มาฆบูชา 2559 รำลึกถึงสมเด็จพุฒาจารย์ อาจ อาสภมหาเถระ ว่าที่สังฆราชผู้เคยถูกจับสึก

พระพิมลธรรม เมื่อครั้งถูกจับสึก

ความร้ายในโลกล้วน  เหลือหลาย
รุมรอบรบกวายใจ   เกลื่อนแท้
สิ่งอื่นจักหักหาย  หาห่อน มีฤา
เว้นแต่ความดีแก้ กลับร้ายกลายดี
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ)




วันนี้เป็นวันมาฆบูชา 2559 ตรงกับวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์  ผมเปิดเครื่องแม็คขึ้นมาเพื่อบันทึกความทรงจำในชีวิตและวันนี้รู้สึกคิดถึงพระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถระ) หรือ ถ้าตำแหน่งที่อย่างเป็นทางการของท่านจริงๆ ก็คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์อาสภมหาเถระ  ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
2531-2533 ผู้นำวิปัสสนากรรมฐานเข้าสู่ประเทศไทย


ทำไมผมถึงอยากเขียนเรื่องนี้เป็นความทรงจำของผมที่อยากให้ท่านผู้อ่านรู้ว่าการวิปัสสนากรรมฐานและการศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทยที่เราปฏิบัติธรรมกันนั้นรากฐานมาจากใคร ท่านใดที่เคยไปปฏิบัติธรรมที่คณะ 5 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพฯ โดยมีพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ)  , หลวงปู่ทอง สิริมังคโล วัดพระธาตุศรีจอมทอง​ , หลวงพ่อจรัญ  ฐิติธัมโม แห่งวัดอัมพวัน สิงห์บุรี หรือแม้แต่สำนักวิปัสสนากรรมฐาน เช่นวัดรำ่เปิง (ตโปทาราม) จ.เชียงใหม่ หรือที่ใดก็ตามในประเทศไทยล้วนมาจากการวางรากฐานด้วยการเชิญพระวิปัสสนาจารย์มาจากประเทศพม่า ตามคำนิมนต์ของ พระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถระ) ซึ่งในบทความนี้ผมของเรียกท่านว่าสมเด็จอาจ ผู้ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาว เคยถูกจับสึก แต่ท่านไม่ยอมสึกนุ่งขาวหุ่มขาว ถูกขังอยู่ถึง 5 ปี ที่สันติบาล  สิ่งที่เขียนนี้บันทึกจากความทรงจำของผมที่มีต่อท่านแม้ว่าผมจะไม่ได้เป็นลูกศิษย์ของท่านโดยตรง


หลวงปู่ทองกับผู้เขียน เมื่อครั้งเป็นเด็กวัด ภาพถ่ายปี 2533



ย้อนเวลากลับไปต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2531 ช่วงเวลานั้นผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 4 โรงเรียนยุพราช จังหวัดเชียงใหม่ ผมไปเป็นเด็กวัดรับใช้หลวงปู่ทอง สิริมังคโล เจ้าอาวาสวัดรำ่เปิง (ตโปทาราม) เป็นวัดสอนวิปัสสนากรรมฐานในจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ไม่ไกลสนามบินจังหวัดเชียงใหม่ และอยู่ด้านหลังไม่ไกลห่างจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประมาณ 3-4 กิโลเมตร ซึ่งพ่อกับแม่ผมเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ทอง
ผมจำได้ว่า หลวงปู่จะไปวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ผมก็ไม่ได้ทราบข้อมูลอะไรมากนัก เพียงแต่เป็นลูกศิษย์ติดตามไปรับใช้ ซึ่งที่ผมตื่นเต้นไม่ใช่การไปกรุงเทพฯหรือวัดมหาธาตุฯ แต่เป็นเรื่องที่ผมจะได้นั่งเครื่องบินเป็นเครื่องแรกในชีวิต  


เที่ยวบินนั้นเป็นเวลากลางคืนนั่งเครื่องบินไม่เห็นอะไรเลย แต่ก็ตื่นเต้นเพราะเพียง 1 ชั่วโมงก็ถึงกรุงเทพฯแล้ว ในที่สุดผมก็มาถึงวัดมหาธาตุฯ หลวงปู่และลูกศิษย์ตรงไปที่ คณะ 1 วัดมหาธาตุฯ เป็นกุฏิของเจ้าอาวาส  หลวงปู่ได้เข้าไปกราบสมเด็จอาจ ผมก็ได้เข้าไปกราบด้วย แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ศึกษาประวัติชีวิตของท่านแบบละเอียดก็เป็นเพียงแค่เด็กวัดติดตามไปเท่านั้น


ผมทราบมาว่าหลวงปู่ให้ความเคารพนับถือท่านสมเด็จอาจมาก เพราะท่านเป็นผู้นำวิปัสสนากรรมฐานเข้ามาในประเทศไทย  ในปี พ.ศ.2496 หลวงปู่ทองตอนนั้นยังเป็นบวชพระประมาณ 10 พรรษาได้รับคัดเลือกจากคณะสงฆ์เชียงใหม่ให้มาศึกษาวิปัสสนากรรมฐานที่วัดมหาธาตุฯ และจากนั้นหลวงปู่ทองก็ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศพม่าเป็นเวลา 2 ปี แล้วกลับมาเปิดสำนักวิปัสสนากรรมฐานที่วัดเมืองมาง พร้อมกับการสอนอภิธรรมบัณฑิต ไปพร้อมๆ เรียกได้ว่าสอนเรื่องจิตล้วนๆ ทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ


หลังจากนั้นผมก็ได้มีโอกาสไปร่วมการปฏิบัติธรรมพระวิปัสสนาจารย์ซึ่งจะมีการจัดโดยกำหนดจุดในการปฏิบัติธรรมประมาณ 1 เดือน   ช่วงที่พระพิมลธรรมได้รับตำแหน่งเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  ที่จังหวัดเชียงใหม่มีการสร้างวัดสมเด็จดอยน้อย ตั้งอยู่ใน อำเภอแม่ริม ถวายเป็นเกียรติแก่ท่านและได้นิมนต์ท่านมาด้วย


วันหนึ่งซึ่งจำไม่ได้ค่อยได้แล้วว่าทำไมผมจึงสนใจอยากทราบประวัติของสมเด็จอาจ ก็ได้ทราบว่าท่านเป็นชาวจังหวัดขอนแก่น เข้ามาเรียนเปรียญธรรม จนกระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค เคยแปลคัมภีร์วิสุทธิมรรค เคยเป็นเจ้าอาวาสวันสุวรรณาราม พระนครศรีอยุธยา เป็นสังฆมนตรี เคยไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกา ,เคยร่วมสังคายนาพระไตรปิฏกที่ประเทศพม่า ในราว พ.ศ. 2500 ครั้งนั้นได้สมเด็จเกี่ยววัดสระเกศ จากที่เคยทราบก็ได้เดินทางไปด้วยเช่นกัน ความเก่งในการบริหารพระศาสนาทำให้เป็นเดอะสตาร์ก็ว่าได้ หลังจากที่กลับจากประเทศไทยจีน ก็โดนจับสึกในข้อหาคอมมิวนิสต์สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ขนาดว่าผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชมีชีวิตโลดโผนเคยโดยจำสึกมาด้วย
และท่านไม่ยอมลาสิกขา ถูกจับขังอยู่ในสันติบาลถึง 5 ปี  ตอนนั้นผมก็สงสัยอยู่ในใจคนเดียวก็ไม่กล้าถามหลวงปู่เหมือนกันว่า ทำไมไม่มีใครไปช่วยท่านได้บ้างเลยหรือ


ผมก็ค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อย อ่านหนังสือประวัติของท่านบ้าง จากคำบอกเล่าบ้าง ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ เห็นความไม่สามัคคีในวงการคณะสงฆ์ ไม่รู้จะเป็นเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเปล่า คนที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจับสึกท่านครั้งนั้น มีอันเป็นไปหมด แม้กระทั่งถ้าท่านลองไปศึกษาดูให้ดี จะมีสมเด็จพระสังฆราชราชองค์หนึ่งของประเทศไทยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ให้ปี พ.ศ. 2514  


ท่านถูกคุมขังไว้ที่สันติบาลเป็นเวลาถึง 5 ปี และภายหลังศาลทหารก็ได้ทำการยกฟ้องให้ท่านพ้นจากข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์ ท่านก็ได้กลับมาดำรงสมณะเพศ เหมือนเดิม ที่วัดมหาธาตุฯ แต่ก็ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรในการบริหารอะไร ในที่สุด พ.ศ. 2518 รัฐบาลสมัย มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ทำการขอขมาและอโหสิกรรมต่อสมเด็จอาจพร้อมกับคืนสมณศักดิ์ พระพิมลธรรม ให้กับท่าน  จากนั้นท่านก็ปฏิบัติศาสนกิจเรื่อยมาจนกระทั่งได้สมณะศักดิ์สูงสุดในคณะสงฆ์ก็คือสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในเวลานั้นท่านควรจะได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นได้เพียงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช


และในปลายปี พ.ศ.2532  ท่านได้ถึงแก่มรณภาพลงอย่างสงบ   ไม่น่าเชื่อในชีวิตของผมในวันพระราชทานเพลิงศพที่วัดเทพศิรินทราวาส ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2533 ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพของท่านด้วย นั่นก็เป็นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมได้ศึกษาชีวิตของท่าน

หนังสือผจญมาร



มีเรื่องแปลกอีกประการครับ เหตุการณ์ผ่านมาหลายปี ในเดือนพฤศจิกายน 2547 ผมไปรับเสื้อสูทที่ได้ตัดไว้แถววัดมหาธาตุฯ และผมก็ได้เดินเข้าไปในวัดมหาธุาตุฯ แปลกมากวันนั้นเป็นวันทำบุญครบรอบอายุ 101 ปีที่ ศิษยานุศิษย์ได้จัดทำบุญอุทิศให้กับท่านในวันนั้นผมก็ได้หนังสือมาหนึ่งเล่ม
ชื่อหนังสือว่า  ผจญมาร และมีบทกลอนที่สมเด็จอาจได้ทรงนิพนธ์ขึ้นว่าด้วยเรื่องผจญมารของท่าน


ความร้ายในโลกล้วน  เหลือหลาย
รุมรอบรบกวายใจ   เกลื่อนแท้
สิ่งอื่านจักหักหาย  หาห่อน มีฤา
เว้นแต่ความดีแก้ กลับร้ายกลายดี
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ)


เขียนรำลึกถึงสมเด็จอาจด้วยความเคารพยิ่ง


ชีพธรรม คำวิเศษณ์





คลิปประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)

ความคิดเห็น