การศึกษาประวัติศาสตร์และประชาธิปไตยในประเทศไทย

ผ่านไปแล้วสำหรับการชุมนุมม๊อบเสธ.อ้ายที่ม้วนเดียวจบไปอย่างรวดเร็ว ผมเองเป็นผู้ที่อยู่ใกล้กับสถานที่การชุมนุมและประชาชนผู้มีความเห็นประชาธิปไตยที่มีมุมมองไม่เหมือนกันที่ต้องการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยฉันทามติของประชาชนเมื่อวันอาทิตย์ 3 ก.ค. 2555 ที่ผ่านมา จากสายตาของผมที่นั่งใกล้ชิดแต่ห่าง ๆ เพราะส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการชุมนุมในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับเสื้อเหลืองและเสื้อแดง แต่ประเด็นเรื่องการล้มรัฐบาลด้วยอำนาจนอกระบบ ซึ่งท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะมีความเห็นไม่ตรงกับผมในหลายเรื่อง แต่ก็เป็นมุมมองทางความเห็นที่แตกต่างกันครับ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นการฝึกฝนและรับให้ได้
ผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่แล้วจะมีอายุ 40 ปี ขึ้นไป การมาชุมนุมครั้งนี้ในมุมมองของผมทำให้สะท้อนเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์และประชาธิปไตยของประเทศไทย ซึ่งได้ถูกบรรจุให้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการน้อยไปนิดนึงครับ รวมถึงใส่ลงไปใน DNA ของคนไทย ทำให้ไม่เข้าใจเรื่องของนิติธรรมและหลัก Rule of Law ประเทศที่ปกครองโดยกฏหมายซึ่งประเทศเราอ่อนในเรื่องนี้จริงๆ มาประเด็นแรกเรื่องการของศึกษาประวัติศาสตร์จากความทรงจำของผมที่ได้เรียนมาในหลักสูตรของสถาบันการศึกษาภาคบังคับของประเทศไทยจากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ผมย้อนหลังนึกว่าเราเรียนแบบท่องจำไม่ได้วิเคราะห์ เรียนประวัติศาสตร์ในรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชมากเกินไปหมายรวมถึงเรียนเรื่องของระบบกษัตริย์ ชั้นชนปกครองมากเกินไป ไม่ได้เรียนเรื่องของอำนาจของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ ผมยังจำได้ดีว่า พ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทย พ.ศ.อะไร , พระนเรศวร ประกาศอิสรภาพเมื่อไหร่ , ในหลวงรัชกาลที่ 6 ตั้งกองเสือป่า ฯลฯ เรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษา ไม่มีนอกกรอบความคิด และเรียนเรื่องราวเกี่ยวกับประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบบการปกครองของประเทศน้อยมาก ๆ มากจริงๆ
เมื่อผมเขาไปเรียนในระดับอุดมศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ คณาจารย์ที่มาสอนเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งนั้น แต่สิ่งที่ได้เรียนเกี่ยวกับประชาธิปไตย เช่น กฏหมายรัฐธรรมนูญ , กฏหมายปกครอง, กฏหมายการคลัง ฯลฯ ผมก็มาย้อนดูว่า เกี่ยวกับหลักประชาธิปไตย ที่ได้ร่ำเรียนกันที่จำได้ก็มีของ อ.วรพจน์​ วิศรุตพิช ตอนนี้ท่านไปเป็นตุลาการศาลปกครอง บอกย้ำเตือนว่า ระบบการปกครองรัฐสภาของไทยก็คือเสียงข้างมาก เคารพเสียงข้างน้อย เป็นการตรวจสอบ และ เรื่องหลักการบริหารอำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แบ่งแยกอำนาจ ก็เพียงแค่นั้น
แต่สิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทย เช่น การเสียดินแดนในสมัย รศ.112 , กบฏ รศ.130 , การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย เรียนน้อยมากๆ เพราะไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตร ก็เลยทำให้รากฐานในการที่จะซึมซับระบบประชาธิปไตยมีอยู่เพียงน้อยนิด ผมได้ไปเรียนรู้การปกครองประเทศสหรัฐฯ ด้วยประสบการณ์ตัวเอง เช่น ขับรถไปถึงสี่แยกที่มีสัญญาจราจรต้องหยุด และก็หยุดจริง ๆ , การซื้อแอลกอฮอร์ และไม่สามารถดื่มได้ตามถนนต้องมีวัสดุห่อหุ้ม , หลักการยอมรับการเลือกตั้งเมื่อเสียงส่วนใหญ่เลือกแล้วก็ยอมรับแล้วรอไปการเลือกตั้งครั้งหน้าอีก 4 ปี สิ่งเหล่านี้ได้ถูกปลูกฝังลงไปใน DNA ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเราได้ถูกบิดเบือนมานาน เพราะอำนาจทางการเมืองและมนต์ดำของประเทศไทย สิ่งที่จะล้างมนต์ดำและจิตสำนึกของประชาธิปไตยนั้นก็คือการเรียนประวัติศาสตร์ให้รอบด้านและถูกต้อง พร้อมกับให้รู้จักว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริง และการสร้างประเทศให้อยู่ภายใต้หลักนิติธรรมแล้วเป็นอย่างไร คนรุ่นผมอายุ 40 ปีนั้นอาจจะใส่ความคิดประชาธิปไตยลงไปได้ยากเพราะสิ่งที่มีอยู่่เดิมฝังอยู่มาก ถ้าหากมีข้อมูลใหม่ๆ ลงไปอาจจะได้ แต่เยาวชนรุ่นหลังถ้าหาก เราได้เยาวชนที่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และจิตสำนึกของประเทศไทยก็จะได้ร่วมกันพัฒนาประชาธิปไตยไปด้วยกันครับ ชีพธรรม คำวิเศษณ์ @tri333 www.twitter.com/tri333

ความคิดเห็น