เขียนไว้อาลัย อ.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด กับโลกธรรม 8

 ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล อดีตประธานศาลปกครอง Cr.ภาพจากผู้จัดการ

    
ผมนั่งทานอาหารตามสั่งอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน 2559  ในหมู่บ้านแถว จ.นนทบุรี
เช้าวันนี้คนไทยคงมีความสุขกับประเพณีสงกรานต์และครอบครัวที่บ้านทั่วทุกมุมของประเทศไทย  
อ่านข่าวไทยรัฐตั้งแต่หน้าหนึ่งข่าวสารสำคัญไปเรื่อยๆ จะถึงหน้าสุดท้าย เห็นผมข่าวกรอบเล็กๆ เป็นข่าวย่อย ที่ดูเหมือนเป็นข่าวไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ ข่าวมะโน่สาเร่ เล็ก ๆ น้อยเพียง เหมือนกับเแป๊ะพื้นที่ให้มีข่าวสารได้ลงเท่านั้น ทั้งที่ข่าวนี้น่าจะเป็นข่าวน่าหนึ่งด้วยซ้ำ
นั่นคือข่าว  นายหัสวุฒิ  วิฑิตวิริยกุล ประธานาลตุลากรสูงสุดเสียชีวิตด้วยอาการป่วยหลายโรค ไม่น่าเชื่อว่าอดีตตุลาการสูงสุดผู้ตัดสินคดีระหว่างรัฐกับประชาชน ทำไมสื่อมวลชนหลักให้ความสำคัญน้อยขนาดนี้ 
ชีวิตของท่านในวัย 67 ปี เท่านั้น ยังสามารถทำอะไรให้กับสังคมไทยได้เยอะมาก ชีวิตของท่านผกผันมากเสียจนไม่คิดว่าจากประธานตุลาการศาลปกครองสูงสุดจะถูกให้ออกจากตำแหน่งเพราะจดหมายฉบับเดียว ในขณะเดียวกัน ผู้ที่อยู่ในรัฐบาล ทำเหมือนนกับแทบทุกอย่างแต่ไม่ผิดอะไรเลยและยังคงอยู่ในตำแหน่ง

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พฤหัส 14 เม.ย. 2559


ทำไมผมถึงอยากเขียนบล๊อคไว้อาลัยท่าน เพราะในชีวิตของผมเรียก ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานตุลาการศาลปกครองสูงสุดว่า “อาจารย์”​ ผมใจหายและเสียใจ ในโลกธรรม8 ที่ท่านได้รับ แม้ว่าผมจะเป็นลูกศิษย์ปลายแถวของท่าน

ปี พ.ศ. 2536 ขอพาท่านย้อนหลังความทรงจำของผมไปเมื่อ 23 ปีที่แล้ว เดือน มิถุนายน เป็นการเปิดภาคเรียนใหม่ ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่  เวลานั้นคณะนิติศาสตร์เพิ่งตั้งได้เพียง 3 ปีเท่านั้น ผมเป็นรุ่นที่สาม ด้วยความที่เป็นคณะน้องใหม่ และวิสัยทัศน์ของ ดร.เขตไท ลังกาพินธ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์เวลานั้นต้องการยกระดับการศึกษากฏหมาย และเพื่อสร้างความเป็นมาตรฐานได้เชิญคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ ในการเรียน ปี 2 เทอม 1 นักศึกษาชึ้นปีที่ 2 ต้องเรียนวิชาบังคับคือประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย หนี้ ผมตื่นเต้นมากที่จะได้เรียนกับอาจารย์จากธรรมศาสตร์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ด้านกฏหมายที่เก่งที่สุดในประเทศไทยเพราะส่วนใหญ่จบมาจากต่างประเทศทั้งนั้น เด็กนักศึกษาภูธรอย่างผมซึ่งอยากเป็นนักเรียนนอกชื่นชมอยู่แล้ว

อาจารย์ผู้สอนวิชาหนี้ ก็คือ ดร.หัสวุฒิ  ถ้าอาจารย์เสียชีวิตในวัย 67 ย้อนหลังไปอาจารย์อายุเพียง 44 ปีเท่านั้นก็ถือว่าเป็นหนุ่มใหญ่ และ เวลานั้นอายุท่านตอนนั้นก็เท่ากับผมในเวลาที่กำลังนั่งพิพม์บล๊อคบันทึกความทรงจำอยู่ตอนนี้ครับ

อาจารย์หัสวุฒิ รูปหล่อ สมาร์ท รูปร่างสูงใหญ่ พูดจาช้าๆ เนิบนาบ คงแก่เรียน ท่านเป็นนักเรียนกฏหมายจากประเทศออสเตรีย ดินแดนแห่งเสียงดนตรี มีคตีกวีชั้นน้ำของโลกอย่าง โจฮัน สเตราท์ ,
โมสารฺ์ท และ บีโธ่เฟ่นถึงจะเป็นชาวเยอรมันแต่ก็ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่ออสเตรีย.  อาจารย์หัสวุฒิ ใช้ชีวิตการเรียนในประเทศออสเตรีย ยาวนานถึง 11 ปี นานมากๆ สำหรับชีวิตการเรียนก่อนกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วิชาหนี้เป็นวิชาพื้นฐานของกฏหมายเอกชนที่ประชาชนกับประชาชน ตามภาษากฏหมายเรียกว่าเอกชนพึงทำสัญญา และ ภารสิ่งที่ต้องส่งมอบกัน ไม่ใชว่าด้วยเรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องสัญญาจ้าง ละเมิด จ้างแรงงาน จ้างทำของ สิ่งที่ต้องส่งมอบกัน
เหตุสุดวิสัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น เจ้าหนี้และลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบต่อกันอย่างไร เป็นวิชาที่ละเอียดอ่อน
และถือว่ายากมากๆ ผู้สอนจะต้องเชี่ยวชาญและเก่งมาก ๆ การบรรยายอธิบายหลักกฏหมายแต่ละมาตรา แค่เพียงมาตราเดียวอธิบายยกกรณีศึกษาได้เป็นวันๆ เลยครับ เป็นการเรียนที่สนุกและยาก เป็นโลกใหม่สำหรับผม

ผมจำได้ว่าระหว่างที่พักการเรียนการสอนเวลานั้น ผมซื้อประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เป็นทั้งสองภาษาไทยและอังกฤษ  ครั้งหนึ่งผมไปยืมหนังสือมาจากห้องสมุด แล้วติดภาษาอังกฤษอยู่หนึ่งคำไปถามอาจารย์หัสวุฒิว่าแปลว่าอะไร อาจารย์ตอบว่า ไม่ทราบ. ท่านตอบตรงๆ และผมทราบภายหลังว่าเพราะท่านเป็นนักเรียนออสเตรียพูดและเรียนภาษาเยอรมันไม่ใช่ภาษาอังกฤษ

ในการมาสอนของอาจารย์หัสวุฒิจะมาเดือนละ 1-2 ครั้ง สอนแต่ละครั้ง 6 ชั่วโมง ตั้งแต่เช้าจรดเย็น
หนังสือประกอบคำบรรยายวิชาหนี้คือของ อ.โสภณ รัตนากร  ในช่วงเวลากลางวันเมื่ออาจารย์สอนหนังสือเสร็จก็จะทานอาหารที่โรงอาหารใกล้กับคณะนิติศาสตร์ (คณะนิติศาสตร์หลังเก่า)
บางครั้งอาจารย์ก็มานั่งทานในโรงอาหาร ใช้ชีวิตสบายๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งจำได้เลือนลางว่าอาจารย์เดินทานอะไรสักอย่างเป็นกล้วยแขกหรืออะไรก็ไม่ทราบ แต่ในความทรงจำสมองของบันทึกแล้วว่าเป็นกล้วยแขก ซึ่งท่านอาจจะไม่ได้เดินทานก็ได้นะครับเพราะเวลายาวนานเหลือเกิน

หลังจากการสอบปลายภาค 1 ผ่านไปเรียบร้อย ผมเอาตัวรอดวิชานี้ได้เกรดมาเพียง C แค่ผ่านเท่านั้น
เพราะเป็นวิชาที่ยากครับ การจดจำมาตราของกฏหมายต้องจำให้ได้เรียกว่าท่องกันเลย ใครไม่ได้อ่านหนังสือหรือท่องตำรามากพอเป็นอันเสร็จทุกราย

หลังจากนั้นจากนั้นผมก็ทำงานช่วยคณะนิติศาสตร์และเดินเอกสารเพื่อช่วยผ่อนแรงค่าเทอมของมหาวิทยาลัยให้กับครอบครัวเป็นทุนการศึกษา พร้อมกับมีหน้าที่ต้องไปรับอาจารย์จากธรรมศาสตร์ทุกท่านที่มาสอน ผมเริ่มงานนี้ตั้งแต่เรียนชั้นปี 3 จนกระทั่งผมเรียนหนังสือจบชั้นปริญญาตรี ก็ได้เจอกับอาจารย์หัสวุฒิอีกหลายครั้งก็ได้สนทนา และชงกาแฟให้อาจารย์ระหว่างที่มาสอน

เหตุการณ์ผ่านไปหลายปีทราบว่าอาจารย์หัสวุฒิได้ย้ายจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปเป็นตุลาการศาลปกครอง และภายหลังดำรงตำแหน่งประธานตุลาการศาลปกครองสูงสุด ก็เทียบเท่ากับประธานศาลฏีกา ซึ่ง ตุลาการศาลปกครองมีหน้าที่ผดุงความยุติธรรม ในคดีความที่ราษฏรฟ้องหน่วยงานราชการที่ออกคำลั่งที่มิชอบละเมิดสิทธิของประชาชน ผมถือว่าเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่มากที่การคุ้มครองสิทธิและอำนาจของประชาชน ในช่วงนั้นผมคิดในใจว่า ชีวิตคนเรานั้นเป็นไปได้อย่างไร
จากอาจารย์มหาวิทยาลัยที่แสนจะธรรมดามาก ๆ สอนหนังสือไปไม่มีชีวิตอะไรหวือหวา
ตอนมาสอนหนังสือผมยังกินอาหารอยู่ในโรงอาหารเดินไปเดินมาในคณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยพายัพ มาวันนี้เป็นถึงประธานตุลาการศาลปกครองสูงสุด สิ่งที่เป็นไปไม่ได้แต่เป็นไปแล้ว

โลกธรรม 8 ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ ได้ลาภ  เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ เป็นของอยู่คู่กับโลก   ในที่สุด อ.หัสวุฒิ ก็ถูกโลกธรรม 8 เล่นงานจนต้องออกจากตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดด้วยจดหมายเพียงฉบับเดียว ซึ่งถามว่าผิดก็ผิด แต่ในสังคมไทยสิ่งเหล่านี้ก็มีมาอยู่เป็นปกติ ซึ่งก็เป็นที่ทราบๆ กันอยู่ในประเทศไทย อย่าว่าแต่ระดับประธานศาลตุลาการเลย
ผมเป็นอาจารย์สอนหนังสือธรรมดาๆ  ยังเคยขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ในเรื่องการฝากคนทำงาน
ฝากสอบ ฝากเรียน  แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้เขียนจดหมายครับ เขียนผ่าน Facebook และ  Line แค่บอกว่าขอฝากท่านให้ดูแลคนนี้ให้อยู่ในสายตาหน่อยครับเป็นคนเก่งมีความสามารถ  ซึ่งสังคมไทยกับการฝากเป็นเรื่องปกติ อย่าปฏิเสธเลยครับ

หลังจากที่ผมได้อ่านข่าวของอาจารย์หัสวุฒิในช่วงที่เกิดวิกฤตกับชีวิตของท่าน ผมคิดในใจว่า ขนาดระดับประธานศาลตุลาการปกครองยังเอาตัวไม่รอดขนาดนี้ แล้วประชาชนธรรมดาจะไปเหลืออะไร  อาจจะเป็นเพราะท่านเป็นนักวิชาการมาตลอดชีวิต ท่านอาจเป็นคนตรงๆ หรือไม่มีเหลี่ยมคูกับใครๆ เบื้องลึกเบื้องหลังผมก็ไม่อาจทราบได้ แต่ในที่สุดท่านก็จบชีวิตไม่ได้สวยงามตามที่ควรจะเป็น และชื่อเสียงของท่านก็ค่อยๆ เงียบหายไปและความทรงจำของผู้คน

ประมาณหนึ่งเดือนก่อนหน้าที่อาจารย์จะเสียชีวิต เพื่อนของผมคนหนึ่งที่เรียนด้วยกันจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ เขาประสบความสำเร็จในการเป็นทนายความอย่างมากทั้งที่สมัยเรียนก็ไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่ ก็พอ ๆ กับผมแหละครับ มาฟ้องคดีปกครองที่ศาลปกครองกลาง แล้วโพสข้อความและภาพบนเฟซบุ๊คว่า มาเจอเพื่อนที่เรียนด้วยกันอีก ทำงานอยู่ศาลปกครอง แล้วก็บอกว่าขอแสดงความยินดีกับตุลาการศาลปกครองคนใหม่  ว่าที่ตุลาการศาลปกครองเพื่อนผม สมัยเรียนก็โลดโผนพอๆ กัน แต่วันนี้พัฒนาตัวเองมาจนกระทั่งใกล้ตำแหน่งแล้ว หลังจากอ่านข้อความบนเฟซบุ๊คแล้ว
ผมก็เลยโทรไปหาเพื่อนแสดงความยินดี เพราะสมัยเรียนหมอนี้เคยมาเมาที่บ้านผมเพราะอกหักจากสาวจากนั้นก็ขับรถไปคว่ำ เหตุการณ์ผ่านมา 20 ปีแล้ว  หลังจากเขารับสายก็เลยถามว่า
ตกลงเป็นตุลาการศาลปกครองหรือยัง
เพื่อนยังบอกว่ายัง ๆ  ต้องรอคัดเลือกมีขั้นตอนอีกสักพัก
ผมเลยถามเพื่อนผมถึง อ.หัสวุฒิ เป็นอย่างไรบ้าง แล้วบ้านของอาจารย์อยู่ทีไ่หน
เพื่อนบอกว่า อาจารย์ป่วยหนักเข้าใจว่าเป็นมะเร็ง บ้านอาจารย์อยู่แถวลำลูกกา
ผมเอ่ยปากชวนเขาไปเยี่ยม เพราะถ้าในสมัยที่อาจารย์รับตำแหน่งประธานศาลปกครอง ผมก็คงไม่กล้าไปเหมือนกันเพราะกลัวเข้าข่ายที่คนไทยชอบเรียกกันว่า เชลียและสอพลอ แต่วันนี้อาจารย์หมดอำนาจวาสนา
ทุกอย่างแล้วคงอยู่แบบเงียบๆ ผมก็เลยเอ่ยปากชวนเพื่อนผม แต่เขาไม่กล้าไปเพราะอาจารย์เป็นผู้ใหญ่มาก
หรืออาจารย์อาจจะป่วยหนักมากจนไม่อยากให้ใครเห็น  ผมเองถ้าหากไม่มีเพื่อนไปด้วย ผมก็ไม่แน่ใจว่า
ครอบครัวของอาจารย์จะให้เข้าเยี่ยมหรือไม่

ในที่สุดวันนี้ก็ทราบว่าอาจารย์หัสวุฒิก็จากไปแล้ว ผมเขียนขึ้นมาด้วยความระลึกถึงอาจารย์และโลกธรรม 8 ที่อาจารย์ได้รับ เกมส์ชีวิตเกมส์แห่งโลกจบแล้วครับอาจารย์ เสียดายว่าอาจารย์ไม่ได้เขียนบันทึกความทรงจำอะไรกับโลกธรรม 8 ที่อาจารย์ได้เจอในระบบศาลและตุลาการที่ชาวบ้านทั่วไปควรได้รับรู้รับทราบเป็นMemoir Writing  ให้คนรุ่นหลังได้รับทราบ

ถึงแม้ว่าผมจะเป็นลูกศิษย์ปลายๆ แถว แต่ผมก็รู้สึกมีความผูกพันธ์กับอาจารย์ทุกคน
ขอให้ดวงวิญญาณของอาจารย์ไปสู่สุคติครับ ถึงแม้ผมไม่ได้เป็นตุลาการศาลปกครองไม่มีอำนาจวาสนา
อะไร แต่ผมก็เป็นพลเมืองที่ดีกับสังคมไทย ผมหวังว่าถ้าหากผมได้มีโอกาสคุณกับอาจารย์ก่อนอาจารย์จะสิ้นชีวิต อาจารย์คงจะภูมิใจในตัวของผมบ้างครับ

ร่างอันไร้วิญญาณทิ้งไว้แต่คุณความความดีในการประสิทธิ์ประสาทความรู้และความยุติธรรมให้กับสังคมไทย ขอเชิญลูกศิษย์และผู้เคารพนับถือไปร่วมรดน้ำศพที่วัดเทพศิรินทร์ทราวาส ศาลสุวรรณวนิชกิจ (ศาลา 14)  ในวันที่ 16 เม.ย. เวลา 17.00 น.

ชีพธรรม คำวิเศษณ์
ลูกศิษย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ พ.ศ.2535


ความคิดเห็น