Everyone Can Study @ Harvard ตอนที่5 เทคนิคการเรียนรู้ด้วยตนเอง กับ Harvard Business School


เทคนิคการเรียนรู้ด้วยตนเอง กับ Harvard Business School








การเรียนรู้ด้านบริหารธุรกิจด้วยตนเองของผมที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และบนอินเทอร์เน็ต
เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2540 เมื่อครั้งที่ผมทำงานเป็นผู้สื่อข่าวและนักจัดรายการวิทยุที่ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.
เป็นรายการเกี่ยวกับเทคโนโลยีชื่อ IT100.5 ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นรายการ MCOT.NET
ด้วยความที่ผมต้องจัดรายการวิทยุเกือบทุกวัน และเป็นรายการเกี่ยวกับเทคโนโลยีผนวกกับธุรกิจทำให้ผมต้องเริ่มเสาะหาหนังสือจากต่างประเทศมาอ่านทั้งที่ภาษาอังกฤษของผมก็ งู ๆ ปลาๆ พอไปวัดไปวาได้ แต่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ และเป็นที่มาของ Everyone Can Study @ Harvard Business School
จนกระทั่งบุกไปถึงโรงเรียนบริหารธุรกิจ Harvard
ปัญหาภาษาอังกฤษของผมก็เหมือนกับคนไทยทั่วไป ขอให้ท่านผู้อ่านอย่าได้มองเป็นปัญหา
ให้มองเป็นโอกาสที่จะทำให้เราได้ขวนขวายเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้นเหมือนกับแสวงหาขุมทองต้องเจาะภูเขาเข้าไปภาษาอังกฤษก็เป็นเหมือนดังทองถ้าหากเราเข้าใจกับตัวอักษรก็จะพาเราไปสู่ขุมทรัพย์ต่าง ๆ ได้
ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีเครื่องมือแปลภาษาบนอินเทอร์เน็ตและซอฟต์แวร์แปลภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย
ช่วยแบ่งเบาภาระด้านเยอะครับ

คนเราเกิดมานั้นชาติได้ภาษาใดเกิดประเทศไหนก็ต้องพูดภาษานั้นได้เป็นธรรมชาติอัตโนมัติอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่ได้มากกว่าพูดคือ การอ่าน,การเขียน ฝรั่งที่พูดภาษาอังกฤษได้นั้นใช่ว่าจะเขียนได้ดี หรือ ใช่ว่าจะพูดได้ดีถ้าหากไม่ได้เรียนเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่จะต้องได้มากกว่าพูดนั่นก็คือความรู้ ไม่งั้นคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ก็ต้องรวยกันหมดซิครับ ฝรั่งข้างถนน เป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยก็เยอะ ๆ ไปหมดในสหรัฐฯ แม้จะพูดภาษาอังกฤษได้แต่ไม่มีวิชาความรู้ใหม่ ๆ ในสมองแล้ว นอกจากภาษาก็เปล่าประโยชน์ พวกเกาหลี,จีน,อินเดีย ที่มาเรียนสหรัฐฯ พูดไม่เก่งหรือไม่ชัดกว่าฝรั่งแต่มีความรู้ทำมาหากินอยู่ในอเมริกา รวยกว่าฝรั่งถมเถไป ยิ่งตอนนี้คนอินเดียเยอะมากเลยครับในบอสตัน

14 ปีที่แล้ว ผมเริ่มต้นจากการอ่านนิตยสารธุรกิจและเทคโนโลยีของต่างประเทศเช่น
BusinessWeek , Time, Newsweek, Forbes, PC Mag, PC world, Wired, Fortune อ่านสารพัดเพื่อเรียนรู้ในช่วงแรกส่วนมากก็จะเน้นเกี่ยวกับเทคโนโลยี อ่านแล้วก็จด ๆ ไปนำเสนอผ่านทางรายการวิทยุ อันไหนยากหน่อยก็อ่านซ้ำๆ ไปมาเปิดดิกชั่นนารีบ้าง

พออ่านเข้าเรื่อยๆ ก็ชินไปเอง ผมถือคติอย่างหนึ่งว่าเอาหัวโขกกำลังไปเรื่อยๆ เดี๋ยวกำแพงก็ทะลุเองซึ่งในที่สุดผมก็ทำได้สำเร็จ บอกตัวเองเราก็มีความเพียรเหมือนกันนะ บางเรื่องอ่านแล้วก็นำไปเขียนบทความได้สตางค์เพิ่มขึ้นอีกด้วย วันเวลาผ่านไปก็สนุกกับการอ่านและภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น ผมก็ต้องลงทุนพอสมควร
เพราะสมัยก่อนไม่ค่อยมีห้องสมุดให้บริการแบบห้องสมุดมารวยของตลาดหลักทรัพย์ในกรุงเทพ
สำหรับห้องสมุดในต่างจังหวัด ถ้าไม่ใช่มหาวิทยาลัย ค่อนข้างจะมีนิตยสารภาษาอังกฤษไม่มากเท่าไหร่ อยากให้ปรับปรุงด้วย หรือควรจะมีครูสอนภาษาอังกฤษให้กับ ห้องสมุดประชาชนของแต่ละจังหวัดเพื่อเพิ่มพูนความรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น
กลางปี 2540 จนกระทั่งวันหนึ่งผมได้ซื้อนิตยสาร BusinessWeek (www.businessweek.com) มาอ่านในเนื้อหาบอกถึงการจัดอันดับโรงเรียนบริหารธุรกิจในสหรัฐฯ หรือ Bschool ที่มีการสอน MBA ผมมานั่งอ่านก็สนุกดีนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้สนใจศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจ เขาบอกว่า MBA ที่นั่นจัดอันดับได้ยอดเยี่ยมมากมีโรงเรียนบริหารธุรกิจชั้นนำได้แก่ Harvard, Wharton , Kellogg , MIT (โรงเรียนบริหารธุรกิจบางแห่งจะใช้ชื่อไม่ตรงกับมหาวิทยาลัยหรือใช้ชื่ออื่นแทนครับ)
อ่านไปก็เข้าไปดูในเว็บไซค์ของมหาวิทยาลัยก็สนุกไปอีกแบบ ในตอนแรกผมก็ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับ MBA เลยเพราะผมเองจบมาทางกฎหมาย ก็ค่อยๆ คุ้ยแคะแกะเกาไปเรื่อยๆ
ในท้ายแม็กกาซีนฉบับนั้นเองมีให้ขอรายละเอียดของ MBA แต่ละสถาบันโดยเขาจะส่งมาให้ฟรี ๆ มาที่เมืองไทย พร้อมกับบอกเว็บไซค์ผมยังจำได้ดีเสมอและเอาไปบอกให้กับแฟนรายการได้ไปสมัครกันบ้าง
ที่ www.businessweek.com/bizlink เดี่ยวนี้ไม่รู้ยังมีบริการอยู่หรือเปล่าก็ลองเข้าไปดูกันครับ
ผมก็เลยสมัครไปแต่ละแห่งในเว็บไซค์นั้น เพียงแค่ใส่ที่อยู่และคลิ๊กมหาวิทยาลัยที่เราสนใจจะไปเรียนเท่านั้น หลังจากนั้นไม่กี่อาทิตย์เอกสารจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ ก็ถูกส่งกลับมายังบ้านของผม
จำได้ว่ามี Columbia, Stanford และอีกหลายแห่งผมก็เอามาอ่าน ๆ เล่น เขาทำปกและเอกสารอย่างดี
เรียกว่าลงทุนกันหลายเงินครับ แต่ผมเองก็ไม่ได้ไปเรียนหรอกเพราะเห็นค่าเทอมแล้วก็ผงะแล้ว
เงินเดือนทำงานหลายปีรวมกันยังไม่ได้ค่าเล่าเรียนเลยเพียงแต่ได้เอกสารมาอ่านก็ได้ความรู้มากมายเหลือเกินแล้วครับ ขอย้อนหลังไปอีกสักนิดนึง ก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ผมเคยมีความคิดไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ
ในปี 2534 วิธีการที่ผมได้เรียนรู้การขอเอกสารเรียนต่อต่างประเทศจากสถาบันการเรียนภาษาอังกฤษ AUA ของจังหวัดเชียงใหม่
เขาให้หนังสือแนะนำเรียนต่อต่างประเทศของหน่วยงานชื่อ Petersons ผมก็ร่อนจดหมายไปยัง วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐฯ เขาก็ส่งเอกสารกลับมาให้ แต่พอถึงตอนให้ส่งเอกสารทางการเงินและค่าสมัครบางมหาวิทยาลัย 40 เหรียญบ้าง 50 เหรียญบ้าง เฉพาะค่าสมัครครับ รับไม่รับเป็นอีกเรื่อง ถ้าไม่รับก็เสียตังค์ฟรี สรุปรวมว่าก็ไม่มีสตางค์ส่งไปก็เป็นอันว่าไม่ได้ไปเรียนในตอนนั้น
ในตอนนั้นผมมีเอกสารจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐเพียบหลายสิบแห่ง ที่เป็นสมัครไปของนิตยสาร Businessweek ของ MBA แต่ละสถาบันก็คล้าย ๆ กัน
ท่านผู้อ่านสามารถเอาเอกสารเหล่านั้นจากมหาวิทยาลัยนั้นได้เพียงเหมือนกันครับ
เดี๋ยวนี้สะดวกกว่าแต่ก่อนมากเพราะเข้าไปในเว็บไซค์ของแต่ละสถาบันไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเขาส่งมาให้ทั้งนั้น
สำหรับของ Busienssweek ลองเข้าไปที่ www.businessweek.com/bizlink
ดูเหมือนจะยังมีอยู่แต่ไม่ค่อยอัพเดท เท่าไหร่ หรืออยากคอลัมภ์ที่เกี่ยวกับ MBA
ให้เข้าไปที่ www.businessweek.com แล้วคลิ๊กที่หัวข้อ B-School
ระบบการศึกษาของอเมริกันจะติดตามผู้สมัครอยู่ตลอดเวลา ตลอดเวลาที่ผมอยู่ที่สหรัฐฯ
ผมได้ไปลงทะเบียนของสถาบันหลายแห่งอย่างเช่น New York University, Columbia School of Jouralist, Cuny City University Of New York, New York Technology เป็นต้น
เขาจะส่งเอกสารมาทั้งทางอินเทอร์เน็ตและทางจดหมายอยู่ตลอดเวลา ทั้งกิจกรรมต่าง ๆ และ สัมมนา
แม้ว่าเราจะไปเรียนกับเขาหรือไม่ก็ตาม
กลับที่ขอเอกสาร MBA กันต่อครับ หลังจากนั้นเอกสารก็ส่งมาเรื่อย ๆ ที่บ้านใส่ซองปิดแสตมป์มาอย่างดี
ผมในช่วงนั้นตื่นเต้นและดีใจที่โลกของอินเทอร์เน็ตถูกเชื่อมโยงกับการศึกษาและโลกของความเป็นจริง
เป็นหลักสูตร MBA บ้าง Executive MBA สำหรับผู้บริหารบ้าง เมื่อเอกสารมาถึงก็เปิดดูถึงรายละเอียดและเนื้อหาของสถาบันนั้นๆ

เมื่ออ่านและซึมซับไปเรื่อยๆ ประกอบการการใช้ Search Engine ค้นหาข้อมูลและเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซค์ของสถาบันนั้น ๆ ผมเริ่มรู้จัก สถาบันและอาจารย์ ผู้มีชื่อเสียง บางท่านให้สัมภาษณ์ในนิตยสารต่างประเทศ ผมก็จำชื่ออาจารย์เหล่านั้น และเข้าไปดูว่าสอนวิชาอะไรและเขียนหนังสือแต่ละท่านมีงานวิชัยอะไรบ้าง
เมื่อรู้จักมากขึ้นก็ไปซื้อหนังสือที่เขียนมาอ่าน บ้างก็มีแปลเป็นภาษาไทย บางครั้งผมก็ควักเงินซื้อเป็นภาษาอังกฤษมาอ่าน ก็ทำอย่างนี้มาเรื่อย ๆ
ช่วงปี 2002-2003 (พ.ศ. 2545) ตอนนั้น Google เริ่มเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทย
เป็นจุดเริ่มต้นอีกครั้งที่เข้าไปค้นหาข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้น ครั้งนั้น E-commerce และ dotcom
เป็นที่สนใจมากสำหรับคนไทย กระแสของดอทคอม(ธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต)ยังคงอยู่ อาจารย์ในสหรัฐฯ ก็หันมาเน้นสอนเรื่องนี้
ช่วงเวลานั้น โรงเรียนบริหารธุรกิจ Kellogg ซึ่งอยู่ที่ชิคาโก ได้รับจากจัดอันดับว่าเป็นโรงเรียนบริหารธุรกิจอันดับหนึ่ง เมื่อผมได้ชื่ออาจารย์ และเข้าไปในเว็บไซค์ปรากฏว่า เข้าต้องให้ใช้รหัสของนักศึกษาเข้าไป ผมเลยใช้วิธีการค้นหาข้อมูลแบบ Advance โดยให้ google ค้นหาแบบไฟล์ เช่นให้ค้นไฟล์ word, PDF, Power pointก็สามารถเข้าไปดาวน์โหลดมาได้ ก็ได้ความรู้อีกระดับหนึ่ง สำหรับ Power Point แม้ว่าจะไม่เห็นรายละเอียดมาก แต่ สำหรับ PDF นั้นบางท่านเขียนวิจัยและตีพิมพ์เราก็พิมพ์ออกมาง่ายได้ความรู้ดี
เราใช้ความรู้ในการค้นหาข้อมูลพลิกแพลงไปมาก็ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น จากนั้นก็ลองเป็นรายวิชาบ้าง
ที่นี้ ไม่ใช่แค่ Kellogg อย่างเดียวแล้วครับ ผมตะลุยไปทุกที่ของการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลก ตั้งแต่ Harvard, Wharton , Stanford, UCLA , Duke, Yale ,และที่ต่าง ๆ อีกมากมาย

เมื่อเข้าไปหลากหลายที่ไปในหลายวิชาก็ได้รู้จักชื่ออาจารย์ผมก็เริ่มจำได้ อย่างเช่น
อาจารย์ที่เก่งด้านการตลาด ฟิลิป คอตเลอร์ ท่านสอนที่ Kellogg ท่านได้แต่งหนังสือ
Principle of Marketing มีแปลเป็นภาษาไทยก็เอาอ่าน ควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษ
ตำรับตำราของ คอตเลอร์ เขาบอกว่า เป็นตำราที่คลาสสิค ทุกคนที่เรียนการตลาดต้องอ่าน
หรือวิชาทางด้าน Finance หรือการเงิน ตำราที่มีชื่อเสียงที่เขาใช้กันก็คือของ
ยูจีน มีการแปลเป็นภาษาไทยโดย อ.เริงรัก จำปาเงิน แห่ง ม.รามคำแหง ความหนาของหนังสือเกือบ 700 หน้า
อาจารย์เริงรัก ก็ตั้งใจแปลอย่างดี ภายหลังผมกับอาจารย์เริงรักผมได้มีโอกาสพบท่าน 2-3 ครั้ง
มีอัธยาศัยน้ำใจดีไม่ถือตัวชอบเล่นกอล์ฟ และท่านเป็นผู้บริหารของสถาบันการศึกษานานาชาติของ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ไปทางด้านของโรงเรียนบริหารธุรกิจ Wharton Business School ผมได้เข้าไปเว็บไซค์
และเยี่ยมชมเช่นเดียวกัน ในช่วงนั้น ทางสำนักพิมพ์ AR Business Press ได้มีการแปลเป็นภาษาไทยทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้นในการเรียนด้วยตนเองของผม หนังสือเล่มนั้นมีชื่ออาจารย์หลายท่าน
และหลายวิชาทำให้สนุกมากขึ้น นั่งอยู่กับอินเทอร์เน็ตได้เรื่อยๆ ยิ่งค้นคว้ายิ่งสนุก
และตอนนั้นนิตยสาร MBA (ภาษาไทย)ขุมทรัพย์สำหรับนักเรียน MBA ที่ศึกษาด้วยตนเองอย่างผมมาก มีบทความดี ๆ มี Case Study หรือ กรณีศึกษาที่น่าสนใจแปลมาให้อ่านกันอยู่เรื่อย ๆ
และช่วงสมัยของนายกทักษิณ ชินวัตร ในช่วง ปี 2544-2548 จะมีการแนะนำหนังสือใหม่ ๆ ทางรายการวิทยุที่นายกทักษิณได้เอามาเล่าให้ฟัง รายชื่อหนังสือภาษาอังกฤษการจัดการที่ได้มีการแนะนำได้ถูกแปลเป็นภาษาไทยเป็นจำนวนมาก และปลายสมัยของนายกฯทักษิณก่อนที่จะถูกปฏิวัติได้มีการรวบรวมหนังสือที่อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ได้แนะนำแบ่งช่วง ๆ และหัวข้อที่น่าสนใจ เป็นอย่างยิ่ง




จับมือกับ Sasin หาความรู้ด้วยตนเองใหม่ๆ







ช่วงปี 2542-2543 ในตอนนั้นผมเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ ก้าววันใหม่ อ.ส.ม.ท. เป็นระยะเวลา 1 ปี
ตอนนั้นทำให้รู้จักกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมขอเรียกสั้น ๆ ว่า ศศินทร์แล้วกันนะครับ ช่วงเวลานั้นเป็นยุคของการตื่นตัววิชา Entrepreneurship หรือ วิชาผู้ประกอบการ
มีการประกวดการแข่งขันแผนธุรกิจในหลายภูมิภาคทั้งในเอเชียและสหรัฐฯ ปรากฏว่านักศึกษาของ ศศินทร์ ไปชนะเลิศการแข่งขันมา ผมก็เลยเชิญคณะนักศึกษาและคณาจารย์มาออกรายการทีวีเพื่อให้ประชาชนได้รู้จักและชื่นชมกับความสามารถของคนไทยจำได้ว่า แผนธุรกิจที่ไปชนะครั้งนั้นเป็นธุรกิจรับส่งดอกไม้ผ่านอินเทอร์เน็ต
หลังจากนั้นบางหลายสิ่งที่ทำให้ผมอย่างรู้จักสถาบันศศินทร์เพิ่มมากขึ้น
ก็เลยได้ทราบว่า ท่าน ดร.เติมศักดิ์ กฤษณมระ และ คุณบัญชา ล่ำซำ อดีตผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย อยากสร้าง
โรงเรียนบริหารธุรกิจชั้นนำแบบสหรัฐขึ้นมาในประเทศไทย จึงได้สร้างค้นหาสถาบันการศึกษาด้าน MBA ในสหรัฐฯ สุดท้ายก็ได้ 2 สถาบันมาร่วมกันกันได้แก่ Kellogg และ Wharton ด้วยวิสัยทัศน์ครั้งนั้น
ทำให้ศศินทร์ กลายเป็นพันธมิตรกับ Kellogg และ Wharton ได้ส่งอาจารย์มาสอนและนักศึกษาไปเรียนที่นั่นด้วยแต่ละปีที่ผ่านมา ซึ่ง Kellogg กับ Wharton ก็ได้รับการจัดอันดับ ไม่เป็นอันดับหนึ่งก็เป็นอันดับสอง
ของการจัดอันดับของ BusinessWeek ในแต่ละปี
หลังจากออกรายการทีวีและสัมภาษณ์วิทยุบ้างผมก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมที่ ศศินทร์ หลายครั้ง
และเป็นโชคอันดีประการหนึ่งของผม ดร.สิริยุพา รุ่งเริงสุข ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่นั่น
ครอบครัวของท่านเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเทพสิทธาจารย์ (ทอง สิริมังคโล) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง
ซึ่งผมเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของท่านอยู่ทำให้ผมประสานงานกับศศินทร์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น



ถ่ายกับหลวงปู่ทองที่ วัดไทยแอลเอ เดือน ก.ค. 2534

ภายหลังที่ผมได้ลาออกจาก อ.ส.ม.ท. ผมได้ตั้งบริษัทไทยเวนเจอร์ดอทคอม จำกัด
และวันหนึ่งกลางปี 2543 ผมมีความคิดว่า ที่ศศินทร์ มีอาจารย์เก่ง ๆ ระดับโลกมากมายมาสอน
ทำไมเราน่าจะเอาความรู้ด้าน MBA ของอาจารย์เล่านั้นมาออกอากาศทางวิทยุบ้าง เมื่อคิดได้อย่างนั้นแล้ว
ภาษาอังกฤษของผมก็ไม่ดีพอสำหรับที่จะสัมภาษณ์อาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก ทั้ง 2 สถาบัน
ช่วงนั้นมีเด็กนักศึกษาจากภาควิชาเศรษฐศาสตร์ภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาฝึกงานที่บริษัท
เด็กภาษาอังกฤษคณะเศรษฐศาสตร์แม้จะเป็นเด็กนักเรียนไทย แต่ภาษาอังกฤษดีมาก แต่ละคนมีความคิดอยากทำงานบริษัทฝรั่งพร้อมกันนั้นก็รู้จักสถาบันการศึกษาอย่าง Kellogg และ Wharton เป็นอย่างดี
น้องๆ เหล่านั้นก็อยากไปเรียนต่อหลังจากเรียนจบ เมื่อผมได้เล่าหน้าที่ของเธอว่า
ผมจะต้องคำถามในแต่ละวิชา หรือ เธอจะตั้งคำถามเองก็ได้ ให้ไปสัมภาษณ์มาแล้วเอามาแปลเป็นภาษาไทย
เวลาออกอากาศให้เปิดเป็นภาษอังกฤษและก็แปลเป็นภาษาไทยให้ผู้ฟังได้ฟังกัน ผมทำอยู่สัก 2-3 เดือนก็ต้อง
ปิดฉากลง แต่นั่นก็เป็นความมุ่งอยากให้คนไทยได้สัมผัสกับคณาจารย์เก่งๆ ที่ทั่วโลกยอมรักกัน


สถานฑูตไทยประจำกรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก

การศึกษาด้วยตัวเองของผมก็ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ซื้อหนังสืออ่านบ้าง อ่าน Magazine ก็เหมือนปกติ มีความเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ผมต้องเดินทางมาจัดรายการชั่วโมงเศรษฐกิจซึ่งเป็นรายการที่คุณจิระ ห้องสำเริงเป็นเจ้าของรายการ ที่สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงปี 2545-2548 สถานีวิทยุจุฬาฯ ตั้งอยู่บนอาคารวิทยพัฒน์ ซึ่งอยู่ใกล้กับสถาบันศศินทร์เพียงเดินแค่หนึ่งช่วงตึก และ โลกก็กลมอีกครั้ง เมื่อ ดร.สิริยุพา รุ่งเริงสุข ได้มาเป็นวิทยากรประจำให้กับผมในรายการทุกวันอังคาร เกี่ยวกับเรื่อง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นวิชาที่เธอรับผิดชอบอยู่ ผมก็เป็นผู้ดำเนินรายการ อาจารย์ก็เตรียมเนื้อหามา ผมก็นำประสบการณ์และความรู้ที่เรียนจากตัวเองถามอาจารย์ด้วย เรียกว่าทั้งของจริงและวิชาการปนกันไป ผู้ฟังก็ได้รับความสนุกสนานไปด้วย เพราะโลกของการศึกษากับโลกของความเป็นจริง บางครั้งก็ตรงข้ามกันอยู่เสมอ ความรู้นอกตำรากับในตำรามาบรรจบกัน
ในช่วงระยะเวลานั้นที่ศศินทร์ได้ทำให้ผมได้เรียนรู้ค้นคว้าด้วยตนเองอย่างเข้มข้นอีกครั้งหนึ่ง
ใครที่อยู่กรุงเทพจะทำตามแบบผมบ้างก็ได้นะครับ หรือ ใครที่อยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่มีห้องสมุดของมหาวิทยาลัย และ ร้านหนังสือชั้นนำทำได้เช่นกัน
ผมต้องเดินทางมาจัดรายการวิทยุเกือบทุกวันอยู่แล้ว หลังจากจัดรายการวิทยุเสร็จประมาณ 10 โมงผม
ก็จะต้องเข้าออฟฟิศแถวที่ตึกสาทรธานี บางครั้งก็ยังไม่อยากเข้าไป ก็เลยไปเดินเที่ยวที่ ศศินทร์
บนชั้น 7 ของ ตึกศศปาฐศาลา ซึ่งเป็นอาคารเรียนของศศินทร์ มีห้องสมุดประชาธิปก ผมได้เข้าไปที่นั่น
และเห็นมีหนังสือใหม่ ๆ แพงๆ มาให้นิสิตได้อ่านอยู่ตลอดเวลา มีหนังสือพิมพ์ ทั้งไทยและอังกฤษ
มองไปทางซ้ายเห็นนิตยสารใหม่ ๆ และเก่าให้อ่านและค้นคว้า เรียกว่าทั้งหนังสือเก่าและใหม่เต็มไปหมด
ผมเหมือนฉลามได้กลิ่นเลือด เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ด้วยรายได้ที่ไม่มากนัก และหนังสือต่างประเทศมีราคาแพงพอสมควรเล่ม 700-1,000 บาท ก็ควักเองอะไรเอง แต่สำหรับแม็กกาซีนไม่ค่อยน่าเป็น
ห่วง ทั้ง Forbes, Time, Newsweek , Golf Digest, Fortune , BusinessWeek ผมจะมีร้านซื้อประจำที่แผงหนังสือของน้าเล็กที่สวนจตุจักร สนนราคาเล่มละ 20 บาท บ้าง 30 บ้าง 40 บ้างตามแต่ราคา
สองอาทิตย์ก็ไปซื้อทีนึง เพราะในคอลัมภ์ก็มีแนะนำหนังสือใหม่ ๆ อยู่เสมอก็มาค้นในเน็ตบ้าง
กลับไปที่ห้องสมุดศศินทร์หลังจากที่ฉลามอย่างผมได้กลิ่นเลือด ที่นี่จะเป็นที่อ่านหนังสือและประหยัดสตางค์ค่าหนังสือได้พอสมควร แน่นอนผมไม่ใช่นักศึกษาของจุฬาฯ บุคคลภายนอกเข้าไปลงชื่อและอ่านได้อย่างเดียว แต่มีวิธีที่จะได้หนังสือเหล่านี้ไปอ่านครับ ในห้องสมุดของศศินทร์นั้นมีร้านถ่ายเอกสารให้ถ่ายเอกสาร
นักศึกษาใช้บริการกันเยอะมาก ผมก็ลองให้เอาหนังสือไปถ่ายเอกสารบ้าง กฎหมายลิขสิทธิ์ยกเว้นเรื่องของการศึกษา อีกอย่างหนังสือบางเล่มหาซื้อไม่ได้แล้วก็ต้องถ่ายเอกสารแน่นอน อย่างเช่น Father Son & CO
เป็นประวัติของผู้ก่อตั้งบริษัท IBM หาซื้อไม่ได้แน่นอนครับ
ผมได้ใช้ทรัพยากรที่ห้องสมุดศศินทร์อย่างเต็มที่เหมือนกับนักศึกษาคนหนึ่ง
ในแต่ละสัปดาห์ ผมต้องไปห้องสมุดศศินทร์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง และได้ซึมซับวิชาต่าง ๆ MBA ไปเรื่อย ๆ ต้องขอขอบพระคุณอีกครั้งหนึ่ง
หนังสือหนังหาต่าง ๆ ที่ได้อ่านนั้นก็เท่าทันพอ ๆ กับที่เขาเรียนกันนั้นชั้นเรียนนั้นครับ
สำหรับผู้อยู่ต่างจังหวัดผมขอแนะนำให้ไปใช้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยจะดีที่สุดครับ




Harvard Business School กับ ประสบการณ์ตรงในธุรกิจ




ห้องเรียน
Harvard Business School


ด้วยอาชีพที่เป็นนักธุรกิจเล็ก ๆ และสื่อมวลชนอิสระอย่างผม ทำให้ผมได้เจอบุคคลที่หลากหลายวงการมาก
และได้พบปะผู้คนเป็นจำนวนมาก ทำให้ผมได้เรียนรู้ของจริงที่ไม่ได้มาจากหนังสืออย่างเดียว
บางครั้งวิชาการในหนังสือและตำรับตำราใน MBA ไม่ได้เอามาใช้ในชีวิตจริงได้เลย
และตอนที่ผมไป Harvard Business School เพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าเรียน
ที่สถาบันแห่งนี้ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2551 ช่วงที่เขากำลังแนะนำหลักสูตรให้กับผู้สนใจ มีหนุ่มคนหนึ่งไม่รู้กินดีหมีอะไรมากถามเจ้าหน้าที่ที่กำลังแนะนำหลักสูตร เขาถามได้ถูกใจผมอย่างยิ่ง
“เราจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าหลักสูตรทางการศึกษาของ Harvard จะเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” เด็กหนุ่มคนนั้น ซึ่งอ่อนกว่าผมแน่นอน ถามได้ถูกตรงกลางหัวใจอย่างยิ่ง
“คุณต้องมาลองเรียนดูก่อนประสบการณ์ของผู้ที่มาเรียนที่หลากหลายจะสอนในชั้นเรียน”
เจ้าหน้าที่หญิงซึ่งผมดูแล้วน่าจะเป็นชาวจีนได้บอกกับผู้เข้าร่วมชั้นทั้งหมดที่มาจากหลายประเทศ
หนึ่งในนั้นก็มีกระเหรี่ยงอย่างนั่งรวมอยู่ด้วย เธอไม่รู้หรอกว่าผมก็เรียนหลักสูตรของ Harvard มาด้วยตนเองอยู่บ้าง ในความเห็นของผมก็ตรงกับเหมือนกับเจ้าหนุ่มคนนั้น ผมก็คิดว่าหลักสูตรของ Harvard นั้นก็เป็นหลักสูตรการจัดการกว้าง ๆ บางครั้งก็ไม่ได้ลงลึกมาก และมีบางอย่างที่ไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเช่น เรื่องการตลาดออนไลน์ บางรายวิชานั้นยังสู้กับเว็บไซค์และกรณีศึกษาของ Wharton Business School และ Stanford ไม่ได้ด้วย
อยากแชร์ประสบการณ์เพิ่มเติมอีกนิดให้เห็นในแต่ละมุม ว่าก็มีผู้คนไม่เห็นด้วยกับ HBS ก็มี
และบางครั้ง HBS ก็ตัดสินใจผิดพลาดเช่นกัน ก่อนผมเดินทางไป Harvard ไม่กี่วัน
บ้านพักของผมอยู่ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิวาเนีย เมืองนี้เป็นเมืองหลงเก่าของสหรัฐฯ
ซึ่งรัฐธรรมนูญของสหรัฐก็ร่างที่เมืองนี้ละครับ (เมืองฟิลาเดลเฟียอยู่ห่างจากบอสตันประมาณ 6 ชั่วโมง) ห่างจาก โรงเรียนบริหารธุรกิจวาร์ตัน เพียง 4 ไมล์เท่านั้น ผมก็ไปที่นี่ค่อนข้างบ่อย วันที่ผมไปรับฟังข้อมูลและ Campus Tour หรือเดินเที่ยวชมมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าวันนั้นมีวิศวกรชาวจีนคนทำงานอยู่ฝ่ายวิจัยของบริษัทมิตซูบิชิ มาหาข้อมูลเรียนที่ Wharton เหมือนกัน
หลังจากได้คุยกันสักพักนึง เขาบอกว่า ความจริงแล้วเขาก็อยู่ที่บอสตัน นั่นแหละ สาเหตุที่เขาสนใจที่ Wharton ก็เพราะ “Harvard สอนแต่ Case Study หรือ กรณีศึกษา เขาไม่ชอบอย่างนั้นก็เลยลงมาดูที่นี่”

ครับ กรณีศึกษากับชีวิตจริงก็เป็นคนละเรื่องชีวิตของผมในโลกธุรกิจ เกือบ 9 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ลาออกจากการเป็นข้าราชการรัฐวิสาหกิจ มาเป็นเถ้าแก่
แม้จะศึกษา MBA มาด้วยตัวเอง อ่านมาก็เยอะ แต่พอจริงๆ แล้ว ใช้แทบจะไม่ได้เลย
เพราะกิจการเราอาจจะเล็กเกินไปหรือเราบริหารไม่เก่ง เช่นการหมุนเงิน,ยืมเงิน มาใส่สภาพคล่อง ,การบริหารลูกน้องที่ทำงานร่วมกับเราเพียงคนเดียว ทุกอย่างประยุกต์เองหมด
หนังสือหนังหาพับใส่กระเป๋าไว้ก่อน ความรู้ธุรกิจทฤษฏีบางครั้งก็คิดขึ้นเอง บางครั้งก็ต้องใช้ธรรมะของพระพุทธเจ้าบริหารธุรกิจแทน ความรู้จาก MBA
นักธุรกิจเถ้าแก่เล็ก ๆ อย่างผม ซึ่งผมก็เชื่อว่ามีอีกหลายแสนคนในประเทศไทยที่อยู่ในสภาพเดียวกันมาก่อน เปรียบเทียบไปแล้วบางคนก็มวยวัด ขึ้นไปซัดกันเลยกับโลกธุรกิจไม่ต้องมีหลักการหัดกับครูมวย พันมือใส่นวมใส่ฟันยาง ใส่กระจับก็ขึ้นไปชก กว่าจะเป็นมวย เจ็บตัวทุกรายผิดกับพวกมีครูมวยและค่ายมวยที่ฝึกซ้อมอย่างมีกฎเกณฑ์และหลักการ
ผมในฐานะสื่อมวลชนก็อยากรู้วิธีทำธุรกิจในส่วนตัวเองและนำความรู้นั้นไปบอกต่อกับผู้อื่นทางวิทยุ
ถ้าหากผมอยากรู้เรื่องไหนทั้งการตลาด,การจัดการ,การบริหาร ผมก็เชิญอาจารย์หรือนักธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญหรือที่เก่งเฉพาะด้านนั้นมาสัมภาษณ์ออกรายการวิทยุและผมเองก็เรียนรู้ไปด้วยกับแฟนรายการวิทยุ
เช่นคุณเรวัตร จินดาพล ผู้ก่อตั้งมิสลิลลี่ และ สนามกอล์ฟ บูลแคนยอน จ.ภูเก็ต ,คุณปรเมศวร์ มินศิริ แห่ง Kapook.com เยอะมากมายหลายท่านจำได้ไม่ไหมครับ และยังมีสัมภาษณ์ในบทความต่าง ๆ เช่นคอลัมภ์กอล์ฟ และรายการวิทยุที่ผมรับผิดชอบ ยิ่งตอนที่เขียนคอลัมภ์กอล์ฟ ผมได้มีโอกาสใกล้ชิดกับนักธุรกิจระดับประเทศที่เก่ง ๆ ครั้งละหลายชั่วโมงเพราะการเล่นกอล์ฟในแต่ละกินเวลาอย่างน้อย 4 ชั่วโมงและทานอาหารเย็นต่ออีกหนึ่งชั่วโมง ในช่วงนั้นผมได้เรียนรู้ประสบการณ์อย่างใกล้ชิดมาก ๆ
อย่างเช่น คุณอุดม ตันติประสงค์ชัย ผู้ก่อตั้งสายการบิน one2go, คุณนารถ ลิ่วเจริญ แห่ง CDG Group บริษัทผู้ให้บริการไอทีที่มียอดขายเกือบ 1 หมื่นล้านบาท , คุณเรวัตร จินดาพล แห่งมิสลิลลี่, คุณแฮรี่ หยาง แห่งเอเซอร์ ผู้ผลิตโน้ตบุ๊ค สัญชาติไต้หวันที่มียอดขายมากที่สุดในประเทศไทย เขาบอกว่าครอบครัวเขาเคยเป็นชาวนามาก่อน , คุณ จูเลียน เจ ไฟรเอ็ด ผู้บริหารบริษัทเครื่องถ่ายเอกสาร ริโก้ ชื่อฝรั่งแต่ท่านเป็นคนไทย,
ได้รับประสบการณ์ทั้งด้านการบริหารธุรกิจและในด้านประสบการณ์ชีวิต ครั้งหนึ่งที่ผมประทับใจอย่างยิ่งนั่นคือ การเรียนรู้วิชา Entreprenuership หรือผุ้ประกอบการ ที่แง่คิดอย่างดีมาก มีการแข่งขันกอล์ฟของสมาคมผู้สื่อสารวิทยุและโทรทัศน์ จำได้ว่า ในก๊วนของผมมีคุณ โฆสิต สุวินิจจิต ผู้ก่อตั้ง บริษัทมีเดียออฟมีเดีย
ผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์และวิทยุของไทย (บริษัทมีเดียเคยประสบปัญหาธุรกิจมาอย่างหนักมากช่วงหนึ่ง)ระหว่างที่เล่นกอล์ฟก็ได้สนทนากันหลายเรื่อง เกี่ยวกับ ชีวิตธุรกิจของท่าน ในฐานะที่ผมเป็นผู้น้อยและสนใจเรื่องธุรกิจอยู่แล้ว ท่านคงเห็นผมเป็นผู้น้อย ครั้งนั้นผมยังอยู่ในวัย 30 ต้น ๆ ผมได้ถามคำถามว่า
ช่วงที่บริษัทมีปัญหามาก ๆ มีหนี้หลายร้อยล้านทำอย่างไรแก้ปัญหาครับผม
“เจ้าของธุรกิจที่ก่อร่างสร้างตัวมานั้น เมื่อประสบปัญหามีมรสุมกับบริษัทก็เหมือนกับเราอยู่บนเรือที่กำลังรั่ว คนที่อยู่บนเรือก็ต้องช่วยกันอุดรอยรั่วต่าง ๆ ให้เรือสามารถวิ่งต่อไปได้ แต่ถ้ากระโดดลงเรือก็ถือว่าทุกอย่างก็จบ” คุณโฆษิตบอกกับผมที่สนามกอล์ฟเพรสซิเด้นท์
ผมก็ยังจำได้ดีอยู่เสมอ
นั่งคือเทคนิคการเรียนรู้ด้วยตนเองของผม ในยุคก่อน
สำหรับยุคใหม่การเรียนรู้ด้วยตนเองได้ปรับเปลี่ยนฉาก ตามเทคโนโลยี
มัลตีมีเดียเพิ่มมากขึ้นเพื่อสถาบัน MBA ในต่างประเทศแข่งกัน
มี Harvard ที่ยอดเยี่ยมมากขึ้น และ การขับเคลื่อนของโลกที่หมุนเร็วมากขึ้น
และคนที่มีส่วนสำคัญต่อการเรียนยุคใหม่ของผม นั่นคือ
สตีฟ จ๊อบ ที่ผลิตเครื่อง IPOD , Itunes และการเกิดขึ้นของ iTunes University
ทำให้เราทุกคนสามารถเรียนที่ Harvard ได้เสมือนจริงมากยิ่งขึ้นครับ

อ่านต่อตอนหน้า











ความคิดเห็น