เรียนรู้พลังงานจากญี่ปุ่น แสงแดดร้อนแรงของประเทศไทยแปลงเป็นเงินและพลังงาน


ผู้เขียนหน้าโรงงานไฟฟ้าคาวาซากิ


ปลายเดือนกุมภาพันธ์  2559  หมู่บ้าน อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ผมบึ่งมอเตอร์ไซค์คันเก่ง
ไปเรียนและซ้อมมวยไทยกับ อาจารย์กนก ไตรพรหม ครูมวยไทยที่เดินทางไปสอนศิลปะมวยไทยให้กับชาวต่างชาติมาแล้วทั่วโลก  

แสงแดดเมืองไทยกำลังเข้าหน้าร้อน ระอุแรงเผาดั่งเพลิง แม้กางร่มแล้วยังทนกันไม่ค่อยได้ ต้องหาที่กำบังลดความร้อน  ค่ายมวยไทยของอาจารย์กนกอยู่ในบ้าน ซึ่งบริเวณรอบบ้านนั้นเต็มไปด้วยทุ่งนา
ที่ไม่สามารถทำนาได้มาแล้ว 2 ปีเพราะความแห้งแล้ง แสงแดดยามกลางวันร้อนแบบรุนแรงมาก
ชาวบ้านเมื่อไม่สามารถทำนาและการเกษตรได้ ก็หันไปทำอาชีพเสริมด้วยการเผาถ่านและเลี้ยววัว ขายปุ๋ยอันได้มาจากขี้วัวและเลี้ยงปลาบ้าง เพื่อให้มีรายได้มาเจือจุนครอบครัว

ผมเองก็เหมือนกับคนไทยทั่วไปครับ หลบแดดหนีเข้าที่กำลังหลบความร้อน ตอนที่ไปทำงานที่ภูเก็ต ปลายปี 2557 มีการแข่งขันเอเชี่ยนบีชเกมส์ เห็นฝรั่งรัสเซีย นอนอาบแดดกันแต่เช้าที่โรงแรม คนไทยอย่างพวกผมหลบแสงแดดอยู่ใต้ต้นไม้  คนไทยนี่กลัวแสงแดดกันจริงๆ

ในฐานะอาจารย์สอนโซเชียลมีเดียและที่ปรึกษาโครงการประชาสัมพันธ์ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้รับเชิญจากกรมพัฒนาพลังงานฯ ให้ไปดูงานและศึกษาความก้าวหน้าของ
การอนุรักษ์พลังงานของประเทศญี่ปุ่น ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้ความคิดและชีวิตของผมเปลี่ยนไปในเรื่องของสายลมและแสงแดด

คณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมฟาร์มโซล่าเซลล์



พฤหัสบดี 17 มีนาคม 2559 Kawasakit City’s Mega Solar Plants  โรงเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ของเมืองคาวาซากิใกล้กับสนามบินฮาเนดะ อากาศเย็นมากประมาณ 10 องศา แสงแดดไม่แรงมากนัก แต่ก็ไม่ทำให้ผมอุ่นได้ แถมลมยังพัดแรง
คณะกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พร้อมกับสื่อมวลชน ได้นัดหมายกับทางโรงงานเพื่อเข้าไปขอดูการบริหารจัดการพลังงานแสงอาทิตย์ และการจัดการขยะ  เจ้าหน้าที่ได้นำคณะของเราเดินเข้าไปผ่านประตูสองชั้นไปถึงแผงพลังงานเก็บแสงอาทิตย์ บริเวณพื้นที่วางแผนโซลาร์เซลล์รับพลังงานแสงอาทิตย์เนื้อที่กว้างใหญ่มาก แสงอาทิตย์สาดแสงมายังโลกแค่ไหน เจ้าแผงพวกนี้เก็บหมดนำไปเป็นพลังงานให้กับชาวญี่ปุ่นได้เป็นพลังงานไฟฟ้าต่อไป

Google Map โรงไฟฟ้าคาวาซากิ
https://goo.gl/maps/xyNtbbYLd3H2





แผ่นพับแจก  Kawasaki City's Mega Solar Plants


ผู้เขียนกับเจ้าหน้าที่ชาวญี่ปุ่น


ณ ที่นั้นทำให้ผมนึกถึงหมู่บ้านสร้างเค็ม อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา และประเทศไทยของเรา
แสงแดดร้อนแรงกว่าญี่ปุ่นไม่รู้กี่เท่า  เราปล่อยแสงแดดทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ โดยไม่เห็นคุณค่า
ผมเองมีความคิดแผลงๆ ส่วนตัวว่า ถ้าหากหมู่บ้านไหน ทำนาไม่ได้ น่าจะเอาแผงโซล่าเซลล์
ไปรับพลังงานแสงอาทิตย์ซะเลย แล้วขายเป็นพลังงานไฟฟ้า ไม่ต้องไปเผาถ่านกัน
แต่ก็เป็นเพียงแค่ความคิดนะครับ ก็คงจะต้องถามในรายละเอียดว่าในทางปฏิบัติถ้าหากทำเป็นธุรกิจแล้วต้องทำอย่างไรบ้าง แล้วไปขายให้กับใคร

ดร.รุ่งฤดี บุญสู่ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

ผมนำเอาข้อสงสัยที่อยากทราบไปถามกับ ดร.รุ่งฤดี บุญสู่ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งได้เดินทางไปกับคณะด้วย เมื่อกลับไปที่พักผมเก็บข้อสงสัย
ถามเลย
“ดร.ครับพี่ถามหน่อย แดดญี่ปุ่นกับแดดเมืองไทย แดดไหนมีคุณภาพมากกว่ากัน” ผมถาม ดร.
ว่าแล้ว ดร.ก็หยิบคู่มือเล็กๆ ขึ้นมาให้ชมแล้วทำเล่าถึงทำการเปรียบเทียบ
“เฮ้ย ต้องมีคู่มือขนาดนี้เลยหรือ ดร.”
“ใช่เลยพี่ เดี๋ยวหนูเช็คให้”
นิ้วชี้ของ ดร.รุ่งฤดี วิ่งวนไปมาสักพัก เธอเป็น ดร. จบจาก มหาวิทยาลัย นเรศวร แต่ไปฝึกทำงานวิจัยที่เยอรมนีถึง 1 ปีเต็ม
“ได้คำตอบแล้วพี่ แดดเมืองไทยคุณภาพดีกว่าเยอะ”
ผมขอหยิบคู่มือเล็กๆ  มาดูเป็นเอกสารตัวเลขเปรียบเทียบก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่
ดร.รุ่งฤดีเล่าให้ฟังว่า ในประเทศไทย ก็มีหลายบริษัทที่ทำธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ขาย
แต่ยังอยู่ในบริษัทใหญ่ ๆ  โดยจะขายพลังงานไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์


แสงอาทิตย์มีคุณค่าดั่งทองคำจริงๆ ครับ ท่านใดสนใจก็คงต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับธุรกิจพลังงาน
ผมเองก็กำลังสนใจอยู่ ในใจนึกอยากจะไปเช่าที่นาว่างๆ  ที่ทำนาไม่ได้ เอาแผงรับโซล่าเซลล์ไปตั้งเพื่อขายพลังงานแบบญี่ปุ่นจริงๆ   

ท่านใดที่สนใจเรื่องพลังงานทดแทนลองเข้าไปในเว็บไซค์กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ www.dede.go.th

ชีพธรรม คำวิเศษณ์


 ป้ายให้ข้อมูลพลังงานที่นำไปใช้ในสวนสาธารณะ



แผนที่ของกรุงโตเกียว บอกถึงพลังงานที่นำไปใช้





ความคิดเห็น