Social Media กับตามรอยนักโทษการเมืองกบฏบวรเดช ครบรอบ 80 ปีที่เกาะเต่า

เสียงโทรศัพท์มือถือดังขึ้น ผมกดรับสายทันที เสียงมาตามสายโทรศัพท์ “สวัสดีคะคุณไตร เตเต้นะคะ ทาง สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเกาะสมุย จะจัดอบรมโซเชียลมีเดียเพื่อการท่องเที่ยวให้กับผู้ประกอบการเกาะพะงัน กับเกาะเต่าคะ คุณไตรว่างไหมคะ จะขอเชิญไปบรรยายหน่อยคะ” แน่นอนครับว่าผมต้องดีใจอย่างแน่นอน เพราะได้ยินคำว่า เกาะเต่า คือสิ่งปรารถาที่สุดแล้วในการที่จะได้ไปย้อนดูอดีตร่องรอยของนักโทษการเมืองกบฏบวรเดช 2476 ซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองครั้งแรกของประเทศไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และเป็นต้นกำเนิดของความคิดทางการเมืองเสื้อแดงและเสื้อเหลืองในยุคของปัจจุบัน ซึ่งย้อนไปก่อนหน้านี้ผมเคยเดินทางไปตามรอยนักโทษการเมืองที่เกาะตะรุเตา จ.สตูล ซึ่งเป็นสถานที่พำนักของนักโทษการเมือง และเกาะเต่าเป็นสถานที่สุดท้ายของนักโทษการเมือง ก่อนจะได้รับนิรโทษกรรมในปี พ.ศ. 2487 ในสมัยรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ “ได้เลยครับ น้องเตเต้ พี่ไตรเช็คตารางดูแล้วว่าสามารถไปอบรมได้ ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง แล้วขอรายละเอียดการอบรมและการเดินทางด้วยนะครับ” หลังรับโทรศัพท์คงไม่ต้องบอกว่าผมดีใจแค่ไหนครับที่ การศึกษาตามรอยประวัติศาสตร์กบฏบวรเดช ได้มาถึงสถานที่สุดท้ายก็คือเกาะเต่าแล้ว จริงๆ ผมไม่อยากเรียกกบฏบวรเดชเลยครับ เพราะ ทุกวันนี้ยังมีลูกหลานของฝั่งที่เป็นกบฏ เขาจะรู้สึกอย่างไร แต่เหตุการณ์ผ่านมานานก็ทำให้ทุกอย่างคลายตัวลงไปแล้ว ด้วยความสนใจประวัติศาสตร์การเมืองของผมขอเรียนว่า ทั้งหมดทั้งสองฝ่ายเป็นบรรพบุรุษ ที่ต่อสู้กันทางการเมืองด้วยมุมมองคนละฝ่าย แต่การต้องสู้ต้องมีแพ้และชนะ ซึ่งสิ่งที่เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าฝ่ายที่แพ้ต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ ผมเองก็ไม่อยากจะเชื่อตัวเองเลยครับว่าผมจะมีโอกาสมายังเกาะเต่า เพราะตั้งใจจะมาหลายปีแล้วแต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้มาเยี่ยมถิ่นนี้สักที เคยสอบถามผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือกันที่ได้มีโอกาสมาอยู่เกาะเต่า สอบถามว่า ที่เกาะเต่านักโทษการเมืองอยู่ที่ไหน ท่านก็บอกว่าไปสอบเสาะสอบถามข้อมูลให้แล้วก็ยังไม่ได้ความเลย ผมก็เลยต้องพับแผนการเดินทางตามรอยไว้ครับ
From Social Media เพื่อการท่องเที่ยวเกาะเต่า
ที่ท่าเรือเกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฏ์ธานี ห่างจากแผ่นเกาะสมุยเดินทางด้วยเรือสปีดโบ๊ทลมพระยา ประมาณ 30 นาที มาถึงเกาะพะงัน แต่ถ้าเดินทางด้วยเรือเฟอร์รี่จากท่าเรือ อ.ดอนสัก ผมเคยนั่งรถ บขส. 999 จากกรุงเทพฯ มาเกาะพะงัน จากสถานีขนส่งสายใต้มาถึง ท่าเรือดอนสักตอน 7 โมงเช้า ต่อเรือเฟอร์รี่ ไปอีกเกือบ 3 ชั่วโมง เล่นเอางอมพระราม แต่ครั้งนี้ผมกำลังจะเดินจากเกาะพะงันไปเกาะเต่า ใช้เวลาเดินทางด้วยเรือสปีทโบ๊ต ของบริษัทลมพระยา ใช้เวลาเดินทางจากเกาะพะงันไปเกาะเต่าใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครับ แต่ถ้าเป็นเรือปกติใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง ข้อมูลนี้ได้ผู้เข้าอบรมที่เป็นเจ้าของโรงแรมในเกาะพะงันซึ่งท่านบอกว่า สมัยเป็นเด็กยายอยู่ที่เกาะเต่า ต้องเดินทางไปมาเสมอเดินทางครั้งหนึ่ง 3 ชั่วโมงกว่า ผมก้าวขึ้่นเรือสปีทโบ๊ตเพื่อจากเกาะพะงันไปยังเกาะเต่า บนเรือมีแต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เกือบจะทั้งหมด เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อจะไปดำนำ้ที่เกาะนางยวนและเกาะเต่า ผมขึ้นไปนั่งที่นั่งบนดาดฟ้าของเรือเพื่อจะชมความงดงามของท้องน้ำและธรรมชาติอ่าวไทย ทะเลสีฟ้าครามสวยมาก ระลอกคลื่นพริ้วไหมไปตามแรงของลมกระเพื่อมไม่มีหยุดยิ่ง เรือวิ่งทำความเร็วออกไปฝ่าคลื่น กว่าจะเห็นวิวของเกาะเต่าจากเรือใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง เมื่อเห็นวิวของเกาะเต่าผมทำให้ผมนึกถึงนักโทษการเมืองกบฏบวรเดช 2476 ซึ่งทั้งหมดถูกส่งมาอยู่เกาะเต่าแห่งนี้ จะมีนักท่องเที่ยวสักกี่คนที่รู้ว่า สวรรค์ของการดำน้ำที่เกาะเต่านั้น ในอดีตเป็นที่ขังคุกของนักโทษการเมืองประชาธิปไตยเมื่อ 80 ปีที่แล้วและเป็นดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นเกาะนรก ผมมองออกไปยังท้องฟ้าและน้ำทะลย้อนเวลานึกกลับไปเมื่อ 70 ปีที่แล้วว่า คุกนักโทษการเมืองจากเกาะตะรุเตา จ.สตูล อยู่ฝั่งอันดามัน เดินทางมายังเกาะเต่า จ.สุราษฏ์ธานี ไม่ใช่ของใกล้ๆ เลย นี่ขนาดใน ปัจจุบัน ยังเดินทางมายากลำบากคนไทยยังมากันไม่มาก และในอดีตจะยากขนาดไหนเดินทางกันคงทรหดอดทนมาก ผมเคยอ่านหนังสือที่เคยเขียนถึงการเดินทางมายังเกาะเต่าของ สอ เสถบุตร ผู้สร้างดิกชั่นนารี อังกฤษ-ไทย ซึ่งได้เขียนขึ้นระหว่างที่เป็นนักโทษการเมือง สอ เล่าให้ฟังว่า ในหนังสือ ลิขิตชีวิต สอเสถบุตร การย้ายนักโทษการเมืองออกจากเกาะตะรุเตา เพราะขาดแคลนอาหารอยู่ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ออกเดินทางจากเกาะตะรุเตาไปยังเกาะเต่า นักโทษการเมือง 35 คนในขณะนั้น ต้องเดินทางมาขึ้นรถไฟที่ อ.กันตัง จ.ตรัง แล้วโดยสารรถไฟมาลงที่สุราษฏ์ธานี จากนั้นก็เดินทางด้วยเรือมาที่เกาะเต่า ผมนึกในใจเลยครับว่า การเดินทางเมื่อ 70 ปีที่แล้วจะใช้เวลานานขนาดไหนก็ยังไม่มีบันทึกที่รู้ได้ เรือวิ่งมาถึงผมเห็นเกาะเต่าชัดเจนด้วยสายตา เห็นโขดหินสลับกับภูเขาสูง มีรีสอร์ตที่พักสลับอยู่ตามหน้าผา น่าไปพักชมธรรมชาติ เรือสปีทโบ๊ตกำลังวิ่งเข้าเทียบเกาะนางยวน ซึ่งในตอนแรกผมคิดว่าเป็นเกาะเต่า เกาะนางยวน สวยจริงๆ งดงาม มากหาดทรายสีขาวทอดยาวเชื่อมเกาะสองเกาะเข้าด้วยกันสามารถเดินข้ามไปหากันได้ เรือจอดให้นักท่องเที่ยวได้ลงเข้าไปเยี่ยมชมจากสายตาของผมมีนักท่องเที่ยวลงที่นี่ไม่ต่ำกว่า 200 คนครับ เรือแวะมาส่งนักท่องเที่ยวที่เกาะนางยวนจากนั้นจะวกกลับไปส่งที่เกาะเต่า ซึ่งถ้าหากใครมาพักที่เกาะเต่าแล้วจะไปเที่ยวเกาะนางยวนใช้เวลาเดินทางเพียง 5-10 นาที โดยเรือสปีทโบ๊ตเท่านั้นครับ
From Social Media เพื่อการท่องเที่ยวเกาะเต่า
เรือสปีตโบ๊ทลดความเร็วเหลือวิ่งเอื่ยๆ กำลังเข้าเทียบท่าเรือเกาะเต่า นักท่องเที่ยวกำลังทะยอยลงจากเรือเพื่อไปยังจุดต่าง ๆ ของเกาะ การเดินทางมาเกาะเต่ามาได้ 2 ทาง ทั้งจังหวัดชุมพร และจากเกาะพะงันครับ เมื่อมาถึงได้พบกับคุณรำลึก อัศวชิน เจ้าของโรงเรียนสอนดำน้ำ แบน เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 (พ.ศ.2536) ซึ่งมีนักดำน้ำมาเรียนกับโรงเรียนของเธอตั้งแต่ก่อตั้งมาแล้วกว่า 1 แสนคน หลังจากแนะนำตัวเองได้รู้จักกันแล้วผมก็ได้สอบถามเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเกาะเต่าว่ายังมีร่องรอยของนักโทษการเมืองของเกาะเต่าอยู่บ้างหรือไม่ เธอก็บอกว่าตอนเย็นจะพาไปชม การอบรมโซเชียลมีเดียเพื่อการท่องเที่ยวจัดขึ้นที่โรงแรมของเธอ มีผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วเกาะเต่าเกือบหนึ่งร้อยท่านมาเรียนด้วย
From Social Media เพื่อการท่องเที่ยวเกาะเต่า
From Social Media เพื่อการท่องเที่ยวเกาะเต่า
เวลาบ่ายโมงผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเกาะเต่าเริ่มเข้ามาลงทะเบียนเรียน ผู้ประกอบการที่นี่กระตือรือล้นกับความรู้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนำมามอบให้โดยผมเป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบในการสอน ทุกคนล้วนมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่ง เขาเหล่านี้มีความเป็นนักการตลาดท่องเที่ยวระหว่างประเทศสูงมากๆ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ผมได้เน้นให้ได้เรียนรู้การใช้ Twitter เพื่อประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายของสื่อสารมวลชนด้านการท่องเที่ยวระดับโลกเช่น @lonelyplanet ซึ่งเป็นไกด์บุ๊คคู่มือนำเที่ยวที่มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน ผมให้ลองทำแบบฝึกหัดส่งภาพประชาสัมพันธ์เกาะเต่าเพื่อให้ @lonelyplanet ทำการรีทวีติส่งต่อไปยังผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน เพื่อจะได้เห็นภาพที่วิวที่สวยงามและเผื่อเป็นช่องทางที่จะทำให้ได้ลูกค้าใหม่ในอนาคต จากนั้นก็ได้สอนเรื่อง Instagram และการตรวจสอบดูภาพจากนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเกาะเต่าผ่าน แฮชเทค #kohtao ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพวิวของเกาะเต่าผ่านอินสตาแกรมกว่า 5 หมื่นภาพ ซึ่งนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นผู้ประชาสัมพันธ์ให้กับเกาะเต่าได้เป็นอย่างดีครับผ่านโลกของโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้ประกอบการของเกาะเต่าก็ได้เห็นโลกใหม่บนโซเซียลมีเดียที่ซ้อนกันอยู่กับโลกปัจจุบัน เป็นภาพของเก่าเต่าในมุมมองใหม่ ๆ หลังจากอบรมเสร็จทาง พี่สายโพยม ผอ.ททท.เกาะสมุย และคุณรำลึก ก็ได้พาผมไปชมร่องรอยของประวัติศาสตร์นักโทษการเมืองเกาะเต่าย้อนเวลาไปเมื่อ 80 ปีที่แล้ว
From Social Media เพื่อการท่องเที่ยวเกาะเต่า
From Social Media เพื่อการท่องเที่ยวเกาะเต่า
รถแลนด์โรเวอร์วิ่งย้อนจากโรงเรียนดำน้ำแบนกลับไปที่ท่าเรือเกาะเต่า ก่อนถึงท่าเรือเล็กน้อยรถวิ่งเลี้ยวเข้าไปทางซ้ายเป็นบริเวณที่กว้างในรีสอร์ทขนาดกลาง เมื่อไปถึงได้พบกับคุณลุงณรงค์ ผมเข้าไปสวัสดีคุณลุงและสอบถามว่า บริเวณนักโทษการเมืองที่มาอยู่ที่คุกเกาะเต่าอยู่บริเวณไหนบ้าง “บริเวณนี้และครับ แถวนี้เป็นโรงครัวทั้งหมด” คุณลุงณรงค์บอกผมจากนั้นก็ได้ไปชม สิ่งที่เห็นเป็นกอหญ้าใหญ่ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น “แล้วเขาพักกันตรงไหนครับ” จากนั้นคุณลุงก็ชี้ไปที่บ้านของผู้คุมแล้วพาไปดูแนวรั้วกั้น “ความสูงขนาดไหนครับคุณลุง” ผมถาม “ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เห็นอยู่แค่นี้แล้ว”
From Social Media เพื่อการท่องเที่ยวเกาะเต่า
ในเมื่อผมมาถึงเกาะเต่าแล้ว สิ่งที่เห็นแทบไม่มีอะไรหลงเหลือให้เห็นแล้วเกี่ยวกับประวัติศาสตร์นักโทษการเมือง 2476 ทุกวันนี้เกาะเต่าเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ยกเว้นคนไทยครับ ผมอยากให้คนไทยเรามาเที่ยวกันเยอะ ๆ สิ่งที่ผมจะอธิบายให้เห็นภาพของเกาะเต่าเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ก็นำสิ่งที่ สอ เสถบุตร ได้เล่าไว้แล้วกันนะครับเผื่อภาพที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งจะขอสรุปจากหนังสือมานำเสนอครับ
From Social Media เพื่อการท่องเที่ยวเกาะเต่า
เกาะเต่าเป็นเกาะเล็ก ๆ โดดเดี่ยวอยู่กลางอ่าวไทย ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่โดยรอบ เมื่อมาถึงเกาะเต่า นักโทษมีข้อจำกัดเรื่องน้ำจืดมาก ในเดือนแรกที่ไปถึง พัศดีเพี้ยน อนุโรจน์ ผู้อำนวยการได้ปฏิบัติให้กับนักโทษการเมืองอย่างดี แต่เกาะเต่ามีข้อจำกัดเรื่องอาหารการกินมาก นักโทษร่างกายผ่ายผอมเพราะขาดอาหารและบางส่วนเป็นโรคไข้จับสั่น นักโทษการเมืองต้องทำงานหนักและได้รับเชื้อไขััป่าและไข้จับสั่น ภายในหกสัปดาห์มีนักโทษการเมืองเสียชีวิตไปถึง 6 คน ที่ต้องสิ้นชีวิตบนเกาะเต่า คนแรกคือ ร้อยเอกหลวงจักรโยธิน (ม.ล.บุษ อิศรางกูร ณ อยุธยา) , พระแสงสิทธิการ (ท่านเป็นคุณพ่อของ นายแพทย์อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข) , อำ่ บุญไทย นักหนังสือพิมพ์เจ้าของนามปากกา แม่น้ำโขง , สิบโทศาสตร์ คชกุล , หลวงโจมพลล้าน อดีตผู้บังคับการตำรวจจังหวัดเพชรบุรี และ เผื่อน ปุณฑนิก
From Social Media เพื่อการท่องเที่ยวเกาะเต่า
ระหว่างนั้น ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน์ และ ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ประสบเมื่อแรกไปถึงเกาะเต่าน้ำ ทำให้เขาตกใจแทบสิ้นสติ เพราะเป็นภาพของเมืองนรกบนโลกมนุษย์อย่างแท้จิรง แทบทุกคนผมจนมีแต่หนังหุ้มกระดูก หน้าซีดเซียว แววตาแห้งแล้งอิดโรย บางคนนั่งกอดเข่าห่มผ้า ตัวสั่นสะท้าน บางคนก็ดิ้นทุรนทุรายผ้าผ่อนหลุดลุ่ย ปากก็พร่ำเพ้อตะโกนเอะอะโวยวายด้วยผิดขึ้นสมอง บางคนก็อาเจียนเปื้อนเปอระบริเวณที่นอนอยู่ บางคนก็นั่งซื่อดวงตาเหม่อลอย บางคนก็นอนขดห่มผ้าตัวสั่นราวกลับลูกนก ผู้มาใหม่ทั้งสองสำนึกทันทีว่าตนได้ถูกส่งเข้ามาอยู่ในแดนแห่งความตายร่วมกับนักโทษการเมืองในคดี กบฏ พ.ศ.2476 สอ เสถบุตร ได้บันทึกไว้ว่าบนเกาะเต่ามีผลไม้ป่า ขึ้นอยู่ทั่วมีทั้งเงาะ มะไพ มะพูด มะปราง ฯลฯ แต่เปรี้ยวทานไม่ได้ แต่มะละกอที่อยู่บนเกาะเป็นพันธุ์ฮาวายหวานอร่อย กล้วยป่าก็มีขึ้นอยู่มากมาย เมื่อทานแล้วไม่ค่อยได้เพราะมีเมล็ดมาก
From Social Media เพื่อการท่องเที่ยวเกาะเต่า
ต่อมาได้มีการออกกฏหมายนิรโทษกรรมในสมัยนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้นิรโทษกรรม อภัยโทษให้แก่นักโทษการเมืองในคดีกบฏบวรเดช พ.ศ.2476 และ คดีกบฏ พ.ศ.2481 และได้มีการปล่อยนักโทษการเมืองที่จังหวัดสุราษฏ์ธานีในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2487 ก็เป็นอันสิ้นสุดคดีนักโทษการเมืองกบฏบวรเดช 2476 และหลังจากนั้นนักโทษการเมืองสายกบฏบวรเดช ก็ได้เข้าสู่การเมืองโดยบางส่วนก็ได้เข้าไปร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ และลูกหลานของนักโทษการเมืองบางท่านก็ยังอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์และยังคงอยู่ในการเมืองเช่น พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี สมัย คมช. เป็นหลานตาของพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม, คุณจุติ ไกรฤกษ์ อดีตรัฐมนตรีไอซีที ซึ่งเป็นหลานปู่ของร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์ , มจ. สิทธิพร กฤษดากร น้องชายของพระองค์เจ้าบวรเดช ภายหลังเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ , สอ เสถบุตร ออกจากเกาะเต่าก็มาเป็นนักหนังสือพิมพ์และพิมพ์ดิกชั่นนารี, ดร.โชติ คุ้มพันธ์ เล่นการเมือง สำหรับพระองค์เจ้าบวรเดช ภายหลังได้กลับมาพำนักที่หัวหิน ท่านได้เรียนรู้วิชาลายผ้าจากเวียดนามก็ได้มา เปิดร้านผ้าไหมโขมพัตร์ ซึ่งเป็นผ้าพิมพ์ลายที่มีชื่อเสียงของหัวหินและได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน ถ้าหากใครผ่านไปผ่านมาหัวหินก็แวะเยี่ยมซื้อหากันได้ครับ สำหรับนักโทษการเมืองคนอื่น อาจไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักบ้าง ต่างแยกย้ายและค่อยๆ เงียบหายไปกับกาลเวลา
From Social Media เพื่อการท่องเที่ยวเกาะเต่า
สำหรับฝ่ายคณะราษฏร ก็ค่อยๆ หมดอำนาจลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุด 8 พ.ย. 2490 ก็หมดอำนาจลง พลเอกพระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฏร เสียชีวิตอย่างสงบในวังปารุสกวัน ด้วยความที่ท่านเป็นคนซื่อสัตย์แทบไม่มีอะไรเหลือเลย สิ่งที่พิสูจน์ได้ในปัจจุบันเพราะผู้เขียนเองได้มีความใกล้ชิดกับ พ.ต.พุทธินารถ พหลพลพยุหเสนา ซึ่งท่านเป็นบุตรชายคนที่ 4 ซึ่งผมเรียกว่าลุงแมว ท่านได้ใช้ชีวิตเหมือนกับชาวบ้านธรรมดา เดินทางด้วยรถเมล์อย่างไม่มีใครรู้จักว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นคุณชาย ดร.ปรีดีพนมยงค์ ก็ไม่ได้กลับเมืองไทยจนสิ้นชีวิตที่ฝรั่งเศส , จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกฯ ผู้พาประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกและสวมบทโหดสังหารคนไปเยอะมาก ก็อสัญกรรมอย่างสงบที่ ประเทศญี่ปุ่น และปัจจุบันลูกหลานของฝ่ายคณะราษฏร บางส่วนก็มาดำเนินบทบาททางการเมืองอยู่กับฝ่ายเสื้อแดงหรือฝั่งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย จากปี พ.ศ.2551 ผมเดินทางจากเมืองไทยไปตามรอยประวัติศาสตร์ ที่ศาลาไทย เมืองบาร์ดฮอมบวก , ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐฯ , เส้นทางรถจากจากกรุงเทพ-วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อดูเส้นทางการรบของกบฏบวรเดช, ค่ายปืนใหญ่พหลโยธิน จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลฯ , เกาะตะรุเตา จ.สตูล และมาปิดท้ายที่เกาะเต่า จ.สุราษฏ์ธานี
From Social Media เพื่อการท่องเที่ยวเกาะเต่า
สุดท้ายของบทความและบล๊อคโซเชียลมีเดียกับตามรอยนักโทษการเมืองกบฏบวรเดช ครบรอบ 80 ปีที่เกาะเต่า ซึ่งผมอยากชี้ให้เห็นถึงประชาธิปไตยแรกเริ่มที่ต่างฝ่ายต่างมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการที่พัฒนาการปกครองของประเทศไทย ขอให้ดวงวิญญาณของผู้ที่เกี่ยวข้องในกบฏบวรเดช พ.ศ.2476 ทุกท่านไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม ขอให้มีความสุขในสัมปรายภพ ด้วยเวลาที่ผ่านมา 80 ปีทำให้เห็นว่า กฏแห่งกรรม หรือกฏของเวลานั้น ได้ทำลายทุกอย่างลงไป เหลือแต่เพียงความทรงจำและความดี ขอให้ความทรงจำของกบฏบวรเดชนั้น ให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่า ความรุนแรงเข่นฆ่ากันให้อาสัญนั้นไม่ได้ทำให้ประเทศดีขึ้น และสิ่งที่ผมได้ศึกษามาโดยตลอดเกี่ยวกับกบฏบวรเดชนั้นก็ทำให้เรียนรู้ว่า การเมืองนั้นไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร เพราะภายหลังจากที่นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองกบฏบวรเดชแล้ว นักโทษการเมืองเหล่านี้ที่การมาเป็นนักการเมืองก็ยังเข้ามาร่วมรัฐบาลกับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นฝั่งตรงข้ามและปรปักษ์ เคยออกคำสั่งให้จำคุกนักโทษการเมืองกบฏบวรเดชครับ สุดท้ายจริงๆ ผมอยากให้คนไทยทุกคนได้มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมความสวยงามของเกาะเต่า สวรรค์ของนักดำน้ำของคนทั่วโลก คนไทยเจ้าของแผ่นดินควรจะไปไปพักผ่อนชมความสวยงามธรรมชาติที่ชาวโลกขวนขวายที่จะมาดำน้ำและชมความสวยงาม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเกาะนรกกลางอ่าวไทย ชีพธรรม คำวิเศษณ์ www.facebook.com/cheeptham333 www.twitter.com/tri333

ความคิดเห็น

Unknown กล่าวว่า
ขอบคุณนะครับที่ให้ความรู้ในอตีต พร้อมตัวอย่างในปัจจุบัน และภาพอันสวยงามน่าประทับใจ เล่าได้เนียนในยุคโปราณกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขอให้ท่านมีความสุขกับการท่องเที่ยวเชิงวิชาการนะครับ