ชวนเที่ยวแบบแคมปัสทัวร์เปลี่ยนสถาบันการศึกษาประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว



     ตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


จันทร์ 23 มีนาคม 2558 ตื่นเช้ามาผมเปิดอีเมลขึ้นมาอ่านข้อความว่า ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์ สาขาศาลาพระเกี้ยวจะทำการเปิดอย่างเป็นทางการหลังจากปรับปรุงมาหลายเดือน ในฐานะที่ผมเป็นสื่อสารมวลชนสัมภาษณ์แนะนำหนังสืออกทางรายการวิทยุ บางครั้งก็ไปให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียบ้างและที่สำคัญผมเป็นลูกค้าของศูนย์หนังสือจุฬาฯ ที่ได้รับความสะดวกอย่างมากในการซื้อหนังสือ


เซลฟี่กับตึกจักรพงษ์ 


หลังจากพิธีเปิดอย่างเป็นทางการจบลง ผมก็ไปนั่งทานก๋วยเตี๋ยวกับคุณทรงยศ สามกษัตริย์ ผู้จัดการศูนย์หนังสือจุฬาฯ ที่โรงอาหาร คุยกันออกรสชาติในเรื่องต่างๆ  แลกเปลี่ยนกัน หลังจากนั้นก็ร่ำลา ความตั้งใจของผมจะมุ่งหน้าไปที่คณะศิลปศาสตร์ เพื่อลองค้นหาโน้ตเพลงไทย ระหว่างที่ผมเดินออกมามุ่งหน้าไปคณะศิลปศาสตร์ซึ่งอยู่อีกฝั่งเดียวกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  ระหว่างที่เดินอยู่นั้นใจของผมคิดย้อนอดีตไปเมื่อปี พ.ศ. 2551 เมื่อครั้งไปเที่ยวมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด , เอ็มไอที ,โคลัมเบีย , วาร์ตันสคูล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ มหาวิทยาลัยเหล่านี้มีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าแคมปัสทัวร์ คือการท่องเที่ยวแบบการศึกษาคือเดินพาเที่ยวในมหาวิทยาลัย โดยมีนักศึกษาเป็นผู้พาเดินชมพร้อมกับเล่าถึงความเป็นมาของตึกสถานที่ ห้องสมุด ประว้ติศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังมหาวิทยาลัย ตัวอย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นักศึกษาได้ชี้ไปที่ตึกแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแล้วบอกว่าตึกนั้นเคยเป็นที่พักของอดีตประธานาธิบดี แฟรงคลิน รูสเวลท์ เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาอยู่

                    ผู้เขียนแคมปัสทัวร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด                               

 

วัฒนธรรมการท่องเที่ยวสถาบันการศึกษาเป็นที่ชื่นชอบของครอบครัวชาวอเมริกันและสิ่งที่ผมเห็นกับตาก็คือที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมีนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้พานักเรียนในวัยประถมมัธยมเดินเที่ยวกับเต็มไปหมด ถ้ามองในเชิงธุรกิจได้เงินเข้าประเทศด้วย มหาวิทยาลัยขายของที่ระลึกได้ เป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยไปด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่มีวัฒนธรรมการท่องเที่ยวแบบแคมปัสทัวร์ซึ่งผมเองอยากเสนอให้มีขึ้นในประเทศไทยของเรา




พระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล


อากาศวันนั้นที่จุฬาฯค่อนข้างร้อน ผมเองก็ไม่ใช่ศิษย์เก่า เมื่อนึกขึ้นถึงแคมปัสทัวร์แล้วก็ลองทำตัวเป็นนักท่องเที่ยว ถึงแม้จะร้อนแต่ต้นไม้ภายในสถาบันค่อนข้างเยอะ  เดินจากศาลาพระเกี้ยวมาได้นิดนึง
ผมเห็นตึกจักรพงษ์ ชักภาพออกมาเซลฟี่หน่อย ผมนึกในใจว่า “ตึกนี้มีความสำคัญอย่างไรกับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์หรือเปล่าหนอ เพราะตึกสร้างในปี พ.ศ. 2497  คงต้องมีแน่นอนแต่จะมีอย่างไรใครจะเป็นผู้อธิบายได้” ในที่สุดผมก็มาถามอาจารย์ประมุข หอประสาทสุข ท่านศิษย์เก่าภาควิชานิติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์ฯ ในช่วงปี 2514 “ตึกนั้นสมัยก่อนเป็นตึกทำกิจกรรมของนิสิตจุฬาฯ และมีบทบาทกับช่วง 14 ตุลาคมด้วย”    ผมหยิบเจ้าของไอพอดทัชขึ้นมาถ่ายเซลฟี่ตัวเอง ทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวจินตนาการเหมือนเที่ยวมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ

 ความเขียวในฤดูร้อนเหมาะกับแคมปัสทัวร์


จากนั้นก็เดินลัดเลาะเดินไปอีกนิดเห็นหอประชุมจุฬาลงกรณ์ ฯ  เดินตัดออกไปที่สนามฟุตบอลแวะเคารพพระบรมรูป 2 รัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานและองค์อุปถัมถ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาล้ย ซึ่งในปี พ.ศ.2559 จุฬาลงกรณ์จะมีอายุครบรอบ 100 ปี   ผมเดินลัดเลาะไปเรื่อยๆ ชมพิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ตึกคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งดูคล้ายกับวัด จริงๆ แล้วมีหลายคณะมากครับที่กระจายกันอยู่บริเวณนั้น คุณพ่อคุณแม่และนักเรียนน่าจะมาเดินเที่ยวเพื่อสร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้ได้เรียนในสถาบันการศึกษา

ก่อนหน้านี้ผมก็ได้มีโอกาสไปแคมปัสทัวร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่าพระจันทร์ สถานที่แห่งนี้ก็สวยงามไม่แพ้ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ทางการเมือง ที่หน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีสวนที่แสดงปฏิมากรรมประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการมีส่วนร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย


  พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ผมได้มีโอกาสไปเป็นอาจารย์ผู้สอนให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในหลายสำนักงานและอบรมให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในหลายจังหวัด ก็เลยอยากนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยวในประเทศไทยว่า
แคมปัสทัวร์เป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ถ้าหากวัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาแล้ว สถาบันการศึกษาก็ทำได้เช่นเดียวกัน ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวครับ โรงเรียนประถมและมัธยมก็สามารถทำได้เช่นกันเพราะโรงเรียนบางแห่งก็มีประวัติศาสตร์อย่างเช่นโรงเรียนปรินส์รอยแยลวิทยาลัยและโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ในจังหวัดเชียงใหม่ที่ผมเคยศึกษาเล่าเรียนมา  

  ปฏิมากรรมหน้าพิพิธภัณฑ์น่าถ่ายเซลฟี่มาก


มหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทยอย่างเช่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่วิวบรรยากาศสวยงามไม่แพ้ที่ใดในโลก พูดกันตรงๆ ไปเลย มหาวิทยาลัยที่ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวในสหรัฐอเมริกาสวยสู้มหาวิทยาลัยในเมืองไทยไม่ได้  มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สวยงามน่าเที่ยว หรือแม้แต่ในกรุงเทพ มหาวิทยาลัยสวนสุนันทนาก็น่าเที่ยวเพราะเคยเป็นวังของเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จสวรรคตแล้วก็ย้ายมาอยู่ที่แห่งนี้ และภายหลังได้เป็นมหาวิทยาลัย 


  อีกมุมของจุฬาลงกรณ์ใจกลางกรุงเทพมหานคร มาเดินเล่นพักผ่อน

ผมมองว่าการท่องเที่ยวเชิงการศึกษาน่าจะมาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยด้วย วิธีการทำไม่ยากเลยครับ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะมีศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยว ใครจะมาจากที่ไหนก็ตามมาที่นี่ทุกวันเวลา 10.00 น. จะมีนักศึกษาพาเดินชม

ปั่นจักรยานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผมมีความเชื่อว่าสถาบันการศึกษาในประเทศไทยก็มีมาตรฐานไม่แพ้ที่ใดในโลก เร็วๆ นี้ประชาคมอาเซียนก็กำลังจะเกิดขึ้น เราสามารถจะใช้การท่องเที่ยวเชิงการศึกษาเป็นแหล่งประชาสัมพันธ์การศึกษาของประเทศไทยดึงให้นักศึกษาต่างชาติมาเรียน และที่สำคัญเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ทางด้านการศึกษาของประเทศไทยให้ครอบครัวพ่อแม่ได้พาลูก ๆ เที่ยวสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาเหล่าเรียนของชีวิต


ถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาของไทยยังไม่มีการท่องเที่ยวแบบแคมปัสทัวร์อย่างเป็นทางการผมก็ขอเรียกร้องและเชิญชวนไปเดินเที่ยวกับครับ หรือถ้าสถาบันการศึกษาแห่งไหนมีอยู่แล้ว

ผมยินดีที่จะช่วยทำการประชาสัมพันธ์ผ่านรายการวิทยุและโปรโมทผ่านโซเชียลเน็ตเวริ์กของผมที่มีอยู่ครับ
แล้วออกไปเที่ยวแคมปัสทัวร์กันนะครับ ถ้าหากไปแล้วก็ถ่ายรูปส่งมาให้ชมกันบ้างครับผม

ชีพธรรม คำวิเศษณ์
Facebook : ชีพธรรม ไตร คำวิเศษณ์
Google+ : ชีพธรรม คำวิเศษณ์
Twitter @tri333
Instagram @tri333
Youtube : youtube.com/trimemory
 




                             ผู้เขียนพาชมมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบ้านเกิดของ Facebook.com



  
พาชมโรงเรียนกฏหมายมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด




แคมปัสทัว Harvard Business School (โรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด)

                                       

                                                         แคมปัสทัวร์สถาบันเทคโนโลยีเอ็มไอที

ความคิดเห็น