จากประธานาธิบดีลิงคอห์น สู่ การปฏิวัติ ร.ศ. 130 แห่งสยามประเทศ



                                      ปกหนังสือลิงคอห์น และ ปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐


โลกของประวัติศาสตร์ทางการเมืองชวนให้น่าติดตามเพราะเป็นรากฐานของเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน
ตลอด 22 ปีที่ผ่านมา ผมมีความสนใจประวัติศาสตร์การเมืองของอเมริกันและชื่นชอบ อับราฮัม ลิงคอห์น อดีตประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐฯ เนื่องจากเคยไปอ่านเจอในหนังสือว่าเขาเป็นคนที่มีชีวิตยากไร้ที่สุดยิ่งกว่าทาสที่เขาปลดปล่อยเสียอีก และเขาเป็นบุคคลที่มีความรู้การศึกษาในระบบเพียง 9 เดือนเท่านั้น แต่ที่เหลือคือการฝึกฝนตนเองจากการอ่านและการเรียนรู้ด้วยตนเอง


ลิงคอห์น เป็นผู้นำประเทศในยุคปี ค.ศ. 1860-1865 (พ.ศ.​2403-2408) อยู่ในช่วงสมัยของในหลวงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็นช่วงที่ภาวะของสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นในประเทศระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้เป็นสงครามที่มีคนตายเกือบ 6 แสนคน เป็นการต่อต้านทางความคิดทางประชาธิปไตยที่ลิงคอห์นต้องการเลิกทาสเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯและต้องการยกเลิกการกดขี่คนเยี่ยงสัตว์จากสิ่งที่เขาเคยเห็นคนตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นเด็กวัยรุ่นยากไร้และสิ้นหวังในชีวิต และแล้วในที่สุดลิงคอห์นก็ถูกยิงตายจากฝ่ายใต้
เขากลายเป็นมหาบุรุษของชนชาติอเมริกันและผู้คนทั้งโลกที่รักความเท่าเทียมกันพร้อมกับสิ่งที่น่าเรียนรู้ว่าบุคคลคนนี้อยู่ในภาวะความเครียดทั้งเรื่องส่วนตัวและการเมืองมาได้อย่างไร


เวลานั้นประเทศไทยยังปกครองอยู่ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชอำนาจการเมืองของประเทศอยู่ที่บุคคลคนเดียว จากในหลวง ร.5 มาจนถึงในหลวง ร.6 ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองให้พระเจ้าแผ่นดินมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมีอยู่เพราะประเทศสยามอยู่ในภาวะที่ผุกร่อนยากจะเยียวยา เพราะอำนาจที่ไปอยู่กับบุคคลเพียงกลุ่มเดียวทำให้นายทหารหนุ่มใน ร.ศ. 130 ( พ.ศ.2455) เตรียมปฏิบัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศให้เป็นประชาธิปไตย


ปฏิวัติ ร.ศ.130 เป็นต้นแบบของการอภิวัฒน์ปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ส่วนตัวลึก ๆ ของผมแล้ว มองย้อนกลับไปในอดีตมีประวัติศาสตร์หลายอย่างของประเทศไทยที่ถูกเขียนโดยบุคคลกลุ่มเดียว ไม่มีการขีดเขียนบันทึกความร่วมสมัยจากประชาชนคนธรรมดามีแต่ฝ่ายเจ้าเท่านั้น

หนังสือ ปฏิวัติ ร.ศ. 130 เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่
ผมเห็นแล้วต้องรีบซื้อกลับมาอ่านเพราะเป็นฉบับที่เขียนโดย ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์  ผู้ก่อการครั้งนั้นแต่ถูกจับก่อนเพราะเกิดการหักหลังจากกลุ่มคณะเดียวกัน  การตีพิมพ์ครั้งแรกมีขึ้นในปี 2503  และต้องใช้เวลาอีกถึง  53 ปีใน พ.ศ.2556 ถึงได้มีการจัดพิมพ์อีกครั้งโดย นิตยสารศิลปวัฒนธรรม โดยมี ดร.ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมือง อีกท่านหนึ่งที่ผมชื่นชอบในผลงานเป็นบรรณาธิการ

หลังจากที่อ่านไปแล้ว ผมเห็นความผุกร่อนของปัญหาประเทศในเวลานั้น
และการโต้แย้งทางความคิดระหว่างกลุ่มใหม่หัวก้าวหน้ากับกลุ่มเก่าอนุรักษ์นิยม
ซึ่งมีอยู่ให้เห็นในปี 2556 ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ การที่จะยกระดับประเทศแต่ถูกขัดขวาง ด้วยอำนาจเพียงหยิบมือเดียว

หนังสือลิงคอห์น ก็เป็นหนังสือน่าอ่านมาก ๆ ครับเป็นรากฐานแนวความคิดของนักประชาธิปไตยผู้มากจากดินจริงๆ มีชีวิตที่เป็นบุคคลธรรมดาขึ้นมาปกครองประเทศจากการเลือกสรรของประชาชน อาจารย์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตอาจารย์ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมติดตามผลงานของท่านมา 20 ปีแล้วครับ ตั้งแต่เรียนปีหนึ่ง อิทธิพลหนังสือของท่านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเลิกทาสและการสร้างความเท่าเทียมกันภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่น่าสนใจและหนังสือเล่มนี้จะทำให้ท่านได้เห็นชีวิตการเมืองของบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา

ในช่วงของเทศกาลหนังสือแห่งชาติ หนังสือ 2 เล่มนี้ อยากจะให้ทุกท่านได้อ่านเพื่อเป็นเครื่องบ่มเพาะอุดมการทางการเมืองประชาธิปไตยที่เราทุกคนจะได้ร่วมการสร้างชาติขึ้นมาจากอำนาจของประชาชนครับ

ชีพธรรม คำวิเศษณ์
@tri333 www.twitter.com/tri333
Facebook : www.facebook.com/cheeptham333


ความคิดเห็น