Personal History ประวัติศาสตร์ของชีวิตที่ควรบันทึกผ่านแอพ Day one

ผมสะดุ้งตื่นขึ้นมาหยิบไอโฟนที่่วางอยู่หัวนอนมาดู นึกในใจ "กี่โมงแล้วนี้" หยิบขึ้นมาตี 4 พยายามที่จะข่มตานอนให้หลับเพราะยังเช้าเกินไปอยู่ ก็เปิดแอพ Fm91bkk รายงานจราจรว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ก็คืออยากรู้เรื่องของชาวบ้าน ปราฏว่าเจ้ากรรม 3g AIS หลุดอีก หลุดบ่อยมากจน ไม่อยากจะไปเรียกร้องกับสมาคมผู้บริโภคที่ไหน หยิบไอแพดขึ้นมาเปิดฟังวิทยุจากสหรัฐฯดีกว่า ฝึกภาษาอังกฤษไปด้วย ฟังไปอีกสักพักอินเทอร์เน็ตไวไฟก็หลุดอีก เปิดทีวีวนไปอีกรอบไม่มีอะไรน่าสนใจ ไม่น่าเชื่อครับ นอนกลิ้งไปกล้ิงมา ก็ตี5 เป๊ะตามเวลากรีนิช ลุกขึ้นไปซื้อปาท่องโก๋กาแฟมากินตอนเช้าดีกว่า จะได้เตรียมตัวเรื่องจัดรายการวิทยุ รอยอารยะในวันส่งท้ายด้วยปี 2555 และเป็นวันส่งท้ายแบบท้ายจริงๆ ท้ายที่จะไม่ได้กลับมาจัดรายการอีกแล้ว เพราะว่าทางวิทยุเนชั่น FM 102 ได้เปลี่ยนผังรายการ ทำให้หน้าที่ทุกวันอาทิตย์ที่มารับใช้ท่านผู้ฟังในรายการ "รอยอารยะ" ที่ผมรับผิดชอบจัดมา 2 ปี เป็นรายการเกี่ยวกับสารพัดเรื่องราวประวัติศาสตร์ได้จบลง ก็อยากจะส่งท้ายให้สวย ๆ หน่อย ซึ่งปกติผมจะเตรียมรายการอยู่ในใจอยู่แล้วว่าจะนำเสนอเรื่องอะไร
From บ้านพักชายทุ่ง 40 ปี
หยิบกาแฟขึ้นมาจิบ ค่อยๆ กลืมกลิ่นไอและรสชาติกาแฟลงไปในคอ นิ้วมือก็พิมพ์แป้นคีย์บอร์ดลงไปเพื่อเป็นได้เป็นหลักฐานไว้ให้ท่านผู้อ่านได้อ่านในบล๊อคและเป็นประวัติศาสตร์ของชีวิต ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่สื่อสารมวลชนก็จะสรุปข่าวสารที่เกิดขึ้นในรอบปี แต่ผมอยากจะสรุปเรื่องที่ผมชอบและนำเสนอทางรายการวิทยุเป็นการส่งท้าย ช่วงส่งท้ายปีเก่าตอนรับปีใหม่ของทุกปี ย้อนหลังไปสัก 34 ปี ที่หมู่บ้านชายทุ่ง บ้านพักอาจารย์ของวิทยาลัยครูเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือสถาบันราชภัฏเชียงใหม่) 31 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่ผมจะค่อนข้างตื่นเต้นครับ เพราะจะมีงานเลี้ยงตอนเย็นที่สนามเด็กเล่นประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ มีวงดนตรีของสถาบันมาเล่นขับกล่อม มีอาหารให้ทาน เด็ก ๆ ฝึกการแสดงละเล่น ในปี 2523 ผมยังจำได้ว่าปีนั้น ได้ฝึกลีลาสบัวขาว เด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงจับคู่แสดงลีลาสด้วยกัน ด้วยวัยเด็กก็สนุกสนานกันครับ พ่อแม่ก็อยู่ในวัยหนุ่มสาวเป็นอาจารย์ก็พูดคุยกินเลี้ยงกัน อากาศช่วงปีใหม่ของเชียงใหม่ก็หนาวเย็น ด้านหลังหมู่บ้านเป็นท้องนาชายทุ่ง ความสนุกสนานก็มีขึ้นตามลำดับจนกระทั่งเข้าสู่ช่วงของนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ ทุกคนมีความสุขกันมาก ๆ ร่วมกับนับถอยหลัง สมัยนั้นยังไม่มีถ่ายทอดสดปีใหม่ แบบปัจจุบันทุกวันนี้ ที่แต่ละแห่งจะจัดงานเคาน์ดาวน์กันแล้วถ่ายทอดสด ตอนนั้นก็ดูเวลาแล้วก็นับกันเลย เด็ก ๆ สนุกสนาน บางปีก็ก่อไฟผิงกันบ้าง
From บ้านพักชายทุ่ง 40 ปี
รุ่งเช้าวันที่ 1 มกราคม เวทีดนตรีกลายเป็นสถานที่ตักบาตรทำบุญขึ้นปีใหม่ แดดอ่อน ๆ อากาศเย็นๆ เสียงประกาศดังขึ้นเด็ก ๆ ก็ตื่นขึ้นมาแบบงัวเงียไปร่วมทำบุญกัน ทำบุญเสร็จก็มาพักผ่อนเล่นกันตามประสาเด็ก ๆ วิ่งเล่นในหมู่บ้านกับเพื่อนฝูง ส่งท้ายปีเก่าปี 2528 ผมลองดื่มเหล้าเป็นครั้งแรกเมากลิ้งไม่เป็นท่า ประคองสติไม่อยู่ ก็เลยรู้ว่าฤทธิ์ของสุราเป็นอย่างไร กาลเวลาผ่านไปงานส่งท้ายปีเก่าของหมู่บ้านชายทุ่งก็ค่อยๆ เลิกราไป เพราะว่าเพื่อนบ้านของเราแยกย้ายออกจากบ้านพักอาจารย์ไปซื้อบ้านอยู่ข้างนอก เด็ก ๆ รุ่นผมปัจจุบันก็อายุ 37-41 ปี เป็นส่วนใหญ่ก็โตขึ้น ความสนุกในวัยเด็กเริ่มหดหายไป ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว และในที่สุดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของหมู่บ้านชายทุ่งก็เหลือแต่ความทรงจำไว้ให้เป็นที่ระลึก เมื่อเดือนกันยาย 2555 ผมกลับไปเยี่ยมหมู่บ้านชายทุ่งอีกครั้ง สนามเด็กเล่นที่เป็นความสุขของพวกเรา เต็มไปด้วยหญ้ารกรุงรัก สะพานลื่นที่เราได้วิ่งขึ้นวิ่งลง ตอนเป็นเด็กทำไมดูสูงจังกว่าจะไต่ขึ้นไปแล้วลื่นลงมา หรือบางครั้งแทนที่จะลื่นก็กลับวิ่งขึ้นไป สนุกจริงๆ สะพานลื่นหินอื่นยังคงอยู่ที่เดิม ถ้าเขาเป็นคนก็คงคิดถึงพวกเราเหมือนกันนะ ของเล่นพวกชิงช้า ม้าหมุน บางชิ้นกลายเป็นเศษเหล็ก อยู่กลางดงหญ้า ผมกับเพื่อนยังยืนคุยกันว่า ใครเคยมาเล่นของเล่นเหล่านั้นบ้าง
กลับมาที่กรุงเทพยามเย็น เสาร์ 29 ธันวาคม 2555 ถนนในกรุงเทพเริ่มเบาบางบ้าง วันนี้เป็นวันครบ 82 ปีของคุณยายแน่งน้อย โรจนกร ที่ผมรู้จักและเคารพนับถือมาอย่างยาวนานถึง 23 ปี คิดว่าจะไปเยี่ยมท่านสักหน่อยเพราะท่านอยู่คนเดียวที่บ้านในซอนต้นสน ถนนชิดลม ด้วยความที่เหงา ๆ พรรคพวกก็เดินทางกลับบ้าน ส่วนตัวผมเองไม่ชอบเดินทางช่วงเทศกาล อยากกลับเมื่อไหร่ก็กลับได้บ้านที่เชียงใหม่ไม่ได้ไกลเลย เพียงเงียบหนึ่งก็ถึงแล้วไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินหรือรถทัวร์ เงียบเดียวเหมือนกัน ในรอบหลายเดือนจริงๆ ที่ได้มีโอกาสขับรถในกรุงเทพ ผมตัดสินใจโทรไปหาคุณยายน้อย (แน่งน้อย) ว่าเธออยู่บ้านหรือเปล่าจะไปเยี่ยมและพาไปทานข้าว ปรากฏว่าเธออยู่บ้าน หลังจากที่เจอวันเกิดครั้งสุดท้ายปี 2554 ก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย "สวัสดีครับคุณยาย ผมไตรพูดครับ"​ "ไตรหรือจ๊ะหายไปไหนมาไม่เจอเลย ยายคิดถึง" "ผมก็ทำงานครับ คุณยายสบายดีไหม เดี๋ยวผมแวะไปเย่ี่ยมครับ พาไปทานข้าวนั่งคุยกัน" "ได้ๆ เดี๋ยวยายขออาบน้ำก่อน อีกสักชั่วโมงเจอกัน" คุณยายแน่งน้อย โรจนกร เป็นอดีตภรรยาของเอกอัครราชฑูตไทยประจำประเทศอินเดีย เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้เธอใช้ชีวิตอยู่คนเดียวกับแม่บ้านที่คอยดูแล เธอมีจานดาวเทียมและเพื่อนในกลุ่มไม่กี่คน ไปวัดบ้าง เที่ยวบ้าง เธอไม่มีลูก มีแต่หลาน พี่น้องที่อยู่บ้านในบริเวณเดียวกันก็ต่างมีภารกิจกันและมีอายุที่มากขึ้น ขับรถผ่านไปทางประตูน้ำตัดเข้าชิดลมทะลุไปหลังสวน เกือบจนสุดถนนหาซอยเลี้ยวซ้ายเข้าไป ในที่สุดผมก็ถึงบ้านคุณยายน้อยซึ่งตรงกับตำแหน่งของสถานฑูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ถ้ามองจากหน้าบ้านก็จะตรงกับตึกออลซีซั่น บนโต๊ะอาหารก็ได้คุยกันถึงสารทุกข์สุขดิบว่าหนึ่งปีทำอะไรกันบ้าง คุณยายยังอยู่แข็งแรง ดูแลตัวเองได้ และได้พาผู้ดูแลเข้ามาอยู่ด้วย 2 คนเพื่ออยู่เป็นเพื่อน โลกของผู้สูงอายุบางทีก็เหมือนจะเหงานะครับต้องหากิจกรรมทำ จากการสนทนาคือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ว่าทุกคนต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับความชราและต้องเผชิญที่จะอยู่คนเดียวให้ได้ ซึ่งผมเองก็อาจจะเป็นอย่างนั้น และผมเองก็เห็นผู้ใหญ่หลายท่านในวัย 70 กว่าขึ้นไปที่ได้รู้จักก็อยู่คนเดียว บางครั้งเขาก็โทรมาหาผมว่า "เหงาเหลือเกิน ความเหงาทำไมถึงทรมานอย่างนี้"
บางครั้งก็มานึกย้อนครับว่า เวลานี่ก็เป็นเครื่องสร้างและเครื่องทำลาย อายุขัยของพวกเรา ด้วยวัยของผมถึงจะเริ่ม 40 ปี แต่ก็รู้สึกว่าทรุดโทรม เวลาเจ็บไข้ หายช้ามาก ขนาดผมเป็นคนออกกำลังกายนะครับ พอเป็นไข้หวัดออกกำลังไม่ได้เลย ความอ้วนก็เข้ามาแทนที่ แต่สิ่งหนึ่งที่เข้ามาทดแทนก็คือกำลังสมองที่คิดอะไรได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ฉลาดขึ้น ใคร่ครวญ รอบคอบ มองโลกที่ผ่านมาในแง่ที่ดีเพิ่มมากขึ้น
ในปี 2555 ในครึ่งปีหลังผมได้บันทึกชีวิตของผมเป็นรูปภาพผ่านเครื่องไอโฟนและไอแพด บนแอพที่ชื่อว่า Dayone Journal ครับ จะทำให้เรารู้ว่าชีวิตของเราที่ผ่านไปในแต่ละวันได้ทำอะไรบ้าง โดยบันทึกผ่านภาพถ่ายจากกล้องบนโทรศัพท์มือถือครับ เริ่มต้นด้วยการบันทึกสไตล์ของผมก่อนครับ ท่านต้องดาวน์โหลด Day one มาก่อน โดยไปเริ่มต้นที่ www.dayoneapp.com มีโหลด 3 แบบครับ ไอโฟน, ไอแพดและเครื่องแมค ใครใช้แบบไหนก็โหลดแบบนั้นนะครับ แต่ทั้งหมดจะใช้ระบบ Cloud คือเชื่อมโยงเข้าหากันทั้งหมด เขียนอะไรหรืออัพโหลดภาพที่ไปเครื่องไหนก็เปิดดูได้เหมือนกันทุกเครื่อง
Day one เป็นแอพที่เรียกว่าเป็น Best App of the year 2011-2012 ของ apple ใครที่ใช้ ไอโฟน ไอแพด ควรจะมีติดตามไว้ประจำตัวเผื่อบันทึกความทรงจำครับ แอพพวกนี้เสียเงินนิดหน่อยไม่แพงมาก ถือว่าเป็นการสนับสนุนนักพัฒนา ความสามารถของ day one จะช่วยบันทึกที่ช่วยเรียกความทรงจำแบบสุด ๆ เพราะว่าผมเชื่อว่าภาพที่ถ่ายเก็บไว้นับร้อยๆ ภาพคงจำไม่ได้ว่าไปที่ไหนวันไหนกันบ้าง ที่ผมบอกว่าบันทึกแบบสุด ๆ ก็คือ รูปภาพที่ทุกท่านถ่ายกับไอโฟนนั้นภาพแต่ละภาพนั้นถ้าหากเปิด Location จะทำการบันทึกสถานที่ที่ท่านได้บันทึกภาพ เวลา และสภาพอากาศที่ย้อนหลังไม่เกิน 3 วันมาเก็บบันทึกให้
เปิดแอพขึ้นมาจะเห็นหน้าจอที่ออกแบบไว้อย่างดีมาก ๆ บนไอโฟน ด้านบนสุดซ้ายมือจะเป็นรูปกล้องเลือกภาพได้จากตรงนี้เลย และขวามือเป็นรูปบวกเอาไว้พิมพ์เป็นข้อความเข้าไป ลองเลือกภาพสักหนึ่งภาพที่เก่า ๆ ถ่ายไว้นาน ๆ หน่อย เลือกมาแล้วระบบจะถามว่าจะเปลี่ยนไปบันทึกวันเวลาสถานที่ที่ถ่ายภาพหรือไม่ ก็ให้เปลี่ยนเลยครับ จากน้ันก็พิมพ์ข้อความลงไป เราสามารถเลือกบันทึกว่าภาพนั้นถ่ายได้จากที่ไหนระบบจะเลือกฐานข้อมูลสถานที่จาก Foursquare ขึ้นมาให้ ข้อความที่พิมพ์เข้าไปสามารถแชร์ได้ไปที่ Twitter ได้ด้วยเช่นกันครับ มีอีกคุณสมบัติที่น่าสนใจก็คือการสร้าง Tag เราสามารถจัดหมวดหมู่ภาพที่บันทึกชีวิตของเราไว้ได้ โดยตั้งขึ้นมาเช่น Book เป็นหนังสือที่อ่าน , food เป็นภาพอาหารที่ทาน , people ผู้คนที่เราได้พบปะรู้จัก
ขอให้เริ่มบันทึกใส่เข้าไปเรื่อยๆ นะครับ ท่านจะรู้เลยว่าในชีวิตของเราที่ได้บันทึกภาพผ่านไอโฟนนั้นเยอะเพียงใด หรือมีไอเดียความคิดอะไรก็พิมพ์ใส่เก็บข้อไปไว้ ถ้าหากใครใช้เครื่อง ipad ด้วยแล้วทุกอย่างที่เขียนไปก็อยู่ใน Day one ถ้าเครื่อง ipad ของท่านติดตั้ง day one แล้วก็จะถูกดึงเข้าไปอยู่ด้วย
คุณพ่อผมชอบถ่ายรูปจาก ipad มาก และท่านชอบที่จะเขียนบันทึกชีิวิตประจำวันเก็บไว้ในเครื่องโน้ตบุ๊คหลังจากที่มาใช้ day one แล้ว ก็มีความสุขกับการบันทึกประวัติศาสตร์ของชีวิตอย่างมากและต้องทำทุกวันครับ Dayone นอกจากจะมีบนเครื่องไอแพด ไอโฟน แล้วยังมีแอพบนเครื่อง Mac ด้วยนะครับ เริ่มบันทึกประวัติศาสตร์ของชีวิตตั้งแต่วันนี้ ท่านจะเห็นมุมมองใหม่ ๆ ในอีกมุมที่รู้ว่าชีวิตเป็นเรื่องสนุกท้าทายและน่าตื่นเต้นเป็นความทรงจำที่ประทับใจและไม่ประทับใจ เฉกเช่น The way we were ชีพธรรม คำวิเศษณ์ www.twitter.com/tri333 www.facebook.com/cheeptham333

ความคิดเห็น

Unknown กล่าวว่า
คิดถึงปีใหม่ ที่สนามเด็กเล่นนั้นว่ะ