซ่ง่อน สมองผมคิดไป ในที่สุดก็คิดไปถึงพระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาทรงสุรเดช ซึ่งทั้งสองท่าน เป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองของประเทศไทยเมื่อครั้งยังใช้ชื่อประเทศสยาม  ชีวิตของบุคคลทั้งสองได้มาพำนักที่โฮจิมินท์ ซึ่งพระองค์เจ้าบวรเดช หนีมาเมื่อครั้งแพ้สงครามกลางเมืองครั้งแรกของไทยหลัง เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้ชื่อของพระองค์ท่านถูกเรียกขานในสงครามกลางเมืองครั้งนั้นว่า 
“กบฏบวรเดช”  

ส่วนพระยาทรงสุรเดช ท่านเป็นมันสมองผู้วางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สายทหาร กลยุทธ์ของท่านทำให้ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อในการอภิวัฒน์ระบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งพระมหากษัตริย์อยู่ภายในรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง 7   ปี พระยาทรงสุรเดช กับ ร.ท.สำรวจ กาญจนสิทธิ์ นายทหารคู่ใจก็ถูกเนรเทศออกจากประเทศไทยมาใช้ชีวิตอยู่ในไซ่ง่อน เมืองในปกครองของฝรั่งเศส ใช้ชีวิตอย่างลำบากมาก ถึงแม้จะเป็นอดีตนักเรียนนายร้อยเยอรมนี 
แต่ด้วยความยากของภาษาเวียดนามและความไม่คุ้นเคยต่อวิชาชีพทำให้ท่านใช้ชีวิตอย่างยากลำบากมาก 

พระองค์เจ้าบวรเดช


ความคิดของผมโลดแล่นไปสู่อดีตประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ที่เชื่อมโยงมาสู่เวียดนาม 
คนไทยที่มาเที่ยวโฮจิมินท์ (ไซ่ง่อน) ประเทศเวียดนาม เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ลุงโฮ (โฮจิมินท์) อดีตผู้นำประเทศเวียดนามผู้ปลดปล่อยเวียดนามให้เป็นอิสระจากฝรั่งเศส ได้เคยมาพำนักอยู่ที่ประเทศไทยที่บ้านนาจอก อ.เมือง จ.นครพนม ในช่วง พ.ศ. 2471-2472 บางตำราก็ว่า 2  ปี บ้าง บางตำราก็บอกว่า 6 ปีบ้าง แต่เอาเป็นว่าลุงโฮเคยมาอยู่ที่เมืองไทย อาศัยแผ่นดินไทยก่อนไปปฏิวัติปลดปล่อยเวียดนามให้หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคม

ผมถามตัวเองว่า ผมจะรู้ได้อย่างไรว่า พระองค์เจ้าบวรเดช หลังจากที่ขึ้นเครื่องบินจากโคราช (นครราชสีมา) ในเดือน ตุลาคม พ.ศ.2476 ท่านหนีมากับชายาของท่านมาอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน เป็นเวลายาวนานถึง 16 ปี 
ท่านพำนักอยู่ตรงไหนของไซ่ง่อน ใครหนอจะบอกได้ ผมอยากรู้จริงๆ  แต่ที่แน่ๆ ท่านเป็นผู้ก่อตั้ง
ผ้าโขมพักตร์ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทุกวันนี้เป็นร้านผ้าที่มีชื่อเสียง ท่านได้องค์ความรู้ผ้าพิมพ์ไปจากไซ่ง่อนก็ที่จะกลับไปทำธุรกิจผ้าโขมพักตร์ที่ประเทศไทย 


พระยาทรงสุรเดช



หนังสือบันทึกพระยาทรงฯ ในต่างแดน 
ที่บ้านผมมีหนึ่งเล่มอ่านแล้ว เศร้าใจมาก เข้าใจว่าถูกวางยาพิษ เสียชีวิตที่ กรุงพนมเปญ



พระยาทรงสุรเดช ท่านก็มาพำนักที่ไซ่ง่อน ในบันทึกหนังสือของชีวิตพระยาทรงสุรเดช เขียนโดย ร้อยโท สำรวจ กาญจสิทธิ์ ได้เขียนถึงว่า ทั้ง 2 คนได้เจอกันในไซ่งอนด้วย ทักทายกันบ้างแต่ไม่ได้คุยอะไรกันมาก และยังมีนายทหารที่หนีคดีการเมืองเมื่อครั้งกบฏบวรเดชมาอยู่ที่ไซ่ง่อนหลายท่าน 

เขียนเล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทยกับไซ่ง่อน เพื่อท่านใดไปเที่ยวจะได้ทราบว่า
บรรพบุรุษทางการเมืองของเราได้พำพักพักพิงอยู่ที่เมืองโฮจิมินท์แห่งนี้

ชีพธรรม คำวิเศษณ์
ศุกร์ 1 เมษายน 2559



ความคิดเห็น