ที่มาของชื่อถนนอุรุพงษ์ สถานที่ม๊อบชุมนุมต่อต้านรัฐบาล


 
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์​ (จันทร์ สิริจันโท)

ย้อนหลังไปปี พ.ศ.2529 เวลานั้นผมอายุ 14 ปี บวชเณรภาคฤดูร้อน ทราบซึ้งในรสพระธรรมหรือขี้เกียจเรียนหนังสือก็ไม่อาจทราบได้ไม่ลาสิกขาแล้วก็เลยบวชต่อไปอีกสักพัก ได้มีโอกาสอ่านประวัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ของสายวัดป่าธรรมยุติฝ่ายอรัญวาสี ในภาคอีสานท่านมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นเกจิดังอย่างมากมายเช่นหลวงปู่ฝั้น อาจาโร , หลวงปู่แหวน สุจิณโณ , หลวงปู่เทศน์ เทศน์รังสี , หลวงตามหาบัวเป็นต้น โดยหนังสือนั้นผมได้อ่าน จากผู้เขียนสองท่านได้แก่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และ หลวงพ่อวิริยังค์ สมัยที่ท่านยังเป็นเณรน้อยได้อุปัฏฐากดูแลหลวงปู่มั่น ทั้งสองท่านได้เขียนถึงหลวงปู่มั่นเล่าว่าในราวปี พ.ศ. 2470 หลวงปู่ได้เข้ามาจำพรรษาในกรุงเทพฯ ที่วัดบรมนิวาสกับท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)

 


จนกระทั่งหลายปีผ่านมาผมเองมีความตั้งใจว่าจะขอไปเยี่ยมชมวัดบรมนิวาส สักครั้งหนึ่งดูซิว่าอยู่ตรงไหนในกรุงเทพฯ เวลาก็ผ่านมาหลายปีจนกระทั่งปี พ.ศ. 2555 วันหนึ่งผมเดินออกจากห้างมาบุญครอง เดินเล่นไปเรื่อยๆ ชมกรุงเทพฯ ตามประสาคนชอบเดินเพราะไม่บางครั้งก็ไม่อยากจะนั่งรถเมล์ แท็กซี่ โดยเดินตรงผ่านไปทางสนามกีฬาศุภชลาศัย จากนั้นก็เดินตรงไปถึงสะพานข้ามทางรถไฟที่จะไปทางวัดเทพศิรินทร์ ซึ่งวัดบรมนิวาสอยู่ไม่ไกลจากหัวลำโพงมากนัก รถไฟทุกสายที่วิ่งไปทั่วประเทศ จะวิ่งผ่านวัดบรมนิวาส จะมีสะพานเหล็กเป็นที่สังเกตตรงคลองแสนแสบครับ ระหว่างที่เดินไปบังเอิญว่าเห็นป้ายวัดบรมนิวาส นึกในใจว่าขอเดินเข้าไปเยี่ยมชมวัดหน่อย กาลเวลาในยุคปัจจุบันทางเข้าวัดบรมนิวาสเต็มไปด้วยร้านขายของและตึกแถว ผมเดินเข้าไปในซอยสัก 200 เมตรเห็นจะได้ก็เข้าสู่บริเวณวัดเห็นกุฏิเรียงราย กระจายกันอยู่ เห็นป้ายชื่อกุฏิแต่ละหลังแล้วอายุเก่าแก่ 80 ปีขึ้นไปเห็นจะได้ ทำให้ผมนึกย้อนอดีตบรรยายกาศเก่า ๆ ที่สายวัดป่าอีสานของหลวงปู่มั่นถ้าหากมากรุงเทพฯ ก็คงจะมาพักที่วัดบรมนิวาสนี่แหละครับ





 พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช (องค์ยืนหน้า) ในหลวง ร.5

จากนั้นผมก็เดินลัดเลาะไปถึงศาลาการเปรียญไม้หลังใหญ่ก็ได้เข้าไปกราบพระประธาน เวลานั้นพระสงฆ์กำลังทำวัดเย็นกันอยู่ ผมก็ได้เข้าไปสวดมนต์ด้วยหลังจากที่พระสงฆ์ทำวัตรเสร็จแล้ว ผมก็เดินชมสำรวจดูภาพเก่าๆ ซึ่งมีภาพราชวงศ์สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สายตาของผมไปสุดภาพและข้อความที่เขียนว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช ผมเลยนึกในใจว่า อ๋อชื่อถนนอุรุพงศ์ คงมาเป็นชื่อที่มาจากพระโอรสของนี้ของในหลวง ร.5 แน่ ๆ เลย เพราะว่าถนนที่ไม่ใกล้จากวัดบรมนิวาสก็คือถนนอุรุพงษ์ที่อยู่ใต้ทางด่วนและแยกอุรุพงษ์ ซึ่งก็ไม่ใกล้จากเส้นทางด่วนด่านยมราชที่มีสะพานกั้นรถไฟเข้าสู่ถนนหลานหลวงและถนนพิษณุโลกครับ


 พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช (ซ้าย) ทรงฉายกับสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ (ขวา) เมื่อทรงพระเยาว์
พระองค์เจ้าอุรุพงษ์ กับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.7

 ประวัติย่อของพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ผมขอสรุปจากวิกิพีเดียและที่อื่น ๆ มาให้ทราบนะครับ เป็นพระราชบุตรพระองค์ที่ 95 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาเลื่อน นิยะวานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2436 (อายุครบ 120 ปี) ในขณะที่ในหลวง ร.5 ประพาสยุโรปก็ได้ทรงเสด็จติดตามด้วย แต่ไม่ได้ทรงไปศึกษาต่อต่างประเทศเหมือนกับพระโอรสรุ่นพี่ ๆ เพราะเป็นน้องชายคนสุดท้อง แต่ในที่สุดพระองค์ท่านทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ด้วยวัยเพียง 17 พรรษา ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของในหลวง ร.5 ด้วยความรักของเสด็จพ่อและต้องการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักจากพ่อที่มีต่อลูก ในหลวงร.5 ได้ทรงสร้างสะพานอุรุพงษ์แต่สะพานไม่มีแล้ว คงเหลือแต่ชื่อถนน อุรุพงษ์และสี่แยกอุรุพงษ์ ซึ่ง ณ ขณะนี้กำลังเป็นที่ชุมนมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ชินวัตร ถ้าหากใครผ่านไปแถวนั้นก็เชิญชวนแวะเข้าไปเที่ยววัดบรมนิวาส เพราะไปเยี่ยมชมวัดสายคันถธุระและวิปัสสนาธุระใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่่จำพรรษาของหลวงปู่มั่นและไปเยี่ยมชม พระฉายาลักษณ์ของพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภชกันครับ

ความคิดเห็น