สุนทรพจน์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของ นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

ผมเป็นคนชอบฟังสุนทรพจน์นายกฯ ทักษิณ แล้วจะถอดรหัสว่า ทิศทางของประเทศจะไปทางไหน
เวลานายกฯทักษิณ ไปบรรยายที่ไหน สังเกตจะเลือกกลุ่มเป้าหมายด้วย แต่ถ้าไปอยู่ในกลุ่มนักปราชญ์จะ
ใส่ปัญญาแบบสุด ๆ สำหรับสุนทรพจน์นี้ผมคิดว่าดีที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่ได้ฟังมาขอให้ทุกท่านได้อย่างอย่างพิจารณานะครับ แล้วจะรู้ว่า ประเทศไทยสูญเสียอะไรไปมากมายหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน



From นายกฯ ทักษิณ ...

คำกล่าวปาฐกถาพิเศษ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
เรื่องเศรษฐกิจไทยในสถานการณ์โลกใหม่
ในพิธีมอบเข็มและประกาศเกียรติคุณ
ให้กับนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่น ประจำปี 2545
ณ ห้องกมลทิพย์บอลรูม โรงแรมสยามซิตี้
วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2545 เวลา 12.30 น.

--------------------------------------

กราบเรียนท่านอดีตประธานรัฐสภา ในฐานะนายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย
ท่านกรรมการสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย
ท่านผู้ได้รับรางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่นทั้ง 5 ท่าน
สมาชิกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย
ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพรักครับ
ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความยินดีกับนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่นประจำปีนี้ทั้ง 5 ท่าน เกียรติประวัติแต่ละท่านนั้นได้ทำคุณงามความดีให้กับประเทศมามาก วันนี้สมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทยก็แข็งแรงขึ้นมาก 20 กว่าปีภายใต้การนำของท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำให้พวกเรามาร่วมกิจกรรมกันมากขึ้น ซึ่งผมขอขอบคุณทุก ๆ ท่านที่ได้มาร่วมกันใช้สมาคม ฯ ใช้เวทีสมาคม ฯ เป็นที่พวกเราจะได้ช่วยกันคิดว่าเราจะช่วยชาติบ้านเมืองอย่างไร นอกจากหน้าที่การงานตามปกติ ซึ่งหลายคนก็รับราชการเป็นส่วนใหญ่ วันนี้เรากำลังต้องการสมอง เพราะโลกยุคใหม่เป็นโลกของสังคมฐานความรู้ แต่ว่าสมองเราที่มีอยู่บางทีกระจัดกระจายไม่ได้รวมพลัง และไม่ได้ถูกปลดปล่อย บางทีถูกกดไว้ ถูกเก็บไว้ ถูกเอาไว้ในที่จำกัด ผมจึงอยากเห็นสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ซึ่งท่านทั้งหลายที่เป็นนักเรียนทุนนั้น ผมเชื่อและเป็นจริงอย่างนั้น คือเป็นคนซึ่งมีพื้นฐานการศึกษาดี และมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี แต่เรายังไม่ค่อยมีเวที แต่เราอยากจะรับใช้ชาติ ผมเชื่อว่าทุกคนมีความตระหนักว่าเราไปเรียนด้วยทุนรัฐบาล ซึ่งเป็นเงินภาษีอากรประชาชน รวมทั้งทุนที่เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ซึ่งถ้าเรามีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถของเราเต็มที่ เราก็คงอยากจะทำกัน พวกเราต้องใช้เวทีนี้เป็นเวทีหลักอันหนึ่งของการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ต้องมีการถูกกดพลังสมอง จะได้ใช้กันเต็มที่
ผมเองก็มีโอกาสได้เป็นนักเรียนทุน จริง ๆ แล้วก็ใช้ทุนทั้งประเภทหนึ่งประเภทสอง รวมกันก็ 4 ปี ได้รับราชการใช้หนี้หลังจากรับทุนมาแล้วก็ 12 ปี ตอนนี้มาใช้หนี้อีกระดับหนึ่ง คือใช้หนี้โดยการมาเป็นนายกรัฐมนตรี ความจริงแล้วเขาบอกว่าใช้หนี้สองเท่า คือ 4 ปีก็ เป็น 8 ปีก็พอแล้ว แต่จริงๆ ไม่เกี่ยวหรอกครับ ที่ผมพูดไป 8 ปี 16 ปี 4 สมัยนั้น พูดในบรรยากาศคนละบรรยากาศ ผมไปพูดในบรรยากาศของการประชุมในการสังสรรค์พรรค เพื่อให้เกิดความฮึกเหิม เกิดความเป็นปึกแผ่น และผมพูดในหลายโอกาสเพื่อให้เกิดความมั่นใจในทิศทางประเทศไทย เพื่อให้คนไทย นักธุรกิจไทย นักธุรกิจต่างประเทศ ได้มั่นใจในทิศทางประเทศไทย เพื่อให้เข้าใจในเรื่องของความเข้มแข็งของระบบการเมืองและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งกำลังอยู่ในยุคที่กำลังจะเปลี่ยนครั้งใหญ่ ต้องการตรงนั้นมากกว่า แต่ว่าบางคนไปตีความเหมือนกับว่าผมอยากอยู่นาน ความจริงแล้วถ้าถามว่าชีวิตที่มีความสุขนี้คือชีวิตที่มีภารกิจน้อย ๆ มันมีชีวิตสนุกกว่า แทนที่จะถือว่าเป็นภารกิจที่ต้องตอบแทนบุญคุณประเทศชาติ เป็นหน้าที่ของคนไทยคนหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นเรื่องของการติดยึด บางคนไปเข้าใจและตีความผิด ก็เลยอธิบายให้ฟังว่าท่านทั้งหลายวันนี้ใครมีโอกาสทำอะไรให้บ้านเมือง ทำทันทีที่โอกาสให้ทำ ทำให้ดีที่สุด เมื่อไม่มีโอกาสแล้วเราจะได้ไม่เสียใจว่าวันที่เรามีโอกาสแล้วเราไม่ได้ทำ เมื่อมีโอกาสแล้วทำให้ดีที่สุด แล้วไม่ต้องไปยึดติดมัน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไป มันอยู่ในวัฏสงสารทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราจะไปยึดติดว่าต้องอยู่นาน ๆ ทุกข์ครับ แต่ทำให้ดีที่สุด ทำสุดความสามารถในขณะที่เรามีหน้าที่ทำ แล้วมีความสุขกับมัน จนถึงวันที่เขาบอกว่าเราหมดหน้าที่แล้ว เราก็ขอบคุณเพราะเราจะได้พักผ่อนสักที ต้องเป็นอย่างนั้น เรียนให้ทราบเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น
ในโลกยุคใหม่นี้ผมย้ำอีกครั้งว่า เราอยากได้พลังสมอง มาพูดกับนักเรียนทุนรัฐบาลไทยต้องย้ำครับ
มีหนังสือเล่มหนึ่งเพิ่งออกมาไม่นานนี้เอง ชื่อ The War for talent เป็นหนังสือที่พูดถึงว่าหน้าที่ในการหาคนเก่งคนดีเข้าสู่องค์กรนั้นเป็นหน้าที่ของ CEO ไม่ใช่หน้าที่ของ Personnel หรือ Human Resource อีกต่อไป เพราะว่ามันยาก ต้องใช้วิธีพิเศษในการที่จะต้องหา The best The brightest เข้าสู่องค์กร และการดึงเข้ามาแล้วยังไม่พอ ต้องสามารถที่จะพัฒนาเขา แล้วก็ฝึกหัดเขาไว้ คือพัฒนาแล้วเก็บไว้ให้ได้ นั่นเป็นเรื่องใหญ่
แต่วันนี้เราได้คนที่หัวดี ๆ ไปเรียนหนังสือเมืองนอกกันมามากมาย แต่เราใช้เขาน้อย เข้ามาถึงก็ส่งเข้าไปในระบบ พอส่งเข้าไปในระบบก็หายไปในระบบ ส่งไปอยู่ต่างประเทศจบHarvard (www.harvard.edu) จบ Yale(yale.edu)ก็ไปยกกระเป๋า เพราะเวลาผู้ใหญ่ไปเยี่ยมไปดูงานต่างประเทศก็ต้องไปยกกระเป๋าไปเข้าที่พัก ไปจ่ายเงิน ไปเก็บของหิ้วถุง คือเข้าสู่ระบบหมดไม่ได้ใช้สมอง พอเข้าระบบก็ดูซี พอดูซี ซีนี้คุณมีหน้าที่รับใช้ก็ต้องรับใช้ไป ซีนี้ใหญ่หน่อยโง่หน่อยก็ไม่เป็นไร คือเอาตามลำดับซี อย่างนั้นไม่ได้ครับ วันนี้เป็นโลกที่เราจะต้องคิดว่าทำอย่างไรถึงจะดึงคนหัวดีมาทำงานให้มาก หัวดีนั้นไม่พอ ต้องเสียสละเป็นด้วย หัวดีขี้เกียจไม่เสียสละเห็นแก่ตัวก็ไม่ไหวเหมือนกัน ให้ผมมาพูดเรื่องเศรษฐกิจไทยในสถานการณ์โลกใหม่ ผมก็ไม่ค่อยรู้จะให้พูดเรื่องอะไร พูดไปเรื่อย ๆ แล้วกันครับ ถ้าหากว่าเบื่อก็ยกมือบอกจะได้หยุด
โลกยุคใหม่คงต้องย้ำกันอีกที เราหมายถึงอะไร หมายถึงว่าวันนี้หลังจากภาวะวิกฤติก่อนภาวะวิกฤติเราพูดกันถึงเรื่องโลกาภิวัตน์ (Globalization) แล้วหลังจากวิกฤติเราก็มึนกันหมดทั้งโลก ซ้ำด้วยเหตุการณ์ 11 กันยายนเข้ามา หลายประเทศวันนี้กำลังหาทางออกให้ตัวเองไม่เจอ แล้วบางประเทศทำท่าจะล้มรอบสอง IMF วันนี้เงียบไม่มีเสียงเพราะรู้ว่าสูตรตัวเองพลาด วันนี้ทุกคนกำลังตั้งหลักว่าไปตรงไหนดี นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องมาวิเคราะห์กัน สรุปแล้วคือความเข้าใจตัวเองและเข้าใจโลกเข้าใจการเปลี่ยนแปลง คือหัวใจของความสำเร็จในการแก้ปัญหา หลายคนแก้ปัญหาโดยการไปเรียนรู้เลียนแบบจากต่างประเทศ แต่ไม่ได้เข้าใจตัวเองว่าตัวเองไปได้หรือเปล่า การเข้าใจตัวเอง การเข้าใจโลก การเข้าใจพลวัต การเข้าใจสิ่งที่เปลี่ยนแปลง และเข้าใจจังหวะของการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องที่สำคัญและจะต้องถูกคิดตลอดเวลา
โลกยุคใหม่เป็นโลกที่ใครก็พูดกันว่าเป็นสังคมฐานความรู้ แสดงว่าสินค้าที่จะขายกันต่อไปในอนาคต สัดส่วนของราคาที่จะได้มาจากสมองมากกว่ามาจากวัตถุดิบและทักษะ ต้องเข้าใจตรงนี้ เพราะฉะนั้นต้องเอาสมองเป็นตัวเพิ่มคุณค่ากับสินค้า มากขึ้นเท่าไรก็จะได้เงินมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นความรู้และปัญญาจึงเป็นหัวใจสำคัญของโลกข้างหน้า

นี่ผมพูดถึงโลกก่อน ใครชอบอ่านหนังสืออัลวิน ทอฟเลอร์เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว อัลวิน ทอฟเลอร์ พูดนานมากแล้ว และวันนี้เป็นจริงอยู่ สิ่งที่อัลวิน ทอฟเลอร์พูดถึงในเรื่องของคลื่นลูกที่สาม เขาพูดถึงเรื่อง Information Technology นี่แหละ แต่คนสนใจเฉพาะ Information Technology แต่ในนั้นมีอะไรมากกว่านั้น เขาบอกว่ามนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง เผาผลาญ เพราะฉะนั้นความรู้ทางเทคโนโลยีจะเริ่มมาทดแทนสิ่งที่เสียหายและสูญหายไปจากการใช้และเผาผลาญของมนุษย์ อันที่สอง มนุษย์เริ่มมีความรู้สึกว่าสุขภาพพลานามัยเป็นเรื่องสำคัญ จะเกิดความระมัดระวังเรื่องของสุขภาพพลานามัย และจริง ๆ ก็ใช่ มนุษย์ยุคใหม่หาเงินเก่ง พอหาเงินเก่ง รวยเท่าไรก็กลัวตายมากเท่านั้น เพราะฉะนั้นความระมัดระวังเรื่องของสุขภาพพลานามัยนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ผมพูดเพื่อให้รู้ว่าเราจะทำมาหากินอะไร อันที่สาม เรื่องสิ่งแวดล้อมถูกทำลายไป วัฒนธรรม ศิลปะ ถูกเรียกร้องว่าเราจะต้องเกิดการนำกลับมาซึ่งศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ นี่อัลวิน ทอฟเลอร์ พูดไว้ชัดเจน
อีกคนหนึ่งคนนี้หัวดีก็พูดไว้เหมือนกัน คือนายไมเคิล มิลเกนทส์ ซึ่งเป็นราชา Junk ball แล้วไปติดคุก คนนี้ระหว่างติดคุกก็นั่งเขียนหนังสือ อ่านหนังสือมาก นายคนนี้บอกว่าตอนนี้ฟิสิกส์ตันแล้ว ผมก็ไปถามอาจารย์ที่ต่างประเทศว่าฟิสิกส์ตันเพราะอะไร เขาบอกว่าสูตรที่คิดมา วันนี้ไม่มีห้องแล็บที่ไหนที่จะพิสูจน์ได้อีกแล้ว มันก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์ (Break through) ไปมาก แม้กระทั่งแล็บในอวกาศก็ยังไม่สามารถเพียงพอในการที่จะพิสูจน์สูตร คือมีมาก ไม่ท้าทายแล้ว สิ่งที่จะท้าทายต่อไปและเป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาการต่อไปนั้นคือเคมีกับ Life science หรือ Biotechnology (
www.biotec.or.th) นั่นคือสิ่งที่ท้าทายโลกใหม่ ถ้าหันมาดูเรื่องของการตลาด การเมืองระหว่างประเทศกับการตลาดถูกนำมาใช้ด้วยกัน ระบบกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่เรื่องของภาษีมีมากขึ้นทุกวัน เพราะคนพยายามปกป้องตลาดของตนเอง ปกป้องฐานเสียงของตัวเอง นั่นคือเกษตรกรผู้ใช้แรงงาน เพราะฉะนั้นจะออกกติกาที่เป็นระบบกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่เรื่องของภาษีมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วตลาดที่คนเอเชียแย่งกันไปเจาะได้พรุนหมดแล้ว แต่ตลาดใหม่ไม่เข้าไปเจาะ เจาะตลาดเดียวกัน ตลาดของประเทศที่เจริญแล้วแย่งกันจนพรุน
หันกลับมาดูเรื่องของการบริหาร โลกได้พัฒนาตัวเองจากการแข่งกันด้านคุณภาพในปี 1980 มาแข่งกันเรื่องกระบวนการในปี 1990 พอปี 2000 มาแข่งกันเรื่องของความเร็ว ใครเร็วกว่าใครฉับพลันกว่า แต่เร็วต้องแม่น
(บิลเกตเขียนหนังสือเรื่อง business @ the speed of thougth )
เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นการแข่งขันยุคใหม่ และโลกมีการเคลื่อนที่มีพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงสูงและเร็ว อายุของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้นจะสั้นลง เพราะฉะนั้นเขาต้องการความฉับไวในการเปลี่ยนแปลง ในการพลวัตเทคโนโลยี ตรงนี้คือเปลี่ยนแปลง สิ่งที่โลกเรียกร้องและวันนี้โลกทั้งประเทศหลังค่ายคอมมิวนิสต์ล่มสลาย ประชาธิไตยเบ่งบานทั่วไปหมด แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ ระบบบริหารเศรษฐกิจแบบทุนนิยมควบคู่กันมา ส่งเสริมให้เกิดกลไกตลาดหรือการค้าเสรีมากขึ้น แรงขึ้น
แต่ปรากฏว่ามีการวิเคราะห์วิจัยกันตลอดเวลาว่าระบบทุนนิยมมีความสำเร็จเพียงไม่กี่ประเทศในโลกนี้ แต่ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ในหลายประเทศ เพราะใช้ทฤษฎีเดียว เพราะทุกคนถูกบังคับว่าต้องแข่งขันกันเสรี ทุกคนถูกเป่านกหวีดและให้แข่งพร้อมกัน ออกจากเส้นสตาร์ทพร้อมกัน คุณจะป่วยคุณจะขาเป๋คุณจะอะไร บังคับว่าคุณต้องแข่งพร้อมกัน ผมแข็งแรงกว่าแต่ผมจะบังคับว่าคุณต้องแข่งพร้อมกับผม ณ จุดเริ่มต้นเดียวกัน นั่นคือสิ่งที่ตามมาของระบบโลกเสรีประชาธิปไตย
ทีนี้เรามาดูของเราบ้าง เกิดอะไรขึ้น เราเป็นประเทศที่เป็นสองสังคมในประเทศเดียวกัน เราต้องยอมรับว่าสังคมเรามีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างสังคมเมืองที่พวกเรานั่งกันอยู่ที่นี้ มีความรู้มีการศึกษา มีความสามารถในการเข้าสู่แหล่งทุนและแหล่งความรู้อย่างเต็มที่ เป็นสังคมเมือง หันกลับไปออกนอกกรุงเทพ ฯ ครู่เดียวเท่านั้นเอง ขับรถไปชั่วโมงเดียว เกิดความแตกต่างของสังคมอย่างสิ้นเชิง สังคมชนบท สังคมที่การศึกษาไม่เพียงพอ สังคมที่ไม่มีทุน เข้าหาแหล่งทุนเข้าหาแหล่งความรู้ลำบาก สังคมที่ต้องหาเช้ากินค่ำ นั่นคือสิ่งที่แตกต่างกัน แต่จำนวนประชากรฐานบนมีน้อยกว่า แต่มีความใหญ่ของขนาดเศรษฐกิจมากกว่ามาก สังคมฐานล่างมีจำนวนประชากรมากกว่ามาก แต่ความใหญ่ของขนาดเศรษฐกิจเล็กเหลือเกิน เปรียบเทียบกันไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจ เพราะฉะนั้นถามว่าแล้วคนไทยรุ่นใหม่เป็นอย่างไร เป็นผลผลิตของระบบการศึกษาที่ล้าสมัย เป็นการศึกษาที่สอนให้คนคิดมิติเดียว คิดบูรณาการไม่เป็น หาความเชื่อมโยงไม่ถูก ขณะที่โลกกำลังเข้าสู่สังคมฐานความรู้ ภาษาเราอ่อน แล้วการที่จะเข้าสู่ความรู้ได้เร็วที่สุด
ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล หนังสือที่พิมพ์ออกมาเป็นภาษาอังกฤษรุ่นใหม่ ๆ ออกมาแทบจะทุกวินาที ยิ่งอ่านเรายิ่งมีความรู้สึกว่าเราไม่ค่อยรู้ เราไม่ใฝ่รู้อีกต่างหาก เรียนจบรีบฉลองเลย จบการศึกษาคือเลิกศึกษาแล้ว เพราะเราเรียนเพื่ออะไร เพื่อต้องการประกาศนียบัตร ต้องการวุฒิบัตรเพื่อให้ครบ เพื่อจะไปทำมาหากิน แต่ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่จะไปทำมาหากินที่แท้จริงและยาวนานนั้นคือความรู้ที่อยู่ในสมอง เราคิดว่าเรียนเพื่อเอาประกาศนียบัตรมากกว่าเรียนเอาความรู้ เราติดใจรูปแบบติดใจความสมบูรณ์ทางกฎหมายมากกว่าเนื้อหา
เราเป็นประเทศที่เนื้อหา (Substance) น้อย รูปแบบมาก พอเราส่งคนไปเรียนต่างประเทศ บางคนก็ติดนิสัยท่องจำตั้งแต่เป็นนักเรียนไทย ไปเรียนต่างประเทศก็ท่องทฤษฎีแม่นมาก กลับมาก็ท่อง พอจะใช้ก็เลียนแบบ ประยุกต์ไม่ถูก นี่คือสิ่งที่เป็นห่วงครับ
เด็กรุ่นใหม่ติดยาจำนวนมากหลายแสนคน แต่แน่นอนก็มีเด็กอัจฉริยะอยู่พอสมควร ตอนนี้เรากำลังจะต้องปรุงเด็กเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เราไปเรียน หลายคนจบ Ph.D. ต้องตระหนักครับ Doctor of Philosophy เพราะฉะนั้นทฤษฎีที่ท่านเข้าใจ ท่านต้องเข้าใจปรัชญา เข้าใจที่มา เข้าใจสมมุติฐานกว่าจะมาเป็นทฤษฎี แล้วท่านจะเข้าใจปรัชญาของทฤษฎีนั้น ๆ แล้วจะเอามาประยุกต์ แล้วใช้ถูก แต่หลายคนไม่ เรียนให้จบ จบมาแล้วปรากฏว่ายังเลียนแบบ ตรงนี้คือจุดที่ต้องกลับมาคิดใหม่ อันนี้ผมไม่ได้ว่าอะไรใคร เพียงแต่กำลังสังเกตจากสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วเราจะแก้สิ่งที่ผิด วันนี้ต้องแก้ไขในสิ่งผิด ไม่ได้ว่าเพื่อซ้ำเติมกัน เดี๋ยวผมจะบอกว่าเราจะคิดอย่างไรต่อ
ผมไปบรรยายไปพบหลายที่หลายคน ปรากฏว่าเปิดแผ่นเสียงตกร่อง พูดแต่เรื่องเก่า ๆ แล้วไม่ยอมคิดว่าวิวัฒนาการไปถึงไหนแล้วเปลี่ยนแปลงอย่างไร(นักวิชาการพูดแต่เรื่องเดิมๆ )
อันนี้อันตราย ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเสรีภาพทางความคิด เมื่อสักครู่นี้คุณหญิงอัมพร ฯ บอกว่าเป็นเสรีภาพทางความคิดที่ไม่ค่อยได้คิด คือหมายความว่าพูด มีสิทธิที่จะพูด พูดด้วยการเป็นเสรีภาพทางความคิดที่พูดแล้วไม่ค่อยได้คิด ก็ต้องคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีความรู้ คนที่เป็นนักวิชาการ ถ้าจะพูดเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจ ท่านต้องคิดว่าตรงนั้นท่านกำลังจะเอาสิ่งที่เป็นตัวตนเป็นนักวิชาการของท่านออกไปสอนให้สังคมมีความรู้ เพราะฉะนั้นท่านต้องมั่นใจว่า ท่านไม่ได้พูดในสิ่งที่ผิด อย่าเชื่อใจตัวเองโดยที่ไม่ได้มีการปรับปรุงตัวเองให้ทันสมัย ตรงนั้นจะชี้นำสังคมในทางที่ผิด เพราะสังคมใหม่นี้เป็นสังคมที่เราจะต้องให้ความรู้กับประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ทุกฝ่ายต้องปรับตัวในส่วนนี้
ระบบบริหารของเราปัจจุบันยังอยู่ในโครงสร้างเดิม ๆ เรากำลังเปลี่ยน เราเป็นระบบที่ต้องยอมรับว่าทุกอย่าง เราเป็นนิติรัฐเราใช้กฎหมายเป็นข้ออ้างอิง เพราะฉะนั้นเราจะเสียเวลากับกระบวนการมาก เราสนใจผลผลิตน้อยกว่ากระบวนการ เราจะวิเคราะห์ก่อนว่าคุณทำกระบวนการถูกต้องหรือไม่ ผลสุดท้ายผิดไม่เป็นไร เพราะไม่ได้ตีความส่วนนั้น เราจะตีความส่วนที่วิธีการของคุณ นั่นคือจุดที่ยังเป็นปัญหา ระบบการทำงานแยกส่วน ยังเป็นระบบแยกส่วนอยู่ แล้วชินกับระบบแยกส่วน ซึ่งต้องปรับ เรามีของดีสิ่งที่แข็งเริ่มอ่อน ยกตัวอย่าง เรามีภาคการเกษตรที่แข็งแรงมาก ผมบอกกับเกษตรกรว่า ดินเป็นเครื่องพิมพ์แบ็งก์ของคนจน แต่ปรากฏว่าเครื่องพิมพ์แบ็งก์หลายที่ไม่ได้ใช้ หรือหลายที่ใช้ผิด ระบบคอร์รัปชั่น ระบบการตลาดสมัยใหม่ทำให้เกษตรเราต้องใช้ปุ๋ยและใช้ยาฆ่าแมลงมากเกินกว่าเหตุ ทั้ง ๆ ที่เราสามารถทำเกษตรธรรมชาติได้ตั้งมากมาย ทำให้จุดที่ดี ๆ เริ่มเสียหายไป สิ่งที่เป็นแหล่งของความรู้เรายังเปลี่ยนแปลงน้อย
เราจะต้องสร้างแหล่งของความรู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มากเพื่อจะได้ให้ความรู้เหล่านั้นกระจายสู่ประชาชนในภาพกว้างให้ได้มาก ๆ สื่อมวลชนเป็นแหล่งของความรู้ที่สำคัญอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนต้องพัฒนา ต้องมีการลงทุนที่จะได้มาซึ่งความรู้ ความทันสมัยของความรู้ เพื่อเผยแพร่ให้กับประชาชน ซึ่งจริง ๆ แล้วรัฐบาลอยากสนับสนุนเหลือเกิน ถ้าหากว่าสื่อมวลชนจะลงทุนสิ่งที่จะทำให้มีการพัฒนาการสื่อมวลชนของประเทศ ให้ได้นำเสนอสิ่งที่มาเป็นความรู้ เพราะว่าประชาชนไม่ค่อยได้อ่านตำรา แต่จะอ่านหนังสือพิมพ์ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ เพราะฉะนั้นถ้าสิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดในสิ่งที่เหมาะสมถูกต้อง ประชาชนก็จะได้รับความรู้ เพราะวัน ๆ หนึ่งดูโทรทัศน์ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์อ่านน้อยหน่อยเพราะสังคมเราเป็นสังคมพูด สังคมฟัง ไม่ใช่สังคมอ่าน เพราะฉะนั้นการอ่านน้อยหน่อย แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ต้องช่วยกันว่าเราจะทำอย่างไรถึงจะพัฒนาสิ่งที่เป็นแหล่งของความรู้ ห้องสมุดก็ไม่ค่อยมีคนเข้า และห้องสมุดก็ไม่ค่อยจะเป็นลักษณะของ Living library ซึ่งอันนี้ต้องช่วยกัน ต้องเปลี่ยนแปลงครับ
แนวทางที่ผมคิดว่าเราจะต้องกลับมาคิดว่าเราจะทำอย่างไรกับสิ่งที่โลกเป็นอย่างนี้ และตัวเราเป็นอย่างนี้ ทำอย่างไรดี ต้องย้ำอีกครั้งว่าต้องไม่ใช่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาวะที่คนสังคมฐานรากต้องอุ้มคนสังคมฐานบน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายภาษี หรือนโยบายทางเศรษฐกิจใด ๆ ที่เปิดโอกาสให้กับเศรษฐกิจฐานบน แต่ทำลายโอกาสเศรษฐกิจฐานราก อย่าเอาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ประสบผลสำเร็จในประเทศที่เป็นสังคมฐานเดียว มาใช้กับประเทศไทยทันทีทันใด โดยไม่ได้ประยุกต์ปรับใช้โดยไม่เข้าใจว่าเรากำลังมีสังคมฐานล่างที่ต้องรับภาระ อาทิเช่น ลดภาษีนิติบุคคล(Corporate tax) แล้วเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้น ซึ่งต้องให้พอเหมาะ ถ้าเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มก็เพิ่มทั้งระบบ แต่ไม่ใช่เพิ่มแล้วลดภาษีเฉพาะฐานบน คือต้องมองทั้งระบบ ต้องเข้าใจเพราะว่าไม่มีสูตรตายตัว แต่เราต้องคิดว่าประเทศไทยเราเป็นอย่างไร ต้องใช้ระบบตรงนั้นให้ดี ต้องคำนึงตลอดเวลา ถ้าเมื่อไรท่านให้เศรษฐกิจฐานรากอุ้มเศรษฐกิจฐานบน ท่านกำลังถ่างช่องว่าง แต่วิธีลดช่องว่างไม่ใช่ปล่อยให้สังคมฐานบนจน ต้องเพิ่มโอกาสให้สังคมฐานล่าง เราต้องยอมรับว่าโอกาสเป็นหัวใจสำคัญในการต้องแก้ไข ถ้าเราไม่เร่ง เรามีประชากรส่วนหนึ่งที่เป็นภาระของประเทศ ซึ่งคนเหล่านั้นมีศักยภาพที่จะเป็นพลังของประเทศ ต้องเร่งแปลงจากภาระให้เป็นพลังให้ได้ เร่งแปลงศักยภาพของคนเหล่านั้น คือให้โอกาสเขา สิ่งใด ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการให้โอกาส ต้องแก้ โดยเฉพาะระบบโครงสร้างของกฎหมาย กฎหมายเราออกมาทีละฉบับ ๆ ออกมาตามความรู้สึกในช่วงนั้นเวลานั้น บางครั้งต้องมานั่งคิดบูรณาการเฉพาะเรื่อง แล้ว Revamp กฎหมายเฉพาะเรื่อง เพื่อให้เกิดการมองบูรณาการเพื่อไม่เป็นการไปจำกัดโอกาสคนซึ่งเวลานี้เป็นภาระ เพื่อให้เขาเปลี่ยนเป็นพลังให้ได้
ผมเคยพูดหลายงาน ผู้ที่ปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยต้องย้อนกลับไปอ่านหนังสือของมองเตสกิเออร์ รุสโซ จอห์นลอค โทมัสฮอฟ วอลแตร์ นักปราชญ์เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่เขาเรียกว่าเป็น Period และเป็น Lightening เพราะสมัยก่อนนี้คนถูกลัทธิต่าง ๆ คุม ไม่มีปราชญ์ไม่มีนักคิดที่จะทำให้เกิดความสุขสว่างของปัญญา เขาเลยต้องมาตกลงกันบอกว่าเรามีทฤษฎีอันหนึ่งเรียกว่า Social contract theory เขาบอกว่า Ruling power จะต้องออกกติกาเพื่อให้คนในสังคมได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบไม่มีการข่มเหงรังแกซึ่งกันและกัน แต่การต่อสู้เพื่อเข้าสู่พลังมันรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ผลสุดท้ายกติกาต่าง ๆ ก็ได้ออกเพื่อป้องกัน Ruling power เมื่อไรคุณป้องกัน Ruling power แสดงว่าคุณกำลังลดโอกาสคนที่อยู่สังคมฐานล่างที่จะเข้าสู่สิ่งที่เป็นธรรม
วันนี้กฎหมายหลายฉบับได้ออกสะสมมาหลายชั่วระยะเวลา ชั่วรัฐบาล ซึ่งต้องกลับมาปฏิรูปใหม่เพื่อให้กฎหมายเหล่านั้นรองรับ ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาประชาคม ถ้าไม่เช่นนั้นผลสุดท้ายรัฐบาลก็จะไม่ใช่ ไม่ตรงกับสิ่งที่กระบวนทัศน์ในความคิดของโลกทั้งโลกได้เปลี่ยนไป เปลี่ยนไปในทุกด้าน แต่เป็นกระบวนทัศน์ในแบบแผนเดียวกันหมด ยกตัวอย่างเรื่องการศึกษาที่ครูเป็นศูนย์กลาง หมดแล้ว ครูเป็นผู้สอน (Teacher teaching) เลิกกัน เป็นผู้ศึกษาต้องแสวงหาความรู้ (Learner learning) นักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Student center) นี่คือกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไปในด้านการศึกษา ในด้านของธุรกิจการตลาดพวก Inside out จบไปเรียบร้อยแล้ว ต้อง Outside in ซึ่ง Inside out คือว่าคิดอยากจะผลิตอะไรก็ผลิต อยากขายราคาเท่าไรก็ขาย เดี๋ยวนี้คนซื้อบอกไม่เอาแล้ว ถ้าคุณจะผลิตอะไรคุณไม่มาถามผมก่อนว่าผมชอบอะไร แล้วราคาเท่าไรผมซื้อได้ คุณก็ขายของไม่ได้ เป็น Outside in ไม่ใช่ Inside out แบบเดียวกันเลย แต่ว่าแต่ละแบบแผนมันเปลี่ยนไป กระบวนการในการบริหาร การมีส่วนร่วมของคนในองค์กร การมีส่วนร่วมสำคัญมาก การปลดปล่อยพลังสมองของคนในองค์กรคือการให้มีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นระบบการบริหารประเทศ แน่นอนครับ ไม่สามารถหนีกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไปนี้ได้เลย เพราะฉะนั้นก็ต้องเปลี่ยนตามนี้
รัฐบาลต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) เหมือนที่ครูจะต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้นักเรียน รัฐบาลต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวก อย่าสำคัญผิดในทฤษฎีเดิมที่คิดว่ารัฐคือผู้วิเศษ จะเนรมิตเศรษฐกิจให้เป็นซ้ายเป็นขวาอย่างเดียวโดยตัวเอง ไม่มีทาง เพราะงบประมาณของภาครัฐมีไม่ถึง 20 % ของ GDP ทั้งประเทศในแต่ละปี เพราะฉะนั้นในประเทศ GDP 100 % ของประเทศเรานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อรัฐใส่เข้าไปปีหนึ่งประมาณ 17 – 18 % ที่เหลือเป็นบทบาทของภาคเอกชนและภาคประชาชน ซึ่งรัฐจะต้องใช้เงินอย่างน้อยนิดเอื้ออำนวยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ได้คล่องตัวขึ้น ให้ทำมาหากินได้คล่องขึ้น ไม่ใช่รัฐไปจำกัดเขา เอาเลยใครอยากจะรวยให้ไปรวยให้หมด ขอให้รวยภายใต้กติกา คนนี้รวยอย่าไปอิจฉา ต้องรีบให้มันจนก่อนเพราะคนอื่นยังรวยไม่ทัน ไม่ใช่ครับ ถ้าบอกให้คนนี้จนก่อนก็เพิ่มคนจนอีกหนึ่งคนเท่านั้นเอง ไม่ได้ทำให้ที่เหลือรวย ต้องทำอย่างไร ถึงจะให้เศรษฐกิจฐานล่างเคลื่อนให้มากที่สุด ถ้าเศรษฐกิจฐานล่างเคลื่อน ฐานบนเคลื่อนอัตโนมัติ ถ้าเศรษฐกิจฐานบนเคลื่อนไม่จำเป็นต้องฐานล่างเคลื่อน เพราะพลังไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นคือสิ่งที่เราจะต้องกลับมามองว่าคนส่วนใหญ่วันนี้กำลังเจออะไรแล้วต้องแก้ ต้องรีบเปลี่ยนภาระให้เป็นพลังโดยเร็ว ต้องเร่งสร้างนักรบใหม่ นักรบทางเศรษฐกิจ
วันนี้เราต้องยอมรับว่านักรบรุ่นเก่าล้าหมดแรง และปรับกระบวนทัศน์ยาก กับการจะต่อสู้กับเศรษฐกิจยุคใหม่ นักธุรกิจเรารุ่นเก่า ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจรุ่นเสื่อผืนหมอนใบจากเมืองจีน ลูกได้อุตส่าห์เรียนหนังสือไปเรียนมาอย่างดีแต่ว่าไม่ยอมรับธุรกิจของพ่อ และต้องยอมรับอีกว่าธุรกิจของพ่อบางทีก็เป็นธุรกิจที่ไม่ได้ขาว บางทีสีเทา(Grey) เด็กยุคใหม่ก็รับไม่ค่อยได้ เพราะไม่เสียภาษีบ้าง หลบภาษีมูลค่าเพิ่มบ้าง นั่นคือสิ่งที่ระบบของประเทศกำลังพัฒนา ประเทศด้อยพัฒนาจะเป็นอย่างนี้มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะต้องนำธุรกิจประเภทสีเทาทั้งหลายขึ้นมาบนโต๊ะให้หมด เพราะเศรษฐกิจส่วนที่เป็นสีเทานี้มีความใหญ่ บางประเภทมากกว่าเศรษฐกิจบนดินเสียอีก เพราะฉะนั้นเด็กรุ่นใหม่ที่เรียนหนังสือมาก็รับไม่ได้ พอรับไม่ได้ก็กลายไปเป็นลูกจ้างบริษัทใหญ่ ๆ การเป็นลูกจ้างรู้ระบบบริหารแต่ขาดสปิริตของการเป็นผู้ประกอบการ พอให้มาเป็นผู้ประกอบการก็ทำไม่ถูก เพราะฉะนั้นต้องสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการของการเป็นผู้ประกอบการให้มากที่สุด นั่นคือเป็นสิ่งที่ยากและท้าทาย แต่ต้องทำเพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่กล้าเสี่ยงเรื่องการพนัน แต่ไม่ค่อยกล้าเสี่ยงเรื่องค้าขายเท่าไร ฟุตบอลเล่นหมดทุกอย่าง แต่ปรากฏว่าเรื่องค้าขายไม่ค่อยเท่าไร นี่เป็นสิ่งที่จะต้องช่วยกันคิด เราจะสร้างอะไรใหม่เราคงต้องเน้นอีกครั้ง
การปฏิรูปทั้งหลาย ต่อไปนี้เป็นยุค 6 – 7 ปีข้างหน้านี้ปฏิรูปทุกมิติ เพราะว่ากระบวนทัศน์ของโลกเปลี่ยน แต่โครงสร้างของสังคมและของการบริหารของเรายังอยู่ในกระบวนทัศน์เดิม ถ้าเราเปลี่ยนช้า เราก็จะเหนื่อยมาก เปลี่ยนเร็วก็จะเหนื่อยน้อย แต่ว่าคนเปลี่ยนนั้นเหนื่อยมาก เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนที่สำคัญคือแน่นอนเรื่องการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่มีกฎหมายหนึ่งฉบับแล้วปรับโครงสร้างเสร็จเรียบร้อยเราบอกว่านี่คือการปฏิรูปการศึกษา ไม่ใช่เลย Hardware เปลี่ยนเมื่อไรก็ได้ Software สิครับต้องเปลี่ยน Software คือเปลี่ยนการทำงานของคนในแวดวงการศึกษา ที่คุณพร้อมไหมที่จะให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่เราเรียกกันว่านักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Student center) หลักสูตรพร้อมไหมที่จะมีความยืดหยุ่นของหลักสูตร เราพร้อมไหมว่าครูพร้อมไหมที่จะเรียนรู้ร่วมกับเด็ก หรือเราฟอร์มจัด เรียนจากเด็กไม่ได้เดี๋ยวจะหาว่าเราโง่กว่าเด็ก ถ้าเมื่อไรครูยอมรับว่าเด็กเก่ง ครูยอมรับว่าอยากจะเรียนรู้กับเด็ก ครูคนนั้นจะเก่งมาก ถ้าเมื่อไรครูบอกว่าผมต้องสอนเด็ก เด็กต้องเรียนจากผม ครูคนนั้นจะเริ่มฉลาดน้อยลงทุกวัน เพราะฉะนั้นกระบวนทัศน์เรื่องของการปรับปรุงการศึกษานั้นเป็นเรื่องใหญ่ แม้กระทั่งในอุดมศึกษา
ในอุดมศึกษานั้น ระบบของการเรียนในลักษณะของการเรียนเป็นแบบหลากหลายจะมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่าถ้าคุณกระบวนทัศน์แคบ คุณรู้เฉพาะเรื่องของคุณคนเดียว คุณจะไม่มีความรอบรู้ โลกข้างหน้าคนที่รู้แล้วไม่รอบรู้ จะสู้คนทั้งรู้และรอบรู้ไม่ได้ ผมเคยพูดตลอดเวลาครับว่านักกฎหมายที่เก่งกฎหมายมาก มีความซื่อสัตย์สูง มีอุดมการณ์ดีเยี่ยม รักษาความยุติธรรมสูง แต่ขาดความรอบรู้ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมายที่ให้ความยุติธรรมได้ดี เพราะคุณไม่ได้รู้มิติอื่นเลย เพราะฉะนั้นคุณจะต้องมีความรอบรู้ นักกฎหมายต้องมีความรอบรู้ ทำไมในระบบของอเมริกาถึงต้องมีระบบของลูกขุน ก็เพราะว่าต้องการให้มีความรอบรู้พียงพอในหลาย ๆ ด้านมาช่วยตัดสิน ไม่ใช่เฉพาะเอาเนื้อหากฎหมายมาเป็นตัวตัดสินอย่างเดียว นั่นคือความรอบรู้ เพราะฉะนั้นกระบวนทัศน์ในระบบอุดมศึกษานั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนรู้ใหม่ ซึ่งจะต้องส่งเสริมให้เกิดเรียนในลักษณะที่หลากหลายมากขึ้น แล้วต้องอย่ารังเกียจการเรียนข้ามมหาวิทยาลัย ข้ามประเทศ จะต้องเกิดขึ้นหมด อันนี้ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อรองรับส่วนนี้ เพราะฉะนั้นอย่าสนใจรูปแบบ ต่อไปนี้คำว่ารูปแบบจะไม่มี ทุกอย่างจะอิสระมากขึ้น
ระบบราชการเรากำลังจะเปลี่ยน 1 ตุลาคมนี้ การปฏิรูประบบราชการที่จะเกิดขึ้นวันที่ 1 ตุลาคมนี้ คือวันเริ่มต้นของงานหนัก ไม่ใช่วันสำเร็จ 1 ตุลาคม นี้ใครอย่ามาฉลองว่าสำเร็จแล้วปฏิรูปราชการ ถ้าคนที่ฉลองตรงนั้นคือเข้าใจผิด เป็นเพียงวันเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เรามั่นใจว่าจะช่วยให้ระบบการบริหารการจัดการของประเทศดีขึ้น เพราะเราต้องการความเร็ว ประเทศไทยเราแข่งกับคนอื่นไม่ได้เลย ขนาดเราไม่พอ 63 ล้านคน แต่ต้องเร็ว ถ้าเร่งความเร็วแข่งได้หมด ไม่กลัวเลย ต้องเร่งความเร่ง ต้องแก้กระบวนทัศน์ในการคิดของเรา แก้วัฒนธรรมขององค์กรระบบราชการ แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค แก้โครงสร้าง ต้องแก้พร้อม ๆ กัน
หันมาดูชาวบ้านบ้าง ที่เมื่อสักครู่นี้ผมพูดแล้ว เรื่องนี้ผมจะพูดฉายหนังซ้ำบ่อยหน่อย คือเรื่องของโอกาสของชาวบ้าน ผมชอบหนังสือเล่มนี้หนังสือของเฮอร์นันโด ดิซอนโต เรื่องดะมิสตรี้ออฟแคปิตอล เขาพูดถึงเรื่องของระบบทุนว่าวันนี้ทำอย่างไรถึงจะให้ประชาชนมีทุน ถ้าประชาชนไม่มีทุน ประชาชนก็ไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองได้ ท่านคิดง่าย ๆ ทำไมประเทศไทยเราใหญ่เฉพาะกรุงเทพ ฯ เราได้ระดมเงินออมที่มีอยู่น้อยนิดของคนชนบทมาสร้างความมั่งคั่ง มาสร้างความเติบโตให้กับเมืองอย่างกรุงเทพ ฯ มาโดยตลอด เราเหลือเงินออมน้อยนิดให้สร้างความเติบโต สร้างความมั่งคั่ง ในต่างจังหวัด เหมือนกับที่ผมพูดตลอดเวลาว่าเอเชียได้เอาเงินสำรองของตัวเองไปฝากไว้นอกเอเชีย เพื่อไปสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศตะวันตก ขณะเดียวกันมีเอเชียซึ่งเคยรุ่งเรืองมาก่อน วันนี้เริ่มล้าหลัง ก็เพราะทรัพย์สมบัติของตัวเองเอาไปฝากคนอื่นเขา ไปสร้างความมั่งคั่งให้คนอื่นเขา เหมือนกันครับ เหมือนกับที่เราเกิดขึ้นในชนบท เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องทำอย่างไรที่จะทำให้สินทรัพย์ของคนไทยทั้งประเทศสามารถกลับมาเสริมภายในประเทศให้ได้มากที่สุด
คนจนกว่าจะออมเงินได้เป็นเรื่องใหญ่ 1 บาทที่เหลือจากการเลี้ยงชีพ เลี้ยงลูก นั้นยากกว่า 100,000 บาท 10,000 บาท ของคนที่มีฐานะดีกว่า เพราะฉะนั้นเมื่อออมมาได้เรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่งก็อยากจะลงทุน ไปซื้อแผงลอยสัก 50,000 บาท ทีนี้จะซื้อสินค้าใส่ร้าน ต้องไปกู้ร้อยละ 20 ชีวิตถูกกินตัวตั้งแต่วันนั้น เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะรอด เพราะว่า 50,000 บาทที่ลงนั้น เขาให้เพราะคุณมีเงินออม เพราะคุณไม่สามารถเอาเงินออมตัวนั้นกลับมาค้ำประกัน หรือเป็นค้ำประกันเพื่อเปลี่ยนเป็นทุนได้ 30,000 บาทต่อไปที่คุณจะได้ทั้ง ๆ ที่คุณลงไปแล้ว 50,000 บาท คุณต้องไปกู้ร้อยละ 20 กู้นอกระบบ แต่ถ้าสมมติว่าเขาสามารถเอา 50,000 บาทนั้นไปทำค้ำประกัน แล้วกู้ 30,000 บาทมาขายของหน้าร้าน เขาเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ร้อยละ 8 ต่อปี เขาอยู่รอด แล้วเขาก็จะมีสองแผงสามแผง แล้วขึ้นตึกในโอกาสต่อไป โอกาสตรงนี้ต้องเปิด
เฮอร์นันโด ฯ ได้วิเคราะห์ว่าพวกเราประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ไปเห่อไปเรียกเงินลงทุนจากต่างประเทศมาเต็มไปหมด แต่เราหารู้ไม่ว่าสินทรัพย์คนจนอย่างเดียวที่อยู่ในประเทศตัวเองนั้นมีมากเป็นหลายเท่าของเงินลงทุนจากต่างประเทศด้วยซ้ำ แต่เรากลับไม่ได้ดูแล ทิ้งมันไป ผมมีที่ดิน 20 ไร่ ถ้าค้ำประกันไม่ได้ ผมอยากได้แทรกเตอร์เพื่อผมจะได้ปลูก สมมติว่าบังเอิญผมอยู่ในที่นา น้ำดีเหลือเกิน ผมจะปลูกข้าว 2 ครั้ง ผมไม่มีเงินซื้อแทรกเตอร์ ผมต้องขุด แล้วเมื่อไรผมจะมีโอกาสที่จะผันให้เป็นเงินได้ ผมจะเอาที่ดิน 20 ไร่ไปค้ำประกันเพื่อแลกแทรกเตอร์คันเล็ก ๆ คันหนึ่งที่เดินไถ ไม่ใช่ขับนั่งด้วยนะ ไม่กี่หมื่นบาทนี้ผมทำไม่ได้ คือเรากำลังจำกัดโอกาส โอกาสเหล่านี้ต้องถูกเปลี่ยน แปลงโอกาสเหล่านี้ให้ได้ นี่คือสิ่งที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำตรงนี้ ไปไม่รอด เพราะว่าเราต้องหันมาดูก่อนว่าวันนี้เรากำลังจะวิ่งแข่งกับคนที่แข็งแรง แต่ขณะเดียวกันนั้นเราวิ่งไปคนเดียว เราพอไหวอยู่ แต่ว่ามีอีกหลายคนทิ้งไว้ก็ไม่ได้ ถูกทำร้ายตายหมด ต้องพาเขามาเดินด้วย เขาป่วยอยู่ ต้องรีบรักษา เพราะระบบทุนนิยมนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ หนีไม่พ้น ทุกคนต้องรับภาระตรงนี้ แต่การบริหารประเทศต้องไม่ใช้ระบบเดียว ทฤษฎีเดียว กับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มียาเม็ดเดียวที่รักษาหมดทุกโรค ยกเว้น 30 บาท
ระบบธนาคารต้องเปลี่ยนตัวเอง ระบบธนาคารของรัฐต้องเปลี่ยนเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา เราจะบอกว่าธนาคารของรัฐไปสู่ระบบลัทธินายทุน (Capitalism) ทันทีเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป คุณกำลังปิดโอกาสคนสังคมฐานล่างอีกแล้ว เพราฉะนั้นการจะให้โอกาสสังคมฐานล่าง ธนาคารของรัฐต้องปรับเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา ธนาคารของภาคเอกชน พวกธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย วันนี้ถ้าไม่ปรับตัวเองอย่าว่าผมไม่เตือนนะ ผมไม่ได้ทำอะไรหรอก ผมทำอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นการค้าเสรี แต่ว่าท่านเองจะอยู่ไม่รอดเอง ท่านลองหันไปดูการทำกำไรของธนาคารปัจจุบัน เริ่มมีกำไรแล้ว สัญญาณดีขึ้น ลองคำนวณดูสิครับ ที่เสียไปตอนวิกฤตินั้น บางธนาคารอาจจะต้องใช้ 30 ปีถึงจะได้คืนจากที่เสียไป ถ้าขืนยังทำธนาคารระบบแบบนี้ ท่านต้องปรับเข้ากับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง อย่าลืมนะครับวันนี้ธนาคารเอกชนถูกแข่งขันในรูปแบบที่เป็น Non Bank แต่ตัวเองไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครดิตการ์ด เรื่องของขายรายได้ล่วงหน้าเพื่อเอาเงินมาใช้สำหรับผลิต พวกนี้ Non Bank ต่อไปจะมีอีกหลายระบบ ระบบตลาดทุน การเงินฝาก ระบบตลาดตราสารหนี้ด้านเงินฝาก ด้านเงินกู้ก็ Factoring บ้าง ระบบของเครดิตการ์ดบ้าง ยังมีอีกหลายอย่างที่จะต้องตามมา เพราะว่าสิ่งที่มีชีวิตธรรมชาติจะต้องเอาตัวรอด เขาต้องดิ้นรนเพื่อหาทางเอาตัวรอด แล้วสิ่งที่มีชีวิตอยู่ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ แมลง นกทั้งหลายจะต้องหาทางเอาตัวรอดตลอดเวลา เพราะฉะนั้นองค์กรทั้งหลายคือสิ่งที่มีชีวิต ที่จะต้องปรับตัวเองเพื่อเอาตัวรอด ยีราฟคอสั้นเมื่อก่อนนี้ ยังปรับตัวเองจนเป็นยีราฟคอยาว ทุกอย่างต้องปรับตัวเอง
ธนาคารปัจจุบันผมว่าต้องกลับไปคิดในมิติใหม่ว่า กระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไปนี้เราควรจะทำอย่างไร ถ้าเขาไม่ปรับไม่เปลี่ยน เขาเหนื่อย พอเหนื่อยแล้วประชาชนจะเหนื่อยด้วยเพราะเราเป็นผู้ฝากเงิน แล้วประเทศไทยนี้สัดส่วนเงินออมสูง ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาแล้ว เพราะว่าเงินเราเก็บไว้ในตะกร้าเดียวคือตะกร้าธนาคารเสียมาก จริง ๆ แล้วเขาจะเอาเงินไว้หลายตะกร้า ถ้าเอาไข่ไว้ตะกร้าเดียวกันนี้ มีอะไรหล่นทับแตกก็หมดเลย เพราะฉะนั้นต้องกระจายไว้ อันนี้คือสิ่งที่ผมคงไม่สามารถจะสอนธนาคารได้เพราะไม่เคยทำ เพียงแต่ให้รู้ว่าต้องปรับตัวอย่างแรงกับสิ่งที่เปลี่ยนไป ไม่เช่นนั้นท่านไม่มีโอกาสทำกำไรได้คืนในสิ่งที่ท่านเสียหายไปในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลตอนนี้ ยิ่งโลกข้างหน้าเปราะบางรัฐบาลจะต้องดูแลเรื่องหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ และต้องดูแลเงินสำรอง ให้ดี แล้วต้องดูแลค่าเงินให้เหมาะสม และผู้ส่งออกทั้งหลายต้องเตรียมตัวได้ เพราะจะต้องปรับตัวเรื่องของ 1.คุณภาพ 2.ประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม 3.ต้องหาตลาดใหม่ ตลาดที่ยังสดใสอยู่ไม่ใช่ตลาดที่พรุนแล้ว ซึ่งรัฐบาลจะเจาะ จะนำให้และต้องตาม เพื่อที่อย่าไปคิดว่ารัฐบาลจะต้องทำบาทให้อ่อนเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก วันนี้สัดส่วนของเศรษฐกิจที่มาจากการส่งออก กับเศรษฐกิจในประเทศเริ่มปรับตัว เพราะฉะนั้นโครงสร้างเศรษฐกิจตรงนี้เปลี่ยนไปแล้ว ทุกคนต้องเข้าใจ หลายคนไม่ได้เข้าใจว่าโครงสร้างเศรษฐกิจตรงนี้เปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่อาศัยการส่งออกเป็นหลัก ที่ใช้กันทั่วไปหมดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหลาย ใช้แบบแผนนี้หมดคืออาศัยการส่งออกเป็นหลัก
วันนี้ถ้าประเทศไทยไม่เน้นเรื่องของการเติบโตภายในประเทศ (Domestic Growth) เราเหนื่อยไปเรียบร้อยแล้ว เพราะข้างหน้าความไม่แน่นอนมีมากมาย วันนี้เราต้องเน้นเรื่องความเติบโตภายในประเทศ เมื่อเน้นภายในประเทศแล้ว สัดส่วนของเศรษฐกิจของ GDP ก็จะปรับไป ท่านลองคิดดูสิครับว่าส่งออกหดตัว ถ้าอาศัยส่งออกอย่างเดียวเศรษฐกิจจะเป็นบวกไหม เพราะฉะนั้นเรื่องค่าเงินจะต้องสะท้อนความเป็นจริง ไม่ใช่ค่าเงินเพื่ออุ้ม ต่อไปนี้การบริหารเพื่ออุ้มปัจจัยเดียวไม่ได้ เพราะส่งออกกับนำเข้าเราใกล้เคียงกันมาก เรามีเงินเหลือจากรายได้เมื่อหักรายจ่าย (Surplus) จากดุลการค้าไม่มากเท่าไร เรายังใช้น้ำมันหรือพลังงานที่ต้องนำเข้าอยู่มาก เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้ค่าเงินจึงจะเป็นสิ่งที่ต้องสะท้อนความเป็นจริงที่สุด
วันนี้ต้องยอมรับว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกับกระทรวงการคลังได้บริหารส่วนนี้ได้ดีมากพอสมควร จนวันนี้เรามีเงินสำรองอยู่ 38.2 พันล้านบาท เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีหนี้ที่เป็น US ดอลลาร์ เป็นหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศอยู่ประมาณ 64 พันล้านบาท โดยประมาณ รู้สึกจะลดลงไปนิดหน่อย นี่รวม IMF ด้วยนะครับ หนี้ IMF เหลือ 1 พันล้านกว่า ๆ เฉพาะส่วนที่เป็นของ IMF ผมคิดว่า 1 มกราคม นี้จะใช้ให้หมด เพราะฉะนั้นเราจะต้องรักษาตรงนี้ให้ดีเพื่อให้เกิดความแข็งแรง การนำเข้า – ส่งออก วันนี้บางทีเราไปสนใจตัวเลขมากเกินไป เพราะเป็นคนที่ชอบคิดอะไรมิติเดียว บางที ตัวเลขไม่ได้บอกอะไร ต้องคิดเหมือนกันว่าส่งออกนี้อะไรเป็นสัดส่วนที่เป็นของท้องถิ่น หรือเป็นสัดส่วนที่ไทยได้มาก ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ บางอย่างเราส่งออกจำนวนมาก แต่สัดส่วนที่เป็นของท้องถิ่นจริง ๆ มีนิดเดียว เพราะฉะนั้นถ้าปริมาณส่วนนี้หด ไม่เป็นไร แต่จำนวนที่มีสัดส่วนที่เป็น ของท้องถิ่นมาก ๆ นี้ต้องให้เพิ่ม อันนี้จะต้องดูแลต้องละเอียด

จุดอ่อนของเราคือว่าเรามีความไม่สมบูรณ์ในเชิงข้อมูล เรามีข้อมูลทางสถิติ เราไม่มีข้อมูลทาง Information มีข้อมูลคงที่ทางสถิติ (Statistic Information) และต้องทำเป็น Information โดยมาวิเคราะห์ เมื่อวิเคราะห์แล้วถึงจะเกิดความรู้ที่จะไปสร้างยุทธศาสตร์

ทีนี้บังเอิญว่าเรามีอย่างเก่งก็สถิติ หรือ Information มี แต่ว่ากระจัดกระจายมาก
วันนี้ผมสั่งให้ทำเรื่องนี้หมด ต้องมีการวิเคราะห์ Profile ของการนำเข้าและส่งออก นำเข้าเมื่อก่อนไม่มีเจ้าภาพ ตอนนี้จะมีเจ้าภาพนำเข้าแล้ว วันก่อนวิเคราะห์คร่าว ๆ หยาบ ๆ พบว่านำเข้าสินค้า 10,000 กว่ารายการนี้ 2,000 กว่ารายการเป็นรายการที่เราผลิตได้เองในประเทศ แต่ก็ยังนำเข้า ซึ่งต้องมาแก้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้ซื้อกันเองในประเทศ ต้องจับคู่กัน วันก่อนผมไปดูที่งานของ BOI ที่ไบเทค น่ารักมาก โตโยต้าเขาทำรถในประเทศไทย เขาผลิตใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 80 กว่า% อีก10 กว่า % เขาต้องนำเข้าเพราะยังไม่มีผลิตในประเทศ เขาเอามาขึ้นตู้โชว์ แล้วบังเอิญว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งหลายอยู่ในนั้นเต็มเลย ไปดู ใครอยากจะทำชิ้นไหนส่งไปดูเลย เพราะเขาต้องการมุ่งไปสู่ 100 % คือต้องจับคู่ให้เจอกัน ตรงนี้รัฐบาลกำลังมีเจ้าภาพในวันนี้ เราจะต้องทำอย่างไรให้มี Net foreign currency เป็นบวกที่จะเข้าประเทศ นำเข้า-ส่งออกก็คือว่าให้ส่งออกมากกว่านำเข้า ให้มากเท่าไรยิ่งดี จีนนำเข้าน้อยกว่าส่งออกมากเหลือเกิน ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ดูดีมาก
เรื่องราคาก็อีกอย่าง คือคนไทยไม่ค่อยมองว่าเรื่องราคาเป็นยุทธศาสตร์ เราทำเป็นแต่ การแข่งขันตัดราคากัน (Price war) เราไม่เข้าใจยุทธศาสตร์ด้านราคา (Pricing strategy) เพราะฉะนั้นก็ลดราคาอย่างเดียว ลดราคาสู้ไม่ได้ก็มาลดค่าแรง ลดค่าแรงแล้วสู้ไม่ได้รัฐบาลก็ลดค่าเงินตัวเอง อย่างนี้เขาเรียกว่าค้าขายอย่างนี้ค้าไปสิบชาติก็คือกินตัวทุกวัน เพราะเราไม่มีระบบการวิเคราะห์
เชื่อไหมตลาดในตลาดหลักทรัพย์ผมสามารถเอาข้อมูลมานั่งวิเคราะห์ แล้วบอกได้เลยว่าบริษัทนี้ที่เติบโตนี้กินตัว บางคนบัญชีงบดุล(balance sheet) ใช้ IAS International accounting standard ออกมามีกำไรครับ แต่ว่าค่าในทางเศรษฐกิจ (Economic value) ติดลบ เพราะเราไม่เคยวิเคราะห์ทาง Economic value แสดงให้เห็นว่าบริษัทนี้อยู่นานอีกหน่อยจะล้ม ทั้ง ๆ ที่มีกำไร คือเราไม่เข้าใจระบบการวิเคราะห์ตัวนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องการวิเคราะห์เรื่องของการทำการค้าแล้วให้มีกำไรนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราวิเคราะห์ไม่เป็น เราไม่มีข้อมูล ไม่มีรายละเอียดของทั้งหมด เราวิเคราะห์ไม่ได้ เราไม่รู้ ไม่รู้เราแล้วจะไปแข่งกับเขาได้อย่างไร ต้องรู้เราให้ได้ รู้เราในทุกมิติ เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องกำหนดราคา นี่เป็นเรื่องสำคัญ
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ผมพูดบ่อย แจกันอันเบ้อเริ่มเลย วาดอย่างดีสวยมาก เราสามารถเอาเรื่องทั้งเรื่องมาเล่าได้เลย ขาย 2,000 กว่าบาท ผมบอกว่านี่ถ้าตั้งสัก 10,000 บาทขายได้ ตั้งไว้ 2,000 กว่าบาทขายไม่ได้หรอก เขาตกใจ ทำไมล่ะ บอกว่าก็แจกันใหญ่ราคา 2,000 กว่าบาท คนสามารถซื้อได้ บ้านก็หลังเล็ก ก็ไม่อยากซื้อไปตั้ง มันเกะกะ แต่พอบ้านหลังใหญ่สามารถมีที่วางได้อย่างดี 2,000 กว่าบาทบอกว่าของมันกระจอก ซื้อไปเดี๋ยวเสียราศีบ้านหมด สัก 10,000 บาทดูค่อยยังชั่ว เวลาใครมาจะได้คุยโม้ได้ เป็นอย่างนี้ ต้องยอมรับความเป็นจริงของวัฒนธรรม การกำหนดราคานี่สำคัญ ไปลดราคาทำให้เสียหายในสิ่งที่ไม่ควรเสีย พวกนี้น่าจะได้เงินใช้ตั้งมากไม่ได้ทำ อันนี้คือจุดที่ต้องช่วยกันแก้ ต้องดูแลเรื่องเศรษฐกิจภาพรวมให้ดี สิ่งที่เป็นห่วงก็คือเรื่องของการขาดดุลงบประมาณผมห่วง แต่ผมจะหาทางลด เพราะว่าถ้าเกิดให้มีการขาดดุลงบประมาณแสดงว่าเราเพิ่มหนี้ เพิ่มหนี้นี่มันไม่เสียหายอะไรหรอก ถ้าหนี้นั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงพอคุ้มค่ากับหนี้ที่เพิ่ม แต่บางทีมันไม่ใช่ และปี ๆ หนึ่งนี้ไวมาก งบประมาณเดี๋ยวมาแล้ว ปฏิทินงบประมาณเดี๋ยวเริ่มแล้ว ต้องช่วยกันดู
วันนี้บรรดาที่รวมของความรู้ทั้งหลายอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่ในมหาวิทยาลัยเองก็ไม่สามารถรวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้ให้เชื่อมโยงกับชุมชนและสังคมได้ดี ยังต่างคนต่างอยู่ มหาวิทยาลัยจะต้องรวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต้องมาช่วยกันสนับสนุน แต่ไม่ใช่ออกไปพูดข้างนอก พูดให้สับสน บางคนไม่ค่อยรู้จริงก็พูด ต้องมาช่วยกัน เอาองค์ความรู้เหล่านี้มาช่วยกันคิด ช่วยกันวิเคราะห์และช่วยกันแก้ปัญหา ยังมีเรื่องน่าทำอีกมาก ไปจับตรงไหนก็สามารถขันน็อตได้ทุกที่ น็อตหลวมทุกที่
มีหนังสือเล่มหนึ่งเขาเรียก Attention economy หนังสือเล่มนี้ดี ถ้าเปรียบเทียบง่าย ๆ คือว่ามีมะพร้าวลูกหนึ่งจะดูดน้ำแล้วก็ทิ้ง ถ้าเราจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก็ควรต้องใช้ประโยชน์ทั้งลูก แต่การใช้ประโยชน์ทั้งลูกนั้นต้องคำนึงถึงเวลา ความพยายามที่ใส่เข้าไปคุ้มหรือเปล่า ถ้าไม่คุ้มก็ไม่มีค่าทางเศรษฐกิจ ถ้าคุ้มก็ใส่เข้าไป นั่นคือสิ่งที่เขาเรียกว่า Attention economy คือเอาใจใส่กับเรื่องที่น่าจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ให้ทำต่อไป ทำให้ดี ทำให้ละเอียด ทำให้มาก ทำให้คุ้มค่า คงต้องเอาใจใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการที่ได้มาของตัวเลข ถ้าตัวเลขมีความชัดเจนมันต้องบอกอะไรบางอย่าง ตัวเลขของประเทศคือเช็คสุขภาพประเทศ
ตัวเลขตรวจเลือดของเราคือเช็คสุขภาพของเรา เราต้องคอยเช็คตลอดว่าวันนี้คลอเลสเตอรอลเราเป็นอย่างไร น้ำตาลเป็นอย่างไร ยูริคเป็นอย่างไร เอนไซม์ตับเป็นอย่างไร ต้องดู เดี๋ยวเป็นมะเร็งตับไม่รู้ตัวเพราะไม่ได้ดูเอนไซม์ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะต้องดู เหมือนกันครับประเทศคือสิ่งมีชีวิต
บริษัทธุรกิจของท่านคือสิ่งมีชีวิต แม้กระทั่งบัญชีส่วนตัวของท่านที่บ้านก็เป็นสิ่งมีชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องติดตามดูแลมัน ถ้าท่านทำบัญชีที่บ้านท่านก็รู้ว่าวันนี้สิ่งที่ท่านทำอยู่ขณะนี้กำลังจะจนลงหรือน่าจะดีขึ้น ท่านจะปรับตัวอย่างไร แม้กระทั่งเกษตรกรถ้าไม่ทำบัญชีก็ไม่รู้ว่าที่ทำทุกวันนี้ขาดทุนหรือกำไร ทำบัญชีง่าย ๆ ครับ ไม่ต้องทำอะไรยาก พยายามทำเรื่องยากให้ง่าย คนทำเรื่องง่ายให้ยากคือคนที่มีกรรม ก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องแก้ดูเรื่องของตัวเลขมหภาค แล้วคอยปรับคอยแก้ สิ่งที่ห่วงที่สุดคือเรื่องของงบประมาณขาดดุลซึ่งผมจะต้องนำไปสู่การสมดุลให้เร็วที่สุด เป็นความตั้งใจอย่างยิ่ง ซึ่งบางทีก็ต้องทะเลาะกับนักเศรษฐศาสตร์เหมือนกัน เพราะเขาคิดว่ามันจำเป็นต้องกระตุ้น ผมก็ยังเชื่อว่าผมต้องการเงินที่อำนวยความสะดวก มากกว่าเงินกระตุ้น อำนวยความสะดวกแล้วภาคเอกชนเขาวิ่งเอง ความใหญ่ของสัดส่วนของเศรษฐกิจของเอกชนกับเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น เปลี่ยนไปจากยุคเก่า เปลี่ยนไปจากตำราเดิมที่เคยเรียน ถ้ามาย้อนสมัยอดัม สมิธก็คนละเรื่องกัน
ความจริงแล้วสิ่งที่รัฐบาลต้องทำวันนี้คือต้องบุกตลาดใหม่ จริง ๆ สินค้าประเทศไทยเป็นสินค้าที่ที่ไหนมีมนุษย์ที่นั่นซื้อของไทยทั้งนั้น เพราะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นส่วนใหญ่ ไม่จำเป็นที่จะไปมุ่งหาประเทศที่รวยอย่างเดียว ประเทศที่ไม่รวยอย่างอินเดีย ก็มีคนมีกำลังซื้อ สมมติว่า 20% ก็ 200ล้านคน คนพันล้าน อินโดนีเซียถ้ามีกำลังซื้อแค่ 20 % ก็ 40 กว่าล้านคน บังคลาเทศมีกำลังซื้อสัก 10 % ก็ 10 กว่าล้านคน เป็นตลาดทั้งนั้น ไปบุกสิงคโปร์มี 3 ล้านคน บรูไน 300,000 คน คือเราไปคิดว่าประเทศไหนรวยจะไปบุกที่นั่น ความจริงแล้วประเทศที่จนก็ยังเป็นลูกค้าเราได้ ยังมีช่องว่างที่เราได้บุกอีกมาก ตลาดยังใหม่อยู่มากสำหรับสินค้าไทย แต่เราไม่เข้าใจ เขาไปที่ไหนก็แห่กันตามไป ต้องคิดให้เป็น ประเทศไทยต้องมีน้ำยาในเวทีโลกบ้าง ถ้าเราไม่มีน้ำยาเราก็ต่อรองไม่ได้ เมื่อมีน้ำยาก็ต่อรองได้ เราต้องถือว่าทุประเทศเป็นรัฐที่มีความเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นการเจรจาทั้งหลายต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกัน ผมไปญี่ปุ่น ผมบอกนายกรัฐมนตรีโคอิซูมิ ไม่ต้องมาพูดเรื่องเงิน ODA กับผม รัฐบาลนี้ภายใต้การนำของผมไม่มีคำว่าขอ แต่ต้องการเป็นการร่วมมือกันทางยุทธศาสตร์ เรามาเป็นผู้ร่วมมือกันทางยุทธศาสตร์กันดีกว่า ว่าหนึ่งบวกหนึ่งให้มากกว่าสอง มาคุยกันตรงนี้ดีกว่า ให้ผลมากกว่ากันมาก ไปขอได้ 10 ล้านเหรียญ 20 ล้านเหรียญเขาดูถูกอีก ไม่ได้เรื่อง ผมบอกประกาศเลยว่ารัฐบาลผมไม่ขอใคร ผมถือว่าอัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนแล้วเราภูมิใจ ไม่ใช่โง่แล้วหยิ่ง เรื่องของ Asia Cooperation dialogue (ACD) นั้น จะเปลี่ยนมิติของประเทศไทยในเวทีโลก และจะเปลี่ยนความสมดุลของโลกมากพอสมควรในอีกประมาณไม่เกิน 3 – 4 ปีข้างหน้า เป็นสิ่งที่ท้าทาย สนุก สำคัญอย่าใจเสาะระหว่างทางก็แล้วกัน
คงไม่มีเวลาลงรายละเอียดมาก จริง ๆ แล้วต้องเข้าใจว่าทุกอย่างคือธรรมชาติ ศิลปะของการรักษาธรรมชาติให้เป็นธรรมชาติคือความสมดุล สร้างความสมดุลของทุก ๆ อย่าง ให้สิ่งที่อยู่ร่วมกันในระบบเดียวกันนั้นไม่กัดกินกันเอง ให้สิ่งที่ร่วมกันในระบบเดียวกันเกื้อกูลซึ่งกันและกันให้เกิดเป็นพลังร่วม นั่นคือสิ่งที่เป็นหน้าที่ ๆ ต้องทำ ถามว่าแล้วช่องทางหารายได้ของเราวันนี้มีอะไรตรงไหน นั่นคือสิ่งที่ควรถาม ผมมองว่าแน่นอนครับเศรษฐกิจฐานรากเป็นเศรษฐกิจใหญ่ เป็นคนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเรื่องของเกษตรจึงเป็นเรื่องหัวใจสำคัญที่ต้องทำและเน้นต่อไป มันเป็นจุดแข็งมาก่อน แต่วันนี้เริ่มอ่อนแอ เพราะเราส่งเสริมกันมากเลยอ่อนแอลงไป ไม่รู้เพราะอะไร เพราะเราส่งเสริมไปกินไปหรือเปล่า ไม่แน่ใจ
เราจะต้องส่งเสริมที่มีปัญญา ไม่ใช่ Inside out ต้อง Outside in ต้องไปเรียนรู้กับเกษตรกร บรรดานักวิชาการทั้งหลายต้องเรียนรู้จากเกษตรกร อย่าไปคิดว่าท่านเรียนดอกเตอร์มาแล้วท่านต้องสอนเกษตรกรอย่างเดียวโดยไม่เรียนรู้ การเรียนรู้ร่วมกันเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าท่านไม่เรียนรู้ร่วมกัน ท่าน Inside out ท่านกำลังไปบอกเขา ท่านไม่เคยจน ท่านอยู่กับตำรา ท่านไม่เคยเป็นเกษตรกร ท่านจะไปรู้เรื่องของเขาได้ดีได้อย่างไร ต้องไปฟังเขาแล้วคิดร่วมกัน เอาวิชาการผสมกับประสบการณ์ และความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการคิดร่วมกันการเรียนรู้ร่วมกันเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในโลกยุคใหม่
เพราะฉะนั้นเรื่องของดินเป็นโรงพิมพ์แบงก์ให้เกษตรกร ต้องขยายโรงพิมพ์แล้วพิมพ์แบงก์ใหญ่หน่อย อย่าพิมพ์เหรียญ นั่นคือเลือกสิ่งที่เป็นความถนัดและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจและทำให้มีมูลค่ามากขึ้น พิมพ์แบงก์ร้อย แบงก์ห้าร้อย แบงก์พัน อย่าพิมพ์แต่เหรียญหรือพิมพ์แบงก์บาทมากเกินไป
สิ่งที่เรามีความเข้มแข็งอีกอันคือ Esthetic skill ความชำนาญที่มีความละเมียดในสายเลือดคนไทยยังดีอยู่มาก คนบ้านนอกไม่เรียนหนังสือเลย จับมาสอนวาดรูปครู่เดียววาดได้สวยมาก ขนาดคุณบุญทิพา ฯ เป็นอธิบดี ฯ นักเรียนทุนรัฐบาลยังวาดเก่ง ความละเมียดอยู่ในสายเลือดของคนไทย ยังแข็งอยู่ สิ่งที่เป็น Heritage talent หรือเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ยังไม่เสียหาย ยังอยู่ ต้องเอามาใช้ให้เหมาะกับยุค เช่น เรื่องของสมุนไพร เรื่องของพืชที่หลากหลายที่เรามีอยู่ ยังเอามาใช้ได้มาก อันนี้ต้องมอบให้อาจารย์ยงยุทธ ฯ ไปช่วยคิด ธรรมชาติของเราการท่องเที่ยวยังเป็นที่มาของรายได้ที่ดี แต่ในอดีตเราเน้นการตลาด เราไม่เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์บางอย่างเป็นธรรมชาติล้วน ๆ บางอย่างต้องผสมฝีมือเข้าไป บางอย่างเป็นฝีมือล้วน ๆ ต้องทำ ต้องมีความหลากหลายเพื่อเก็บคนที่มาแล้วให้อยู่ในประเทศไทยให้นานที่สุด เทกระเป๋าล้วงกระเป๋าเขาให้มากที่สุด แต่ไม่ใช่ให้แกงค์ไปล้วงนะ คือระบบล้วง ต้องล้วงกระเป๋าให้มากที่สุด ให้ใช้เงินในประเทศให้มากที่สุด
เรื่องของการใช้เวทีโลกเพื่อขยายตลาด ที่ผมพูดไปเมื่อสักครู่นี้เรื่องของ ACD Account trade เพราะว่าหลายประเทศเราสามารถแลกเปลี่ยนได้ แต่การแลกเปลี่ยนทันทีทันใดนั้นเขาเรียก Barter trade แลกเปลี่ยนตามความต้องการของแต่ละครั้งซึ่งไม่ตรงกันนั้น เป็นระบบลงบัญชีไว้ก่อนแล้วก็หักกัน ผลสุดท้ายใครซื้อมากกว่าคนนั้นจ่าย อันนั้นเขาเรียก Account trade เรื่องของ Free Trade Agreement บางคนไปตกใจ Free Trade เราเสียเปรียบเขาอย่างโน้นอย่างนี้ ทุกคนต้องปรับตัว ท่านอย่าไปคิดเรื่องเสียเปรียบ ต้องคิดว่าโอกาส วิกฤติทุกอย่างมีโอกาส ก็เรา 63 ล้านคน โลกมี 6,500 ล้านคน เราผลิตด้วยคน 63 คนขายให้คน 6,000 คน คน 6,000 คนมาขายให้เรา 63 คน เราก็มีท้อง 63 ท้องบริโภค อย่างไรบริโภคเกิน 63 ไม่ได้ ต้องคิดแบบนี้ วันนี้สมมติว่าจีน Free Trade เรื่องผลไม้กับไทย เอามาเลย แอ๊ปเปิ้ล สาลี่ คุณส่งมาเลย กินอย่างไรก็ 63 ล้านคนกิน ลำไย เงาะ มังคุด ทุเรียน ขนไปเทจีนเทเท่าไรก็หาย 1,300 ล้านคนที่โน่น ต้องมีวิธีคิดอีกแบบ อย่าไปคิดในแบบเดิม พวกขี้กลัวมีมาก
เรื่องความร่วมมือเรื่องราคาเป็นเรื่องสำคัญ ยางพาราประสบความสำเร็จมาก วันนี้เกษตรกรชาวสวนยางมีความสุขมาก อยู่ ๆ ได้กำไรเพิ่ม 9 บาทอย่างน้อยต่อกิโลกรัม 2 ล้านตันเพิ่ม 18,000 ล้านบาท เท่ากับว่าเงิน 18,000 ล้านบาทซึ่งเกษตรกรไม่เคยเห็นเลยไปอยู่ในกระเป๋าแล้ว เฉพาะสวนยาง เดี๋ยวเราทำข้าวต่อ เราทำนี่ไม่ใช่ว่าเราจะทำเหมือน OPEC แต่เราทำนี้เรามีความเป็นทุนนิยมน้อยกว่า เรากำลังเรียกหาเพียงแต่ความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรไทยเราเท่านั้นเอง เพราะถูกรังแกมานาน กำลังเรียกร้องหาสิทธิความเป็นธรรมให้เขาโดยการขอราคาที่เป็นธรรม ไม่ได้หวังร่ำรวย ก็มีเหลือใช้บ้างอย่างมากก็ออกปิคอัพ ตรงนี้เรากำลังจะทำในเรื่องอื่น ในรายสินค้าตัวอื่น ๆ ถ้าสินค้าเกษตรราคาดี นั่นคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าเกษตรกรมีเงิน คนกรุงเทพ ฯ ขายของได้เต็ม เพราะฉะนั้นต้องทำให้เกษตรกรมีเงิน นั่นคือเพิ่มราคาสินค้าเกษตร ซึ่งทำง่ายครับไม่ยาก จริง ๆ แล้วการจัดการผลผลิตที่มีมากเกินไปนั้นมีนิดเดียว หรือไม่บางทีผลผลิตไม่มากเกินไป แต่ไหลมาทีเดียวกันเหมือนน้ำท่วมป่า ท่วมที่หนึ่งแล้งอีกที่หนึ่ง ต่อท่อระบายน้ำให้ดี พอมันมาอย่าให้ท่วม ให้กระจายออกไปได้เร็ว แล้วทุกคนก็ได้น้ำเท่ากันหมด ตรงนั้นทำให้สินค้าเกษตรราคาไม่ตก เพราะฉะนั้นต้องจัดการเรื่องสินค้าเกษตรเพื่อให้ช่วยเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ และตามที่ผมย้ำเมื่อสักครู่นี้


ต้องสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องเป็นคนมีการศึกษา ถ้าไม่เช่นนั้นไม่ทันครับ มีการศึกษาอย่างเดียวไม่พอ ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องรอบรู้ ไม่เช่นนั้นท่านไม่รู้ อย่างวันนี้นักธุรกิจไทยเข้าใจคำว่า Economic value added model แค่ไหน ซึ่งสามารถวิเคราะห์มูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจแต่ละชนิดให้คงอยู่ ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องไปอยู่ที่ International Accounting Standard นั้นสูงสุดแล้ว บัญชีเงิน บัญชีงบดุล (Accounting Balance Sheet) ไม่ได้บอกอะไรลึกกับการปรับปรุงคุณภาพของการบริหารของธุรกิจตัวเอง เพราะฉะนั้นต้องรอบรู้ ต้องเรียนรู้รูปแบบใหม่ ๆ ต้องทำต้องติดตาม ถ้าไม่เช่นนั้นก็เสร็จ

เพราะบอกแล้วว่าโลกเดี๋ยวนี้มีการเปลี่ยนแปลงไวมาก ทุกอย่างวงจรชีวิตมันสั้นหมด Mass Production ไม่ได้ผล ต้องเปลี่ยนเป็น Mass Customization เพราะวงจรของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) มันสั้นหมดแล้ว เพราะฉะนั้นต้องทำใหม่ ที่สำคัญต้องสร้างสมองใหม่
ประเทศไทยเรามีพวกอัจฉริยะ(Genius)อยู่มาก ตอนนี้มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และหลายที่กำลังเริ่มผลักดันคนเหล่านี้ ผมจะเอาภาคเอกชนมาช่วย ต้องสร้างพวกอัจฉริยะทั้งหลาย และให้คนเหล่านี้มาช่วยคิด และเป็นแนวทางให้กับคนทั่ว ๆ ไปได้มองเห็น อเมริกาจริง ๆ แล้วก็สร้างขึ้นมาด้วยคนอัจฉริยะไม่กี่คน แล้วคนบางคนเราไม่รู้ว่าอัจริยะ จนกว่าจะได้สัมผัสสักระยะถึงจะรู้ ไม่มีใครรู้ว่าไอน์สไตน์เป็นบุคคลอัจฉริยะ เพราะไอน์ไสตน์เป็นเสมียนคนหนึ่งจนอายุ 30 กว่า ถึงจะเริ่มเห็นความเป็นอัจฉริยะของเขา ตั้งแต่เป็นอาจารย์อยู่ที่แสตนฟอร์ด เจ้าชายสิทธัตตะ หนีความวุ่นวายในวังแล้วไปหาคำอธิบายว่าทำไมมนุษย์เกิดมาแล้วถึงวุ่นวายขนาดนี้ จนอายุ 30 กว่าเราถึงรู้ว่าเจ้าชายสิทธัตตะเป็นอัจฉริยะบุคคล ซึ่งสามารถค้นพบเรื่องของการหาความสงบ ลด ละ กิเลส หรือเรียกว่า นิพพานทั้งหลายเพื่อให้เกิดอธิบายความสับสนวุ่นวาย เหมือนกันครับ
เรามี คนอัจฉริยะหลายคนในประเทศ ถ้าเรารู้แล้วว่าเขาอัจฉริยะ ต้องช่วยผลักดันแล้วก็สร้างให้เขาอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ
ผมได้บอกรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยว่า เดือนหนึ่งผมขอให้เอาเด็กอัจฉริยะมากินข้าวกับผมสักเดือนละกลุ่ม ผมจะขอคุย ตั้งแต่อนุบาลก็ได้ ผมคุยได้กับเด็กอนุบาล เราต้องสร้างสมองใหม่ ไม่เช่นนั้นไม่พอที่จะแข่งขันในโลกยุคใหม่ ท่านทั้งหลายที่เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ท่านจะอัจฉริยะหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คือว่าท่านมีความรู้ มีไอคิวที่สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของคนในประเทศนี้ เพราะฉะนั้นท่านจะต้องใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศให้มากที่สุด สมองเหมือนมีดครับ ถ้าไม่ลับ สนิมขึ้น ท่านต้องชอบลับสมอง นั่งคุยกับคนฉลาดมาก ๆ ถ้านั่งคุยกับคนโง่ก็พยายามอย่าโง่ตาม พยายามลับสมองให้มาก แล้วท่านจะเกิดความคิดใหม่ ๆ แต่ว่าท่านจะลับสมองได้ ท่านต้องอ่านหนังสือ ติดตามการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการมาก ๆ อ่านบทความ อ่านอะไรต่ออะไรได้ จะช่วยให้ท่านรู้มาก ผมเองขนาดเป็นนายก ฯ ผมยังต้องหาเวลาอ่านหนังสือ เพราะผมกลัวความไม่รู้ สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือความไม่รู้ทั้ง ๆ ที่ควรจะรู้ แต่ผมเต็มใจที่จะไม่รู้ทุกเรื่อง ที่จะต้องเรียนรู้จากคนที่รู้ แต่ผมจะเรียนรู้ตลอด ผมไม่เลิกเรียนรู้ เพราะเราเลิกเรียนรู้ไม่ได้ ถ้ายังมีชีวิตมีลมหายใจอยู่
ผมตั้งใจว่าถ้าผมออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็ไปสอนหนังสือ เพราะผมต้องการลับสมองผม ต้องการเรียนรู้ตลอด ต้องการปรับตัวเองให้ทันสมัยตลอด ที่ผมไปสอนหนังสือคือผมกำลังจะไปเอาเปรียบ จะไปเรียนจากเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งผมจะมีช่องว่าง วันนี้ถึงแม้ว่าผมจะพยายาม ปรับตัวเองให้ทันสมัย แต่ผมก็ไม่สามารถรู้วิธีนึกคิดของเด็กรุ่นใหม่ได้เท่าที่ควร เพราะฉะนั้นผมต้องสัมผัสและใกล้ชิด ผมพยายามคุยกับลูกผม เพื่อให้ช่องว่างไม่ห่างในเรื่องของความคิด หวังว่าท่านทั้งหลายซึ่งเป็นสมองที่สำคัญของประเทศ จะรักษาสมองนี้ให้เป็นแหล่งที่สำคัญของความรู้ให้กับประเทศ เพราะประเทศต้องการนวัตกรรม ต้องการมีนวัตกรรมตลอดเวลา
ผมหนักใจจริง ๆ วันนี้ ผมคุยเรื่องการพัฒนาการวิจัย (Research & Development) กับหลายหน่วยหลายคน ผมไม่เข้าใจถึงกระบวนการของความเข้าใจตรงนี้เท่าที่ควร ผมก็ยังพยายามเร่งให้ระบบวิจัยของเราให้พัฒนาขึ้น คือวันนี้อย่าไปคิดว่าเราจะเลียนแบบจากต่างประเทศอย่างเดียว เราต้องหาปัญญาของเราเองบ้างให้มากที่สุด ฝากนักเรียนทุนรัฐบาลไทยทุกคน ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติรับฟัง ขอบคุณ สวัสดีครับ +-


ความคิดเห็น

Chin - Jungz กล่าวว่า
ขอบคุณเจ้าของ page ที่เอาสุนทรพจน์ดีๆ แบบนี้มาให้ตัวผมได้อ่าน

ครับ

ผมอ่านมันจนจบ ยาวมาก แต่ก็อ่านไป และคิดไป

แล้วผมก็เล็งเห็นถึงสิ่งที่ท่านอดีจนายกฯ พูด

ผมฟังโดยจิตบริสุทธิ์ ปราศจากการเติมแต่งของคนอื่นๆ ที่ว่าท่านอดีตนายกฯ อยู่ทุกวัน ๆ

ผมว่าท่านเป็นคน อัจฉริยะ คนหนึ่งเลยน่ะ

ผมชอบท่านมาก ๆ

แต่ว่า ผมต้องไปทำการบ้านต่อแล้ว

- -*

น่าเสียดายกับบางคนที่ เห็นสุนทรพจน์ยาวๆ แบบนี้แล้วขยาดไป

ผมก็เป็นนักเรียน มอปลายคนหนึ่ง ที่กำลังจะเข้าสู่มหาลัย

สุนทรพจน์นี้ช่วยทำให้ผมมีมิติในความคิดเพิ่มขึ้นอีกมากมายเลยครับ

ขอบคุณเจ้าของ page นี้จริงๆ ที่เอาสิ่งดี มาแบ่งปัน

อยากให้หลายๆ คนได้อ่านมันเหมือนกันครับ

ไปแล้ว


ลาก่อนครับ


ปล. แย่จังเวลาที่ post comment ต้อง สมัครสมาชิกก่อน