เรื่องเล่าแต่หนหลังประสบการณ์ทำข่าว อ.ส.ม.ท.จากวิทยุสู่โซเชียลมีเดีย พ.ศ.2540-2556



From Tri in America


ห้องข่าวไอที สำนักข่าวไทย อ.ส.ม.ท ปี พ.ศ.2540

ความล่มสลายของเศรษฐกิจไทย กำลังเป็นที่ลุ้นผ่านหน้าจอโทรทัศน์ นักข่าวรุ่นพี่โต๊ะเศรษฐกิจกำลังลุ้นว่าจะมีบริษัทหลักทรัพย์ไหนถูกปิดลงไปบ้าง เพราะในบางบริษัทอาจจะมีแหล่งข่าวและเพื่อนฝูงของตนเองที่กำลังจะต้องประสบกับชะตากรรมจากที่เคยเป็นมนุษย์ทองคำกลายเป็นมนุษย์ตกงานเหมือนกับเพื่อนร่วมชาติคนอื่นๆ ที่เคยทำงานเป็นพนักงานธนาคารต้องถูกเลย์ออฟตกงานมาขับรถแท็กซี่เป็นข่าวอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์
ผอ.ชิตณรงค์ คุณะกฤษดาธิการ ผู้อำนวยการสำนักข่าวไทย อ.ส.ม.ท. เวลานั้น ท่านเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ในด้านสื่อสารมวลชนเมื่อเข้ามารับตำแหน่งก็ได้ปรับเปลีี่ยนรูปแบบการทำงานแบบเดิมๆ กำลังเปลี่ยนแปลงทุกอย่างขององค์กรข่าวให้ดีขึ้นตาม สโลแกน
อ.ส.ม.ท. ก้าวไกลรับใช้ประชาชน ด้วยการเปลี่ยนแปลงนำอินเทอร์เน็ตมาใช้กับทุกอณูของการทำงานข่าวรวมถึงจ้างทีมงานบริษัทไมโครซอฟท์มาวางระบบฐานข้อมูลข่าวให้ใหม่ เสริมประสิทธิภาพด้านคนและเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความทันสมัยมากขึ้น ด้วยการให้มีสถานีวิทยุ FM100.5 เป็นสถานีข่าว เมื่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้ามาถึง ท่านได้มีนโยบายให้สร้างเว็บไซค์ของช่อง 9
ตั้งทีมข่าวไอทีเพื่อนำเสนอข่าวเทคโนโลยีทั้งรายการวิทยุและในรายการข่าวทีสีภาคค่ำและภาคกลางวัน
ไม่เพียงแค่นั้นยังให้กองบรรณาธิการวิทยุได้จัดเวลา 3 นาที ในข่าววิทยุภาคกลางวันซึ่ง FM100.5 เป็นแม่ข่ายถ่ายทอดสอดไปยังสถานีวิทยุในเครือข่ายของ อ.ส.ม.ท ไปทั่วประเทศ
ด้วยความที่เป็นองค์กรข่าวแบบเก่าและเครื่องมือเครื่ิองไม้ที่ไม่ทันสมัย ผอ.ชิตณรงค์ ท้าทายกับความเปลี่ยนแปลงและวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมๆ ซึ่งแน่นอนว่าก็มีทั้งผู้ที่ชื่นชอบอยากจะเปลี่ยนแปลงให้สำนักข่าวไทยเท่าทันกับสำนักข่าวอื่นๆ สำหรับผู้ที่ไม่อยากเปลี่ยแปลงก็มีบ้างประปรายขึ้นอยู่กับอายุงานที่มากขึ้นความอยากเปลี่ยนแปลงก็จะน้อยลงไป
เครื่องพีซียี่ห้อเดลล์คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะแกะกล้องใหม่ล่าสุดต่อพร้อมกับสายแลนอินเทอร์เน็ตอยู่บนโต๊ะกองบรรณาธิการและผู้สื่อข่าว โลกของการทำงานกำลังเปลี่ยนไปพร้อมกับการรีเอนจิเนียริ่งซึ่งเป็นศัพท์ที่กำลังได้รับความนิยมในยุคนั้นเพราะอาจารย์ ไมเคิล แฮมเมอร์ ได้เข้ามาใช้ทฤษฏี Re-engineering กับธนาคารกสิกรไทย




From Tri in America


เวลานั้นเทปคาสเซ็ตยังเป็นเครื่องในการอัดเสียงจากแหล่งข่าว นักข่าวออกไปทำข่าวนอกสถานที่กลับเข้าที่ออฟฟิศ เมื่อมาถึงเอาเทปที่อัดเสียงมาเปิด เครื่องถอดเทป จะมี 3 ส่วน ตัวเครื่อง หูฟัง และที่เหยียบโดยใช้เท้า กรอกลับไปมาเพื่อย้อนหลังมาฟังและพิมพ์ได้สะดวกมากกว่าที่ใช้จะเซ้าท์เบ้าท์ ทุกอย่างยังเป็นอนาล๊อค ไม่ได้เป็นเครื่องอัดเสียงดิจิตอลและใช้แอพบนไอโฟนเหมือนกับยุคปัจจุบัน 
ขณะที่กำลังถอดเทปไปนั้นก็พิมพ์ข้อความเสียงแปลงให้เป็นตัวอักษรแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนจากพิมพ์ดีดมาไม่นานเกือบทุกคนพิมพ์คล่องและเร็วอยู่แล้ว เมื่อพิมพ์เสร็จก็โยนเนื้อข่าวเข้าไปที่โฟลเดอร์กองบรรณาธิการ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องแก้ไขข้อความและนำไปพิมพ์เพื่อส่งให้กับสมาชิกข่าวต่อไป
ยุคของนักข่าวจากอนาล๊อคมาสู่อินเทอร์เน็ต ฝึกสอนให้ทุกคนส่งข่าวเข้ามาทางอีเมล และใช้งานคอมพิวเตอร์ให้คล่องเพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนจากเครื่องตั้งโต๊ะให้มีโน๊ตบุ๊คเข้าไปใช้งานในภาคสนาม การอบรมการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าเศรษฐกิจใหม่ยุคอินเทอร์เน็ต
"นักข่าวยุคใหม่ต้องเป็นมัลติทาสกิ้ง คนเดียวทำได้ทั้งข่าวเขียน วิทยุ ข่่าวโทรทัศน์ และข้อมูลเอามาจัดรายการวิทยุได้ เขียนสกู๊ปรายงานพิเศษ" สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท่าน ผอ.ชิตณรงค์ได้เน้นย้ำให้กับนักข่าวรุ่นใหม่ที่เข้าไปทำงานที่สำนักข่าวไทยในปี พ.ศ.2540
ห้องข่าวไอทีเป็นกองใหม่ที่เพิ่งได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการทำข่าวงานข่าวยุคใหม่ที่มีลักษณะงานข่าวแบบอินเทอร์เน็ต เสนอข่าวสารผ่านเว็บไซค์ รายการวิทยุ ทีวี ถูกผลักเข้าสู่เว็บไซค์ www.mcot.or.th (ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนแปลงเป็น www.mcot.net ตอนที่องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย แปรรูปจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทจำกัดมหาชน) โดยมีคุณประสาน รุ่งสว่าง อดีต บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ เข้ามาเป็นหัวหน้ากอง ซึ่งนักข่าวไอทีรุ่นนั้งจะมีอุปกรณ์ใหม่ ๆ เข้ามาให้ใช้งานทำข่าวเช่น โน๊ตบุ๊ค, กล้องดิจิตอล, เครื่องบันทึกเสียง ในสมัยนั้นสิ่งเหล่านี้ เป็นของที่พิเศษจริง ๆ เพราะมีราคาค่อนข้างจะสูงมาก ลำพังเงินเดือนของนักข่าวไม่สามารถจะซื้อในสิ่งเหล่านี้ได้ โน๊ตบุ๊คมีราคาเกือบหนึ่งแสนบาท สำหรับกล้องดิจิตอลก็สองหมื่นกว่าเข้าไปแล้ว ด้านการค้นหาข้อมูลก็มีเพียงเครื่องมือค้นหาเช่น yahoo และ sanook ส่วน google มาภายหลังในปี พ.ศ.2543
การปรับตัวของนักข่าวในยุคนั้นอยากจะขอเล่าให้ฟังในเชิง storytelling ว่า เนื้อข่าว 1 ชิ้นนักข่าวจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้กับกับทฤษฏี ซึ่งในยุคของโซเชียลมีเดียกับสื่อที่เปลี่ยนไป การทำงานก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย
"นักข่าวในห้องและไตร(ผู้เขียน) ต้องออกไปทำข่าวข้างนอกบ้าง จะได้รู้ว่าในภาคสนามเป็นอย่างไรจะได้รู้จักแหล่งข่าวผู้บริหารองค์กร เผื่อมีเรื่องน่าสนใจจะได้เชิญเขามาออกรายการวิทยุด้วย" พี่เปี๊ยก ประสาน รุ่งสว่าง บอกกับนักข่าวในห้องไอที ซึ่งพวกเรามีการประชุมโต๊ะข่าวอยู่อาทิตย์ละครั้งหรือสองครั้งในเวลาเย็นๆ เพื่อจะดูประเด็นข่าวที่น่าสนใจไปนำเสนอทั้งหนังสือข่าว ทีวี วิทยุ เพื่อนำเสนอเป็นองค์ความรู้ให้กับประชาชนด้านข่าวเทคโนโลยีสารสนเทศ
และแล้วชีวิตในการทำข่าวแบบ storytelling ก็เกิดขึ้น หลังจากที่นั่งทำงานแปลข่าวและหาประเด็นจากการค้นหาข้อมูลไปจัดรายการวิทยุอย่างเดียว 
"ไตรวันนี้ออกไปทำข่าวกับพี่นะจ๊ะ จะได้รู้จักวิธีการคุยกับแหล่งข่าวและการสัมภาษณ์นอกสถานที่ด้วย" พี่เต้ย พิภวัน อร่ามศรี อดีตพิธีกรรายการก้าววันใหม่9 
เธอเพิ่งจบปริญญาโท ด้านนิเทศศาสตร์ จากสหรัฐฯ มาเริ่มงานที่ห้องข่าวไอทีสำนักข่าวไทย ก่อนหน้าที่จะไปเรียนต่อเธอทำงานเป็นผู้สื่อข่าวด้านบันเทิงที่ช่อง 7
ผมยอมรับว่าตื่นเต้นเป็นประสบการณ์ใหม่ในการทำข่าวนอกสถานที่ครั้งแรกของชีวิตการเป็นนักข่าวซึ่งเป็นอาชีพแรกอย่างเป็นทางการในชีวิตการทำงานของผม จำได้ว่าวันนั้นใส่เสื้อสีฟ้า เป็นชุดฟอร์มของพนักงาน อ.ส.ม.ท. สัมภาระนักข่าวภาคสนามวันแรกที่ต้องหอบพะรังพะรังไปหนักมากเป็นแบบพวกบ้าหอบฟางเหมือนกับเพลงของอัสนีและวสันต์ เพราะแบกไปทั้งโน๊ตบุ๊ค ,กล้องดิจิตอล , เครื่องบันทึกเทป (ซึ่งไม่ใช่เซ้าอะเบาท์ หนักมาก) แถมท้ายด้วยสมุดจดข่าวและปากกา พะรังพะรัง ขึ้นไปกับรถข่าว จุดหมายปลายทางอยู่ที่ศูนย์แสดงสินค้า ไบเทค บางนา
ที่ไบเทคบางนา ผมจำได้ว่าเป็นงานแสดงเทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรม ทางทีมประชาสัมพันธ์จัดงานได้นัดผู้บริหารไว้เรียบร้อยแล้ว นักข่าวใหม่อย่างผมเดินตามรุ่นพี่ ไปสังเกตดูวิธีการทำงานไปก่อน เมื่อเข้าไปนั่งสักพักเริ่มสัมภาษณ์ ผมก็เปิดโน๊ตบุ๊คขึ้นมาตัวละเกือบแสน แต่เป็นของออฟฟิศ นึกในใจ "ดูเท่ห์มาก แต่เรื่องทำข่าวยังไม่ค่อยมีอะไรในหัวเลย" แถมมีกล้องดิจิตอลเป็นช่างภาพให้กับรุ่นพี่อีก 
เครื่องอัดเทปที่เอามาก็กดบันทึกไปด้วย ทำหลายอย่างแบบที่ ผอ.สั่งเลยครับ 
พี่เต้ยก็สัมภาษณ์ไปคุยกับเราก็นั่งสังเกตพิมพ์ไปให้ ผู้บริหารดูเป็นกันเองและให้เกียรตินักข่าวหน้าใหม่อย่างผมมาก
กลับมาถึงออฟฟิศอย่างเหนื่อยเพราะไม่ได้ทำงานข่าวเท่าไหร่ เพราะแบกเจ้าสัมภาระที่หอบไปซะมากกว่า นั่งพักเหนื่อยสักพัก ก็เข้าไปประชุมแทนที่จะได้รับคำชมจากพี่ ๆ ว่าไปทำข่าวครบเครื่องทุกอย่างเปล่าเลย "วันหลังไปทำข่าวออกไปข้างนอกไปต้องหอบอะไรไปเยอะขนาดนี้ สมุดจดข่าวเล่มเดียวกับเครื่องอัดเทปก็พอแล้ว" พี่ๆ อบรมสั่งสอนผมด้วยความเมตตา ไม่ให้เสียกำลังใจในการทำงานวันแรก เค้าคงเห็นว่าอยากแบกอะไรก็แบกไป เอาให้เต็มที่เลย

From Tri in America



การทำข่าววิทยุ

ในปี 2540 การออกไปทำข่าวแต่ละครั้งสิ่งที่ต้องเร็วที่สุดคือการส่งข่าวกลับมารายการให้กับประชาชนออกทางวิทยุก่อนเป็นข่าวต้นชั่วโมง แต่ในปี พ.ศ. 2556 การรายงานข่าวที่เร็วที่สุดคือผ่านโซเชียลมีเดีย มี twitter เป็นตัวนำและตามด้วย facebook
ข่าววิทยุต้นชั่วโมงจะเป็นสิ่งที่ประชาชนจะได้รับรู้อย่างรวดเร็วทั่วประเทศถึงเหตุการณ์ร้อน ๆ ใหม่ ๆ สด ๆ ที่เกิดขึ้นจากทุกมุมของประเทศ ในการรายข่าวข่าวต้นชั่วโมงของ สำนักข่าวไทย อ.ส.ม.ท. นั้นจะกระจายไปสู่สถานีวิทยุทั่วประเทศ การรายงานข่าวต้นชั่วโมงจะเป็นข่าวสั้น ๆ ข่าวละ 1 นาที
เมื่อผมออกไปทำข่าวสัมภาษณ์แหล่งข่าวก่อนปั๊บแนะนำตัวเอง เช่นเจอรัฐมนตรีไอซีที ถามเรื่องของนโยบายคอมพิวเตอร์เพื่อประชาชนในราคาถูก จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรของประเทศไทยบ้าง เสนอประเด็นคำถาม เอา เครื่องบันทึกเสียงอัดเทป สักสองสามคำถาม พอได้เสียงของท่านรัฐมนตรีแล้วก็ รีบออกมาเขียนข่าวให้เสร็จก่อน แบบร่าง ๆ ซ้อมอ่านออกเสียงให้ชัดเจน 
เช่น นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเปิดเผยว่า นโยบายคอมพิวเตอร์เพื่อประชาชนจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศ 
ในวงกว้างจะทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารควบคู่กับการใช้งานอินเทอร์เน็ต 
พอมาถึงช่วงหนึ่งก็ปล่อยเสียงพูดสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีเพื่อให้ผู้ฟังได้ยินว่าข่าวชิ้นนี้มีที่มาที่ไปเป็นข้อมูลอย่างแท้จริง จากนั้นก็ซ้อมท่อนสุดท้ายสรุป เช่น นอกจากนี้นายแพทย์สุรพงษ์ยังกล่าวต่อไปว่า ราคาคอมพิวเตอร์ไม่น่าจะเกิน 15,000 บาท สามารถกู้เงินซื้อได้จากธนาคารออมสิน ประชาชนผู้สนใจสามารถติตต่อได้ทีเบอร์โทร สรุปว่า ในหนึ่งนาทีนี้ ต้องมีเนื้อหาที่ครบถ้วน ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ทำไม ใส่มาให้ครบ อัดทุกอย่างเข้าไปให้อยู่ในหนึ่งนาทีทองตรงนี้
ปี พ.ศ.2540 อ.ส.ม.ท. แจกโทรศัพท์มือถือให้กับผู้สื่อข่าวภาคสนามได้ใช้ อย่างเท่ห์เหมือนกันครับ ถ้าเป็นสมัย พ.ศ.2556 ก็คงต้องแจกสมาร์โฟน เพื่อส่งข่าว twitter , facebook ภาพและเสียงรายงานสดผ่าน 3G แต่ย้อนอดีตกับไปเวลานั้น ส่งเสียงออกมาทางโทรศัพท์อย่างเดียวให้กลับไปออกอากาศวิทยุให้เร็วที่สุด
กลับไปที่การรายงานข่าวออกวิทยุ นักข่าวภาคสนามวิ่งออกไปหาข่าวที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์และมีข่าวอะไรที่มีผลกระทบในวงกว้างกับผู้ฟังประชาชนบ้าง ข่าวต้นชั่วโมง ข่าวภาคกลางวันทั่วประเทศ ข่าว 6 โมงเย็น ผู้ฟังจะเยอะจริงๆ 
ที่ห้องบรรณาธิการวิทยุ FM100.5 สำนักข่าวไทย อ.ส.ม.ท. จะมีทีมงาน 
คอยรับสายโทรศัพท์จากนักข่าว แล้วจะมีเทปคลาสเซ็ท อัดเสียงเป็นไว้ เพื่อนำไปอ่านโปรยหัวข้อข่าวและปล่อยเสียงนักข่าวที่รายงานเข้ามา ภายหลังจากเทปคลาสเซ้ทก็เป็นเป็นเครื่องอัดเทปดิจิตอล นักข่าวอ่านผิดอ่านถูกก็ตัดต่อใหม่ได้ 
นักข่าวจากทั่วประเทศจะโทรเข้ารายงาน แม้กระทั่งใครไปทำข่าวต่างประเทศก็โทรเข้าไป เช่นข่าวการเมืองเดินทางไปทำข่าวตามนายกฯ ก็ต้องโทรเข้ามาว่าภารกิจของท่านไปทำอะไรที่ไหน หรือข่าวกีฬาโอลิมปิค ซึ่ง อ.ส.ม.ท. จะต้องนักข่าวออกไปรายงานกลับมา หรือแม้แต่ช่วงฟุตบอลโลก อะไรที่เป็นความสนใจของประชาชนจะมีทีมงานไปเกาะติดพื้นที่นำเสนอเรื่องราวข่าวสารกลับมาให้กับประชาชน
กองบรรณาธิการวิทยุจะเป็นผู้คัดสรรว่าข่าวของใครจะได้ออกออกอากาศไปทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นใครมีประเด็นดี ๆ เด็ด ๆ ได้เป็นข่าวทั่วประเทศ ถ้าหากมีโอกาสได้ฟังวิทยุได้ยินเสียงตัวเองออกข่าวทั่วประเทศก็ชื่นใจมีกำลังใจในการทำงานเพราะข่าวของเรานั้นสำคัญจริงๆ
กลับจากหาข่าวในตอนกลางวันมาถึงออฟฟิศในตอนเย็น อย่าหวังว่าจะได้พักอะไรมากเลย ต้องถอดเทปเขียนข่าวออกไปเป็นตัวอักษร เพื่อส่งให้กับหนังสือสมาชิกข่าวอีก และอีกสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นกับช่วงรอยต่อระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออินเทอร์เน็ตก็คือการนำข่าวไปออกอินเทอร์เน็ต โดยจะให้ยูสเซอร์เนมกับพาสเวร์ิด สมาชิกข่าว
ได้เข้าไปอ่านเองและหนังสือข่าวสมาชิกก็ค่อยๆ ลดบทบาทตัวเองลงไป 
ซึ่งสมาชิกข่าวก็เอาข่าวสารไปรายงานข่าวต่อให้กับประชน
ช่วงเวลานั้นต้องยอมรับว่ากลุ่มนักข่าวไอทีเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้ใช้งานการสื่อสารอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ สนุกดอทคอมเป็นเว็บไซค์ที่รวมรวมข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตของคนไทยเหมือนกับ yahoo ใคร ๆ ก็เข้าไปใช้งานกันที่นั่นโดยมีคุณปรเมศวร์ มินสิริ เป็นผู้ก่อตั้ง (ภายหลังก่อตั้ง kapook.com) เป็นแหล่งค้นข้อข้อมูลใหม่ๆ ของนักข่าวกันเยอะมาก ๆ


From Tri in America


จากวิทยุเข้าสู่การทำข่าวโทรศัพท์
กันยายน พ.ศ.2540 เป็นการไปทำข่าวต่างประเทศครั้งแรกในชีิวิตนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ผมได้รับมอบหมายให้ไปทำข่าวการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิค ที่ประเทศโปรตุเกส กับพี่ราม โชติคุต ซึ่งเป็นเว็บมาสเตอร์ของช่อง 9 แถมยังแปลข่าวได้ เป็นช่างภาพทีวีและโทรทัศน์ได้อีก เรียกว่าเก่งทุกอย่างในคน ๆ เดียวแต่พี่ท่านไม่ชอบที่จัดรายการวิทยุและไม่ยอมออกรายการโทรทัศน์ด้วย ปัจจุบันพี่รามเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โปรตุเกสอยู่ในทวีปยุโรป ไกลไม่ใช่เล่นครับ นั่งเครื่องบินไปเปลี่ยนเครื่องที่อิตาลี จากนั้นก็เปลี่ยนเครื่องบินต่อไปอีก 3 ชั่วโมง โปรตุเกสติดฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติค มาทำงานยังไม่ถึงปี หัวหน้าไว้วางใจไปทำข่าวต่างประเทศก็ต้องเต็มที่กันหน่อย แต่ภารกิจที่ได้รับไปนั้น ต้องทำเป็นวีดีโอข่าวเป็นตอนๆ มาออกในช่วงข่าวไอทีภาคค่ำของทุกวัน เขียนข่าวส่งกลับมา ส่งข่าววิทยุออกเป็นช่วง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องการแข่งขันอย่างเดียว รายงานข่าวเกี่ยวกับบ้านเมืองโปรตุเกส ถ้าเจอท่านเอกอัครราชฑูตก็ให้สัมภาษณ์กลับมาด้วย ยังมีต่อ โทรเข้ามาจัดรายการวิทยุช่วงกลางคืนเล่าบรรยากาศด้วย นี่เป็นหลัก ๆ ที่ต้องทำในหนึ่งสถานการณ์ที่ไปเจอมากับอายตนะทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าสัมภาษณ์จนแหล่งข่าวอาจารย์ชาวไทยจนโมโห อย่ารบกวนเวลาของผม
ในการไปทำข่าวต่างประเทศที่จะมาออกทีวีในประเทศไทยนั้น วิธีการแบบเดิมก็จะต้องส่งเทปฝากกับสายการบินกลับมาออกอากาศที่ห้องส่งกินเวลาหลายวัน ถ้าให้เร็วก็ต้องเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้แน่นๆ ภารกิจข่าวไอทีทีมเล็ก ๆ ของเราก็คือ ต้องออกอากาศทุกวันและทุกสื่อของ อ.ส.ม.ท. ที่มีอยู่่ทั้งหมด เรียกว่าโชว์ให้ทุกคนได้เห็นศักยภาพของนักข่าวไอทีเลือดใหม่ที่ยังมีไฟคุกรุ่นอยู่สุด ๆ พี่รามแบกกล้องและอุปกรณ์ ผมรับผิดชอบโน๊ตบุ๊คกับกล้องดิจิตอล
งานนี้ท้าทายความสามารถมาก ๆ อยากแสดงผลงานให้กับผู้ใหญ่ได้เห็นที่ท่านได้มอบความไว้วางใจให้ เพราะการได้ออกต่างประเทศในการทำงานใหม่ๆ นั้น 
ท่านคงต้องเห็นอะไรในตัวของเราบ้าง ซึ่งตอนนั้นถือการไปรายงานข่าวที่โปรตุเกสจะเป็นการรายงานข่าว ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตมาออกอากาศทีวีเป็นครั้งแรกๆ ของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ครับ
เมื่อคอนเทนต์มีอยู่แล้ว อุปสรรคในการส่งจากยุโรปกับมาที่เมืองไทยผ่านอินเทอร์เน็ต ทุกอย่างต้องแปลงสภาพให้เหมาะสมที่จะไปออกอากาศและต้องบีบอัดไฟล์ให้ส่งได้อย่างรวดเร็ว ในเครื่องโน๊ตบุ๊คจะมีโปรแกรมแปลงไฟล์แบบเรียลเพลเยอร์เพื่อบีบอัดไฟล์วีดีโอขนาดใหญ่ ให้เล็กลง
ลักษณะการทำงานข่าวสารพัดทุกอย่างในชิ้นเดียวจะเป็นขึ้นตอนอย่างนี้ครับ
ผมจะคิดประเด็นข่าววันก่อนจะนำเสนอเรื่องอะไร คุยกับพี่รามช่างภาพอยากได้ภาพแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งก็ไม่ต้องพูดเยอะพี่รามเก่งกว่าผมเยอะมาก 
ตั้งประเด็นสัมภาษณ์ไว้เชิญอาจารย์และน้องๆ นักเรียนที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยมาสัมภาษณ์ จากนั้นก็เขียนข่าวให้เรียบร้อยส่งเป็นหนังสือข่าว
จากนั้นก็ส่งข่าววิทยุ จากนั้นก็ทำส่งแปลงไฟล์ภาพกลับไปตัดต่อที่เมืองไทย
แล้วก็โทรศัพท์เข้าไปอัดเสียงให้ห้องข่าววิทยุ เอาเสียงของเราไปรวมกับภาพโทรทัศน์เพื่อไปออกอากาศทางทีวี โทรศัพท์มือถือโรมมิ่งเวลานั้นใช้ได้สบาย ๆ เลยครับ และส่วนเนื้อหาสาระที่เหลือก็นำไปจัดทางรายการวิทยุ ไอทีร้อยจุดห้า ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นรายการ mcot.net 
ส่วนภาพวีดีโอต่างๆ ทั้งหลายไปออกเป็นสกู๊ปทางรายการโทรทัศน์ เก้าวันใหม่ในช่วงไอทีวันพฤหัส คอนเทนต์ทุกอย่างที่ได้มาถูกนำไปใช้หมด ยิ่งกว่าปลาแซลมอนที่เอาทั้งเนื้อไปขาย หัวปลาไปต้ม กระดูกก้างไปทำน้ำซุบ ขายได้ทุกส่วน ไม่เหลือให้ใครไปทำกินเลย คอนเทนต์ของนักข่าวไอที อ.ส.ม.ท. ต้องทำอย่างนั้นจริงๆ ครับ คนเดียวทำได้ทุกอย่าง
ถ้าหากเป็นยุค พ.ศ. 2556 นี้ก็ต้องมีไอโฟนไปหนึ่งตัว ไอแพด โน๊ตบุ๊ค เจออะไรก็ต้องส่งข้อความ twitter เป็น text ไปก่อนให้กับ follower แชร์เข้า facebook ของสำนักข่าว ถ้ามีภาพก็ต้อง instgarm เป็นส่งเสียงออกทางวิทยุ ทางหากเป็นวีดีโอภาพเคลื่อนไหวก็ส่งเข้า socialcal หรือ youtube ไปเลย เร็ว ๆ ด่วน ๆ ไม่ต้องรอช่วงข่าวอีกต่อไป นึกอะไรได้ก็ทำออกข่าวไปก่อนเลย เดี่ยวทางกองบรรณาธิการอยากจะได้ให้ทำอะไรก็สั่งเพิ่มเติมมาแล้วกัน
หลังจากนั้นไม่นานนัก หน้าที่ใหม่ที่ผมได้รับมอบหมายคือต้องไปเป็นผู้ดำเนินรายการโทรศัพท์ 9วันใหม่เป็นรายการสด ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง9 ในปี พ.ศ. 2542 เป็นการเพิ่มคอนเทนต์ออกไปอีกเพิ่มเติม เหลืออยู่อย่างเดียวที่ยังไม่ได้ทำงานสื่อที่ช่อง 9 คือเป็นผู้ประกาศข่าวเท่านั้น
นี่เป็นเรื่องของ Storytelling งานข่าวในหนึ่งช้ินต้องทำอะไรบ้าง 
ในการเป็นนักข่าว

From 12/16/12

ความคิดเห็น