การเมืองไทยในอดีต พ.ศ. 2490 ประหารชีวิตลูกชาย 2คน จับขังคุก ถอดยศ ก็ยังปรองดองกันได้




ช่วงนี้ประเทศไทย เต็มไปด้วยเรื่องประเด็นความปรองดอง ทุกสื่อ หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ อินเทอร์เน็ต ในฐานะที่จัดรายการวิทยุทางด้านประวัติศาสตร์ ที่เนชั่นเรดิโอ FM102 ได้ทำการค้นคว้า การเมืองในอดีตของไทยมาหลายปี ว่าเพื่อนที่ร่วมรบ ร่วมน้ำสาบาน ร่วมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ทำไมสุดท้ายต้องมาแตกคอกัน ไม่ว่าจะเป็นพลเอกพระยาพหลฯ , พันเอกพระยาทรงสุรเดช, พันเอกพระยาศรีิสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นเพื่อนนักเรียนเยอรมันด้วยกัน สุดท้ายต้องมาอยู่คนละฝั่งในกบฏบวรเดช 2476 ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ฝั่งหนึ่งต้องการประชาธิปไตย อีกฝั่งหนึ่งต้องการแบบอนุรักษ์นิย
ให้อำนาจอยู่ที่กษัตริย์


 
จากซ้าย พระยาทรงสุรเดช , พระยาพหลฯ, พระยาศรีิสิทธิสงคราม


แม้แต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม, นายควง อภัยวงศ์​(ผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์) และ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตยที่ประเทศฝรั่งเศส มาสุดท้ายก็เดินคนละฝั่งไม่เผาผี ฆ่าแกงกันแต่ต่างคนต่างไม่ตาย เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันทั้งฝั่ง
เสื้อแดงและเสื้อเหลือง 


 
 จอมพล ป. (ซ้าย)  ดร.ปรีดี พนมยงค์ (ขวา)

 จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีได้ชื่อว่า เป็นขาโหด เหมือนครับ ตั้งแต่ได้รับมอบหมายปราบกบฏบวรเดช 2476 จนกระทั่งจับนักโทษการเมืองหลายคนเข้าคุกหลายสิบคน ในหลายคราว
ได้แก่ 







  พระบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร (พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ พระโอรสของในหลวง ร.5 ใกล้ชิดกับสมเด็จพระบรมราชบิดา เป็นผู้แนะนำให้ไปเรียนแพทย์ที่โรงเรียนการแพทย์ฮาร์วาร์ด) จอมพล ป. จับขังคุก ถอดยศ ออกจากความเป็นเจ้าในกบฏ 18 ศพ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง










 
 พลโทพระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เคยเป็นอดีตแม่ทัพไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 พร้อมกับลูกชาย 2 คน ได้แก่ นายดาบ ผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และ ร้อยโท เผ่าพงศ์​เทพหัสดิน ณ อยุธยา ถูกจับในคราวเดียวกัน พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์





-

มจ. สิทธิพร กฤษดากร เป็นน้องชายพระองค์เจ้าบวรเดช ถูกจับขังคุก บางขวาง ส่งไปอยู่เกาะตะรุเตา
เกาะเต่า ติดคุกอยู่เกือบ 11 ปี 


 
 พระยาสุรพันธ์เสนีย์ (อิ้น บุนนาค) เจ้าเมืองเพชรบุรี ถูกจับในคราวกบฏบวรเดช ไปอยู่เกาะตะรุเตาพร้อมหม่อมเจ้าสิทธิพร และ สอ เสถบุตร (ผู้แต่งดิกชั่นนารี) ภายหลังพระยาสุรพันธ์เสนีย์ก็หนีจากเกาะตะรุเตาไปอยู่ที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์



 หลังจากนั้นมีการพิจารณาคดีและตัดสินประหารชีวิต ของนักโทษการเมืองในกบฏ 18 ศพ ให้ประหารชีวิต บุคคลทั้ง 4 คนที่ถูกยิงเป้าประหารชีวิต ก็คือ ลูกชายของพลโทพระยาเทพหัสดิน 2 คน ถูกนำไปยิงเป้า ส่วนพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักด์ิกับพลโทพระยาเทพหัสดิน ศาลลงโทษให้จำคุกตลอดชีวิตเพราะเคยได้สร้างคุณงามความดีให้กับประเทศไทย


ส่วนหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤษดากร และพระยาสุรพันธ์เสนีย์ถูกตัดสินคดีไปก่อนหน้านี้แล้วให้จำคุกตลอดชีวิต แต่หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปมีการนิรโทษกรรมทางการเมืองให้กับนักโทษการเมืองในสมัย กบฏบวรเชเดช และกบฏอื่นๆ ในพ.ศ. 2487 เมื่อนักโทษการเมืองได้รับอิสรภาพต่างก็กลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง


เชื่อหรือไม่ครับว่า การเมืองก็คือการเมืองแม้ฝ่ายตรงข้ามจะฆ่าลูกชาย จับขังคุกถอดยศ ก็ยังสามารถกลับมาร่วมรัฐบาลกันได้ หลังจากที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้กลับหวนคืนสู่อำนาจการเมืองหลังจากรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม ได้เซ็นรับรองโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์) คาดว่าจะได้มีการต่อรองเพื่อให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่เคยถูกยึดไปในสมัยคณะราษฏร กลับคืนมาเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตรยิ์ และมีการต่อรองอำนาจกัน เพื่อให้จอมพล ป. ได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป


 และในกรณี ของ พลโทพระยาเทพหัสดิน ภายหลังก็ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก และได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่วน มจ. สิทธิพร และ พระยาสุรพันธ์เสนีย์ ก็ได้กลับมาทำการทางการเมืองเช่นเดียวกัน ที่เล่ามาทั้งหมดก็คือเหตุการณ์ในการปรองดองในอดีตเมื่อ 60 ปีที่ผ่านมาครับ ลองให้ท่านผู้อ่านลองเทียบเคียงกับการปรองดองปัจจุบันว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ฆ่าประหารชีวิตลูกชาย 2 คน จับขังคุก ถอดยศ ก็ยังกลับมาปรองดองกันได้

ชีพธรรม คำวิเศษณ์
www.twitter.com/tri333

ความคิดเห็น