นายก ฯ ทักษิณ สอนสร้าง ธุรกิจ (บทสัมภาษณ์วิทยุ โดยชีพธรรม คำวิเศษณ์)

อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร หนึ่งในสุดยอดของผู้ประกอบการไทย

เกริ่นนำ ย้อนหลังไปเกือบ 7 ปี ที่แล้วผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ขณะที่ยังไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี อยากให้บทความนี้ เป็นความทรงจำของผมอดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้ประกอบการ และ พร่ำสอนให้คนไทยทั้งหลายได้หลุดพ้นจากความยากจนและลำบาก บทความนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นความรู้สำหรับผู้จะเข้าสู่การสร้างธุรกิจเป็นผู้ประกอบการ
หวังว่าบทความนี้คงมีประโยชน์สำหรับชาว Blog บ้างไม่มากก็น้อยครับ
ทุกวันนี้ทุกวันเสาร์ ผมไม่มีโอกาสได้ฟังการแนะนำหนังสือและการบริหารการจัดการใหม่ ๆ นับตั้งแต่
เกิดรัฐประหาร หวังว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีที่มาสอนบริหารธุรกิจกับประชาชนผ่านวิทยุบ้าง


บทสัมภาษณ์ พ... ดร.ทักษิณ ชินวัตร (วันพฤหัสบดี ที่ 10 สิงหาคม 2543)

ผ่านรายการ Thaiventure.com ทาง FM 102 (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นรายการ E-business&Consulting)

คุณชีพธรรม คำวิเศษณ์ : เดี๋ยวเราคงต้องรอสายจากท่าน พ... ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องของ Entrepreneurship หรือว่าความเป็นผู้ประกอบการของท่าน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สิบกว่าปีเราเห็นท่านประสบความสำเร็จในธุรกิจต่าง ๆ แต่อีกเบื้องลึกกว่าที่ท่านจะประสบความสำเร็จมาได้ ท่านเคยต้องผ่านปัญหาต่างๆ มากมาย รวมถึงวิกฤตต่าง ๆ การแข่งขันในเชิงธุรกิจ ซึ่งท่านสามารถผ่านมาได้ เราจะไปถามท่านว่า องค์ประกอบของผู้ประกอบการจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร อะไรคือจุดเริ่มต้นของท่าน เดี๋ยวเราจะได้สนทนากันและท่านคงจะได้แนะนำ ความเป็นผู้ประกอบการและจะได้บอกถึงเทคนิคต่าง ๆ ว่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่จะต้องมีองค์ประกอบอะไร แล้วก็มีคำถามต่าง ๆ จากคุณผู้ฟังที่post เข้ามาใน Website และส่ง e-mail มา มีคำถามหลายคำถามที่จะเรียนถามท่าน เช่นอยากทราบว่าท่านคิดอย่างไรกับ domain name บ้าง ไม่ว่าจะเป็น tuksin.com, thairakthai.com แล้วมีบางท่านถามว่าอะไรคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาบุคลากรเยาวชนของชาติ และต้องปรับปรุงพัฒนาด่วนที่สุด รวมถึงคำถามที่น่าสนใจ เช่น พ... ดร.ทักษิณ เป็นเจ้าของธุรกิจมากมายประสบความสำเร็จหลายอย่าง และมีคู่แข่งทางการค้าอยู่มากอยากทราบว่าท่านมีแนวคิดอย่างไรในการมองคู่แข่ง การปรับตัวและสามารถเอาชนะได้อย่างที่เป็นอยู่นี่ และท่านคิดว่าเป้าหมายสูงสุดของท่านคืออะไร……….

ท่านพ... ดร.ทักษิณ ผมเคยอ่านหนังสือของท่าน คือมีจุดหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ตอนที่ท่านจะทำธุรกิจเกี่ยวกับโทรศัพท์พื้นฐาน ท่านบอกว่าท่านไม่ชอบธุรกิจ Fix line แต่ท่านชอบ ธุรกิจ wireless ซึ่งวันนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าธุรกิจ wireless ไปทั่วโลก แล้วกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งเป็นการมอง vision ซึ่งเราคงจะต้องสัมภาษณ์ท่านว่าจุดนี้ในเรื่องของ vision ในเรื่องของการมองอนาคตท่านทำอย่างไร ซึ่งสามารถจะมองผ่านทะลุมิติในจุดนั้นได้….

ตอนนี้ พ... ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย อยู่ในสายกับเราแล้วครับ

คุณชีพธรรม : สวัสดีครับ ท่านพ... ดร.ทักษิณ ครับ

... ดร.ทักษิณ: สวัสดีครับคุณชีพธรรมครับ

คุณชีพธรรม : ขอต้อนรับเข้าสู่รายการ THAIVENTURE.COM ครับ

... ดร.ทักษิณ: ครับ ขอบคุณครับ

คุณชีพธรรม : วันนี้ในช่วง Entrepreneurship ทางรายการเราเห็นว่าท่านเป็น the great entrepreneur ของไทยเรานะครับ และก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ระหว่างที่ท่านรับราชการอยู่ และก็ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ความเป็นผู้ประกอบการของท่าน เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แทนที่จะรับราชการต่อไป

... ดร.ทักษิณ: คือความจริงแล้วก็เริ่มต้นตั้งแต่ผมเรียนหนังสือจบจากอเมริกา จบปริญญาเอกมาและผมยังเป็นข้าราชการอยู่ ที่นี้ก็ค้นพบว่าปริญญาเอกที่ผมได้มาแล้วก็งานราชการที่เค้าใช้งานผมมันไม่ค่อย.. คือผมถูกใช้งานน้อยกว่าความรู้ที่เรียนมา และในขณะเดียวกัน ผมได้รับค่าตอบแทนไม่พอเลี้ยงลูก

คุณชีพธรรม : แสดงว่าอยากรวยใช่ไหมครับ

... ดร.ทักษิณ: จริง ๆ แล้วไม่พอใช้ คือตอนนั้นผมกลับมาจากอเมริกา ผมแต่งงานเสร็จ ผมก็กลับไปอเมริกา พอ

กลับมาก็ไม่มีบ้านอยู่ และลูกคลอดที่อเมริกาประมาณ 5 เดือนกว่า บ้านก็ไม่มีอยู่ต้องอาศัยบ้านพ่อตาอยู่ ผมก็เลยต้องดิ้นรนที่จะหางานทำ ตอนแรกผมคิดจะไปเป็น อาจารย์สอนภาษาอังกฤษนอกเวลาหรือไม่ก็คิดจะไปเป็น night manager คือผู้จัดการผลัดกลางคืนของโรงแรม พอตอนนั้นก็เปิดหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (www.bangkokpost.com) สมัครงาน ก็ปรากฎว่าดูไปดูมาก็ลองคิดทำธุรกิจดีกว่า ก็เลยหันกลับไปจะเริ่มทำธุรกิจผ้าไหม เพราะว่าทางญาติทำผ้าไหมกัน ก็สามารถหยิบยืมสต๊อคโดยที่ยังไม่สามารถจ่ายตังค์ได้ ก็เลยตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ตอนนั้น โดยให้ภรรยาผมทำและผมเป็นคนบอกวิธีการอะไรๆ ให้ ภรรยาผมก็ไม่มีงานทำก็เฝ้าร้านทำร้านขายของให้ ปรากฎว่าได้เดือนเดียว ได้ค้นพบแล้วว่าไปไม่รอด ผมเป็นคนตัดสินใจเร็ว พอเห็นว่าไปไม่รอดก็เลยเปลี่ยน ก็บอกภรรยาผมว่า เธอเฝ้าร้านไว้นะ เดี๋ยวฉันไปหาอะไรใหม่ๆ ทำเพราะไม่ไหวแล้ว เสร็จแล้วผมก็ไปเจอเพื่อนที่ไฟว์สตาร์ เขาก็ชวนไปดูหนัง ก็เลยเริ่มทำหนังตั้งแต่ตอนนั้นมา ก็เลยเซ้งร้านผ้าไหมไป ก็มาทำหนัง เพราะหนังหมุนเวียนเงินได้ คือผมใช้แลกเช็ค ผมก็เอาเช็คไปขาย ตอนนั้นมีรถอยู่คันหนึ่ง ก็เอาทะเบียนไปจำนำค้ำประกันเช็คไว้ ก็เอาเงินตรงนั้นมาทำหนัง ตอนแรกก็กำไร แต่ตอนหลังมาก็ขาดทุน พอหนังขาดทุนเข้า ก็เป็นหนี้เป็นสินเขา แต่พอตอนนั้นตอนที่หมุนเงินได้ ก็เริ่มซื้อทรัพย์สิน ก็เลยมีทรัพย์สินที่จะไปค้ำประกันหนี้ แต่ปรากฎว่าผลสุดท้ายทรัพย์สินนั้นคือตัวที่ทำให้ตัวเองมีภาระหนี้สินเยอะขึ้น เพราะมันมีดอกเบี้ย

คุณชีพธรรม : กว่าจะสำเร็จก็เหนื่อยเหมือนกันนะครับ

... ดร.ทักษิณ: ครับ มาหลายขั้นตอน จากตอนนั้นมาโรงหนังเป็นหนี้เป็นสินก็เยอะ ก็ทุบโรงหนังทำคอนโดตั้งแต่รุ่นแรกเลย ซึ่งก็เจอปัญหาอีกเพราะว่าระยะนั้นคอนโดไม่เป็นที่นิยม ตึกสูงคนก็กลัวเรื่องไฟไหม้ ก็เลยโดนหลายเรื่อง ตอนนั้นก็เลยไม่ทำ ทำเปลี่ยนจากคอนโดเป็นอพาร์ตเมนท์ ตอนนั้นก็มีหนี้สินค้างอยู่ประมาณ 50 ล้านสมัยก่อน

คุณชีพธรรม : เงินเดือนข้าราชการไม่มีทางที่จะใช้ได้ทั้งชีวิตเลยนะครับ

... ดร.ทักษิณ: เงินเดือนข้าราชการใช้อาทิตย์เดียวก็หมดครับ เพราะฉะนั้น ผมก็เลยอยู่ด้วยการหมุนเงินอย่างนี้ตลอด ตอนหลังเป็นหนี้อยู่ 50 กว่าล้าน รายได้ไม่มีเลย ผลสุดท้ายมาทำคอมพิวเตอร์ ทำคอมพิวเตอร์ก็เริ่มหมุนเงินได้ก้อนใหญ่ขึ้น ก็หมุนเงินใหม่มาใช้หนี้เก่า

คุณชีพธรรม : สมัยนั้นไม่มี Venture capital มาช่วย

... ดร.ทักษิณ: ไม่มีเลย โชคร้ายมาก คือผมเองกว่าจะล้มลุกคลุกคลานมาถึงได้ตอนนี้ พอทำคอมพิวเตอร์ตอนแรกก็ทำท่าดี ตอนหลังก็มีปัญหาอีกเพราะหนี้สินเก่ามันเยอะ

คุณชีพธรรม : แสดงว่าความเป็นผู้ประกอบการของท่านไม่ได้ผ่านในชั้นเรียนใน Harvard ในStanford ใช่ไหมครับ แต่เกิดขึ้นจากตัวเอง เกิดอย่างไร มีหลักเกณฑ์อย่างไรครับ

... ดร.ทักษิณ: คือจริงๆ แล้วพ่อผมเป็นคนที่ทำธุรกิจมาก่อน คือพ่อผมเริ่มต้นจากขายกาแฟอยู่หน้าตลาด จากขายกาแฟเสร็จ ก็มาทำสวน ทำสวนเสร็จพ่อผมก็เป็นลูกจ้างธนาคารคือไปเป็น กำมะโด สมัยก่อน กำมะโด คือผู้จัดการสินเชื่อธนาคารสมัยก่อนที่อยู่เชียงใหม่ ก็พอพ่อเป็นกำมะโด ก็มีโอกาสหมุนเงินเป็น ใช้เงินเป็น พ่อค้าที่กู้เงินธนาคารก็ชวนไปเข้าหุ้น พ่อผมก็เริ่มค้าขาย ผมก็เลยช่วยพ่อผมตั้งแต่ตอนนั้น ตอนหลังมาการค้าขายก็โดนโกง โดนโกงไปหลายอัน สุดท้ายพ่อก็เลิกกิจการ ผมก็ไปเรียนหนังสือเมืองนอกในสภาพที่ทางบ้านก็มีหนี้เยอะ ก็ไม่ง่าย พอกลับมาวิญญาณของผู้ประกอบการที่ได้ช่วยพ่อตั้งแต่เด็กๆ มันมีอยู่ มันก็เห็นการค้าการขายเห็นความสำเร็จของพ่อ ความล้มเหลว ความสำเร็จ ทำให้เราได้เรียน คือผมเป็นคนช่างสังเกต ตั้งแต่เด็กๆ

คุณชีพธรรม : อยากให้ท่านพูดถึงองค์ประกอบของผู้ประกอบการว่าต้องมีคุณสมบัติอย่างไรที่จะประสบความสำเร็จ

... ดร.ทักษิณ: เป็นคนกล้าล้มเหลว เพราะมันไม่มีจุด คือเด็กเวลาหัดเดินใหม่ๆ มันจะต้องมีล้ม ถ้าเด็กกลัวล้มไม่กล้าเดินก็จะเดินไม่ได้ ถ้าเดินแล้วต้องยอมรับว่าล้ม ล้มแล้วต้องลุกขึ้นมาแล้วเดินต่อ

คุณชีพธรรม : 1. คือกล้าล้มเหลวครับ แล้ว 2.ครับ

... ดร.ทักษิณ: ต้องมีความอดทนมาก

คุณชีพธรรม: มากขนาดไหนครับ ทั้งกายและใจ

... ดร.ทักษิณ: ทั้งกายและใจครับ คือต้องเป็นคนที่สามารถทำงานวันหนึ่งเกิน 14 ชั่วโมงได้ คืออย่าคิดว่าสุขสำราญตลอด

คุณชีพธรรม: นี่ก็เหนื่อยกว่าเป็นลูกจ้างซิครับ

... ดร.ทักษิณ: เหนื่อยกว่าเยอะ แต่ว่าถ้าสำเร็จมันก็ดีกว่าเยอะ แต่เวลาไม่สำเร็จก็ลำบากพอสมควร

คุณชีพธรรม: 1. กล้าล้มเหลว 2. อดทน และ 3. ครับ

... ดร.ทักษิณ: 3. ต้องเป็นบุคคลที่มีข้อมูล ต้องศึกษา ถ้าเราไม่มีข้อมูลเราใช้ความรู้สึกในการทำธุรกิจ โอกาสผิดพลาดมันสูง มันเหมือนการลองผิดลองถูก เหมือนเราเข้าไปดูเค้าเล่น Roulette ไปถึงก็เอาตังค์ไปวางตรงไหน ก็โดนกินตลอด เพราะมันไม่มีข้อมูล เพราะฉะนั้นเราต้องมีข้อมูล ข้อมูลก็เกิดจากการที่อ่านหนังสือ อ่านหนังสือธุรกิจบ้าง อ่านหนังสือแมกกาซีนเมืองนอกบ้าง

คุณชีพธรรม: ท่านอ่านอะไรครับ Fortune business week อะไรเป็นต้น ช่วยแนะนำหน่อยครับ

... ดร.ทักษิณ: ผมอ่าน แมกกาซีนทุกอย่าง แต่ไม่ได้รับเป็นประจำ พอเวลาผมขึ้นเครื่องบิน ผมก็อ่านหนังสือธุรกิจ เวลาอยู่บ้านก็อ่านหนังสือธุรกิจ ประชาชาติธุรกิจ ผู้จัดการ ฐานเศรษฐกิจ ก็อ่านมาเรื่อยๆ พออ่านเสร็จก็เป็นความรู้ แล้วก็มาเก็บเป็นข้อมูลไว้ คือผมเป็นคนโชคดีอย่าง คือ ความจำดี และชอบเชื่อมโยงเรื่องราว ก็จะเห็นความสำเร็จ ความล้มเหลวของนักธุรกิจรุ่นเก่าๆ คนที่เขาไปสำเร็จตรงนี้ แต่เขาไปล้มเหลวตรงนี้ คือไม่มีใครที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ และเสียร้อยเปอร์เซ็นต์ คนที่ล้มก็มีของดีอยู่ แล้วคนที่สำเร็จก็มีข้อเสียอยู่ เพราะฉะนั้นเราต้องสังเกตุและรู้วิเคราะห์ มี Exhibition มีนิทรรศการต่างๆ ไปดูเถอะครับ บางครั้งเราไม่มีไอเดีย คือธุรกิจต้องมี ไอเดีย การจะเป็นผู้ประกอบการต้องมี ไอเดีย ไอเดียต้องมาจากความรอบรู้ ความรอบรู้ต้องไปขวนขวายหา ผมจะอ่านหนังสือ ผมจะดู exhibition ผมจะพูดคุยกับคน เราต้องยอมที่จะพบปะผู้คนที่หลายอาชีพ ที่จะพูดคุยกับเขา ก็จะได้ไอเดียต่างๆ และพยายามเอาไอเดียต่างๆ มาเชื่อมโยงให้ได้ เราก็จะเกิดไอเดีย เมื่อเราเกิดไอเดีย เราก็จะเริ่มทำธุรกิจในสิ่งที่เราคิดว่ามันน่าจะไปได้ แรกๆ ผมก็เริ่มต้นจากคนไม่มีไอเดียมาก่อน

คุณชีพธรรม :Creativity แสดงว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นเองแต่ต้องสร้างขี้นมาใช่ไหมครับ ต้องคิดสร้างสรรค์ ใช่ไหมครับ

... ดร.ทักษิณ: ต้องสร้างครับ ต้องขวนขวาย มันไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นโดยโชค คือเราไปจุดธูปไปหวัง มันไม่ได้หรอกครับ มันเป็นสิ่งที่ทำให้ใจสบายเท่านั้นเอง สิ่งที่แน่นอนคือเราต้องขวนขวายช่วยตัวเองให้มากที่สุด

คุณชีพธรรม : ข้อ 4. ถ้าให้เดาก็เป็นพวก Vision ใช่ไหมครับ

... ดร.ทักษิณ: คือ Vision ก็เกิดจากที่เราขวนขวายหาความรู้ เรารอบรู้นี่แหละ และเชื่อมโยงความรอบรู้ มันจะเดาต่อไปได้ว่า ถ้านี่เกิดนั้นต้องเกิด เชื่อไหมครับ ผมไม่ได้จบวิศวะมาเลย แล้วผมจำได้เดือนตุลาคม 2537 ผมถูกเชิญโดย Lehman brother (www.lehman.com) วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ ให้ไปพูดให้นักลงทุนที่เป็นลูกค้าของ ฟังจากทั่วโลกที่ New York วันนั้นที่เขาเชิญ ก็เชิญเจ้าของบริษัท Oracle คุณ ลาร์รี่ แอลลิสัน ไปด้วย แล้วผมก็บอกกับคนฟัง อีก 10 ปีข้างหน้า คอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งจะเป็นทุกอย่าง ตอนนั้นอินเตอร์เน็ตไม่มี คอมพิวเตอร์จะเป็นทุกอย่าง เป็น video on demand มันจะเป็น fax machine เป็นคอมพิวเตอร์ เป็นทีวี เป็นโทรศัพท์ เป็นทุกอย่างเลย แล้วเราจะหิ้วไปใช้ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้

คุณชีพธรรม : ตอนนั้น Note book เกิดหรือยังครับ

... ดร.ทักษิณ: Note book เกิดแล้ว แต่ว่ายังใหญ่มากเลย ผมบอกว่ามันจะเป็นทุกอย่างเลย จะหิ้วไปไหนก็ได้ เสร็จแล้ว มันสามารถที่จะอยากดูหนังบนดอยปุยก็ได้ ดูหนังฮอลิวู้ดบนดอยปุยก็ได้ เพราะว่าทุกอย่างเป็น wireless หมดเลย เป็นสิ่งที่ผมทำนายไว้ โดยที่ผม รู้จักการอ่านและพูดคุยกับคนและเดาว่าสิ่งที่จะเกิดมันกำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ ผมคิดว่าปี 2547 เกิดแน่นอน


คุณชีพธรรม : ในขณะนี้เรากำลังสนทนาอยู่กับท่านพ... ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ท่านก็มาเล่าถึงองค์ประกอบของผู้ประกอบการ ว่ามีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง คือ 1. ต้องกล้าล้มเหลว 2. ต้องอดทน 3. ต้องเป็นคนขวนขวายหาความรู้ และ 4. ต้องมี Vision

... ดร.ทักษิณ: คือ vision มันก็ต่อเนื่องจากการขวนขวายหาความรู้ แล้วจะต้องพัฒนาวิสัยทัศน์

คุณชีพธรรม : ท่านครับผมได้อ่านหนังสือของท่านเหมือนกัน ท่านพูดคำหนึ่ง แล้วผมชอบมาก ท่านบอกว่าท่านไม่ชอบธุรกิจ fix line แต่ผมชอบธุรกิจ wireless และ 10 ปีมันพิสูจน์ขึ้นมาตรงนี้ จุดนี้ทำไมท่านถึงกล้าที่จะไปเสี่ยงทำธุรกิจตรงนั้น ซึ่งใครยังมองไม่เห็น

... ดร.ทักษิณ: ผมคิดว่า คนในโลกนี้ยิ่งนับวันระบบทุนนิยม ยิ่งทำให้คนต้องดิ้นรนและก็ต้องแข่งขัน เพราะฉะนั้นคนจะเคลื่อนย้ายตัวเองมากกว่าอยู่กับที่ และคนต้องสามารถประกอบธุรกิจ และทำอะไรก็ได้ทุกที่ทุกเวลา เทคโนโลยีจะตามลูกค้า เทคโนโลยีมีก็จริงอยู่ แต่ application ของมันจะเป็นไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ผมเห็นผู้บริโภค เพราะผมชอบเดินทาง ผมเป็นนักธุรกิจในวันนั้น ผมเดินทางมาก ผมก็รู้แล้วว่าเราเองยังอยู่กับที่ไม่ได้เลย ต้องไปโน่นไปนี่ และผมก็นั่งนึกตอนผมเป็นเด็กบ้านนอก ผมไปต่างจังหวัด ผมก็จะไปนอนโรงแรมเซลล์แมน เพราะสมัยก่อน ตังค์ไม่มี คืนละ 50 บาท ไปนอนโรงแรมเซลล์แมน เราเห็นว่า สมัยโบราณเซลล์แมนต้องเดินขายของ เพราะทุกอย่างคนที่มีการทำธุรกิจจะต้องเดินทางมาก เมื่อเดินทางมากแน่นอนสิ่งที่เป็นระบบสื่อสารมันก็จำเป็นขึ้นเรื่อยๆ มันจะต้องเป็นระบบของการเคลื่อนที่มากกว่าอยู่กับที่ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่า wireless ต้องมีอนาคตดีกว่า และตอนนี้มันก็เป็น wireless หมดจริงๆ

คุณชีพธรรม : ตอนนี้ผมรู้ว่าท่านประสบความสำเร็จแล้ว แต่ก่อนที่ท่านประสบความสำเร็จ ช่วยเล่าความล้มเหลวให้ฟังได้ไหมครับ ว่าท่านจะมาถึงธุรกิจ wireless ตรงนี้ท่านต้องผ่านอะไรมาบ้าง ท่านใช้ปรัชญาอะไรในการผ่าวิกฤตตรงนี้มาครับ

... ดร.ทักษิณ: ชีวิตคนเรา เราต้องเข้าใจ คือผมเป็นคนชอบหลับตามอง และเปรียบเทียบ ผมมองเปรียบเทียบว่าคนเราชีวิตเวลาเริ่มต้นก็เหมือนเด็กที่เพิ่งคลอด ทุกอย่างจะคล้ายคลึงกัน แต่บางทีเราต้องหลับตามองนิดหนึ่ง เวลาเด็กคลอดมาใหม่ๆ เด็กเริ่มตั้งไข่ ก็ต้องมีหกล้ม เด็กจะเดินก็ต้องหกล้ม หัดวิ่งก็ต้องหกล้ม เป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปถือว่า เวลาเด็กหกล้ม เราก็รีบโวยวาย ไม่ให้วิ่งอีกแล้ว ต่อไปนี้ไม่ได้แล้ว ไม่งั้นเด็กก็วิ่งไม่แข็งไม่เก่ง เป็นลักษณะอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเวลาผมทำธุรกิจ ผมก็คิดอยู่อย่างหนึ่งว่า เวลาเราเริ่มต้น เราก็มีผิดพลาด แล้วเราต้องเอาความผิดพลาดนั้นเป็นครูให้ได้ เพราะว่าความผิดอย่าให้มันเสียหายไปโดยที่แล้วๆ ไป ถ้าเราไม่จดจำความผิดพลาดนั้น แล้วไปนั่งคิดว่าผิดเพราะอะไร แล้วเอามันเป็นครูให้ได้ ตรงนี้สำคัญที่สุด ถ้าเราไม่คิดเอาเป็นครู ก็เป็นไปไม่ได้ ตอนที่ผมทำธุรกิจผมยอมรับครับว่าผมมีเพื่อนน้อย ตอนแรกๆ เพื่อนทางธุรกิจไม่มีเพราะผมเป็นคนมาจากต่างจังหวัดมาอยู่กรุงเทพฯ มาถึงก็ไปเรียนโรงเรียนเตรียมทหารนายร้อยตำรวจ ซึ่งในแวดวงของผมไม่มีนักธุรกิจ และผมเริ่มต้นชีวิตใหม่ๆ ผมไม่มีตังค์ ผมขึ้นแชร์หาคนเล่นไม่ได้ เพราะผมไม่มีเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจ เพื่อนที่ไม่ใช่นักธุรกิจเขาไม่เล่นแชร์กัน ตังค์ก็ไม่มี รายได้ก็ไม่มี ผมต้องสร้างเพื่อน ต้องมีเพื่อน และการจะมีเพื่อนก็ต้องมีน้ำใจต่อเพื่อน ต้องซื่อสัตย์ต่อเพื่อน ไม่ซื่อตรงต่อเพื่อนก็ลำบาก ที่นี้ตอนทำธุรกิจ เริ่มต้นต้องมีไอเดีย ถ้าไม่มีไอเดียก็ลองผิดลองถูก ทำธุรกิจส่วนใหญ่แล้วเราเลียนแบบคนอื่น ที่นี่การเลียนแบบคนอื่น ที่นี่การเลียนแบบคนอื่นมันผิดพลาด เพราะบางครั้ง เขาบอกว่า

ผู้ชนะคือผู้คิดเกมส์ใหม่ ถ้าไปเล่นเกมส์ของคนอื่นเขาเราต้องยอมรับว่าเราอย่างเก่งแก่แค่รอด เพราะฉะนั้นเราต้องคิดให้ได้ต้องมีไอเดียใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ลำบากกว่านี้ การจะ turn around ธุรกิจต้องมีไอเดีย ผมจะใช้คำว่าไอเดียตลอดเวลา คือคนจะคิดทำธุรกิจต้องมีไอเดีย ที่นี้การจะมีไอเดียได้นั้นต้องอ่าน ต้องฟัง ต้องดู ให้มากที่สุด ถ้าเราไม่อ่าน ไม่ฟัง ไม่ดู ไม่มีทาง

ตอนเด็กๆ พ่อแม่เขาว่าผมเป็นเด็กสอดรู้สอดเห็น ผมชอบอยากรู้ ชอบถามโน้นถามนี่ อยากรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ อันนี้เป็นสิ่งที่สร้างนิสัยผมมา พอโตผมชอบอ่านหนังสือ ชอบเรียนรู้เรื่องใหม่ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผมพยายามได้ไอเดีย แต่แม้กระนั้นเบื้องต้นผมทำธุรกิจยังไม่มีไอเดีย ผมก็ไปเอาผ้าไหมของตระกูลที่เขาทำกันมาลองทำดู ก็ไปตามเขา

คุณชีพธรรม : เมื่อกี้ท่านพูดถึงคอนโด พูดถึงผ้าไหม แล้วอยากให้ท่านไล่ให้ฟังถึงธุรกิจที่ทำมาแล้วก่อนที่จะมาถึงธุรกิจไร้สาย เพื่อจะได้เป็นกำลังใจสำหรับบรรดา Entrepreneur ได้ว่าท่านล้มแล้ว ท่านยังก้าวต่อไปไม่ท้อถอย

... ดร.ทักษิณ: ผมทำผ้าไหมพลาด ทำหนังพลาด ทำคอนโดพลาด แล้วผมก็ทำคอมพิวเตอร์ แล้วปีที่ผมหักเหจากคอมพิวเตอร์มาเป็นธุรกิจสื่อสาร คือปีนั้นผมขายคอมพิวเตอร์ให้ส่วนราชการ 8 แห่งพร้อมกัน ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่

คุณชีพธรรม : ปีนั้นท่านยังไม่ได้ลาออก ท่านแบ่งเวลาอย่างไร

... ดร.ทักษิณ: ปีนั้นเป็นปีที่ขายแล้ว 8 แห่ง และปีนั้นเป็นปีที่ถือว่า ยอดขายดีมาก กำไรดีมาก แต่ผมนั่งดีดลูกคิดแล้วว่าขายดี กำไรดี อย่างนี้ วันนี้คู่แข่งยังน้อย และวันที่เจ้าหน้าที่เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ยังเงินเดือนไม่แพง เรายังไม่พอใช้หนี้ คือผมถือหลักอย่างนี้ครับ เมื่อเราเป็นหนี้ก้อนใหญ่เราต้องหาธุรกิจก้อนใหญ่กว่าถึงจะล้างหนี้เดิมได้ อย่างวันนี้ถ้าคนเป็นหนี้ร้อยล้าน ถ้าจะทำธุรกิจระดับสิบล้าน ไม่มีปัญญาใช้หนี้หรอกครับ มันต้องพยายามหาไอเดียไปสู้สิ่งที่ใหญ่กว่า พอผมพลาดผมเห็นคอมพิวเตอร์ตรงนั้น ผมจะขอเปลี่ยนไม่มีใครยอมเปลี่ยน บอกว่าธุรกิจดีแล้วจะเปลี่ยนทำไม แต่ผมดีดลูกคิดดูแล้ว เราต้องมีตัวเลขตลอด ว่าไปไม่รอด พอไปไม่รอดผมก็เปลี่ยน เราก็มองธุรกิจที่ทำอย่างไรถึงจะไม่ซื้อมาขายไป ยังไงถึงจะเป็นธุรกิจที่มีรายได้ต่อเนื่อง เพราะว่าซื้อมาขายไป ปีนี้อาจจะดี ปีหน้าอาจจะไม่ดี มันไม่ไหว ผมเลยคิดว่าผมอยากมีรายได้ต่อเนื่อง ผมก็ไปนั่งคิดและผมก็ไปทำเรื่องของระบบสัญญาณเตือนภัย SOS แล้วก็พลาดอีก ทำวิทยุ bus sound จำได้ไหม

คุณชีพธรรม : ที่รถเมล์มีวิทยุฟัง ก็ของท่านทักษิณหรือครับ

... ดร.ทักษิณ: ครับ ก็เทคโนโลยีของคนไทย ทำกันก็พลาด ตอนนั้นผมเริ่มเข้าสู่เทคโนโลยีก็พลาดอีก

คุณชีพธรรม : แล้วกำลังใจไม่หายหรือครับ

... ดร.ทักษิณ: ผมขึ้นศาลหลายรอบ เพราะผมเป็นหนี้เขา เช็คเด้ง

คุณชีพธรรม : ใครมารับรู้ตรงนี้กับเราไหมครับ

... ดร.ทักษิณ: ผมเป็นคนที่ไม่ปิดบังความผิดพลาดในอดีต เพราะต้องการให้เป็นครูให้ได้ ช่วงนั้นผมก็ไปขึ้นศาล ไปผลัดหนี้เช็ค พอผลัดเสร็จถึงกำหนดจ่าย ก็ทยอยจ่ายไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายก็หมดหนี้หมดสินไป แต่กว่าจะถึงวันนั้นก็ลำบากเยอะครับ พอผมลำบากตั้งแต่ตอนขายคอมพิวเตอร์ทำท่าดีขึ้นมา ก็พยายามดิ้นรนทำธุรกิจที่มีรายได้ต่อเนื่อง ก็ไปทำ bus sound ก็พลาด ไปทำ SOS ก็พลาดตอนหลังมาช่วงนั้น IMF รอบแรก ที่รัฐบาลถูก IMF ห้ามลงทุน เพราะว่าเนื่องจากว่าเราเป็นหนี้ต่างประเทศก็ห้ามลงทุน ที่นี้เขาให้ภาคเอกชนลงทุนแทน ผมก็มีโอกาสได้เข้าไปประกวดราคาสัมปทานธุรกิจด้านโทรคมนาคม

คุณชีพธรรม : แต่ก็ต้องมีความเสี่ยงสูงใช่ไหมครับ

... ดร.ทักษิณ: ตอนนั้นเสี่ยงมากครับ เพราะว่าตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น และจะมาขณะนี้ แต่เพียงว่าผมกล้าที่จะเสี่ยงในเรื่องที่ใหญ่กว่าเพื่อจะได้ใช้หนี้ของเก่าได้

คุณชีพธรรม : ท่านพูดเหมือนกับ จิมคลาส คนที่ก่อตั้ง บ.Nescape ผู้พัฒนาเบราเซอร์สำหรับอินเทอร์เน็ต ขึ้นมาเขาบอกว่า ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าอินเตอร์เน็ตจะเป็นอย่างไรบ้างแต่ต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว

... ดร.ทักษิณ: ที่จริงผมก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจริงๆ แต่ผมต้องกล้าทำ เพราะว่าถ้าผมไม่กล้า ผมก็ไม่รอดเหมือนกัน เพราะเห็นแล้วว่าหนี้ผมขนาดนั้นผมไม่ไหว ผมเข้าไปทำ ก่อนที่ผมจะเข้าไปทำเรื่องมีตังค์ ผมก็เสี่ยงขาดทุนมาแล้ว เรื่องแรกที่ผมทำ เรื่องโทรคมนาคม คือ เรื่อง Data net, data communication ซึ่งวันนั้นคนไทยใช้คอมพิวเตอร์กี่ตัว แต่ผมทำตรงนั้น ผมก็พลาด ผมก็ขาดทุน ซึ่งบริษัทยังขาดทุน แล้วก็หลังจากนั้นไปทำ phone link ก็ไปได้แต่ก็เหนื่อยเหมือนกัน แล้วก็มาทำ cable tv. IBC ตอนนั้น ซึ่งก็ไปไม่ค่อยได้ ทุกวันนี้ก็ยังขาดทุน ซึ่งตอนนี้เป็น UBC แล้วก็ยังขาดทุนอยู่แต่ผมไม่มีหุ้นเหลือแล้ว ผมขายหมดแล้ว พอมีรอดก็มี cellular นี่แหละ ซึ่ง cellular วันนั้น สิ่งที่ผมเสนอให้รัฐวันนั้นสูงมาก สูงจนข้าราชการที่รับเรื่องตกใจ เพราะว่าสิ่งที่รับทำวันนั้น องค์การโทรศัพท์ก็ทำ การสื่อสารก็ทำ วันนั้นเครื่องตัวหนึ่ง ตัวละแสนบาท ราชการทำเองแต่ขายตัวละแสน แล้วขณะเดียวกัน อัตราค่าบริการที่กำหนดไว้วันนั้นจนถึงวันนี้ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ไม่ขึ้นราคาเลย สิบกว่าปีนี้ไม่ขึ้นราคาเลย

คุณชีพธรรม : ภายในภาวะความเครียดของท่านถึงกับต้องเข้าวัดเลยหรือเปล่าครับ

... ดร.ทักษิณ: ผมไม่ได้เข้าวัดในช่วงนั้นนะครับ จริงๆ แล้วผมมาเข้าวัดในช่วงการเมือง แต่ช่วงธุรกิจช่วงนั้นผมเหนื่อยและเครียดแต่ก็ไม่เครียดมาก ผมเป็นคนซึ่งถือว่ามันไม่ได้ประโยชน์อะไรกับความเครียด แต่เราต้องจริงจัง แต่อย่าเครียด

คุณชีพธรรม : เราต้องได้ People ที่ดี ที่จะคอยมา manage ให้กับเราด้วยใช่ไหมครับ

... ดร.ทักษิณ: แน่นอนครับ การทำธุรกิจต้อง Professional นะครับ คือทำอะไรต้องทำเป็นระบบ และก็สำคัญที่สุดคือสิ่งที่นักธุรกิจพึงสังวรณ์ คืออย่าใช้เงินผิดประเภท คนใช้เงินผิดประเภทมันไปไม่รอดหรอกครับ เพราะว่าภาคธุรกิจตัวมันเอง เงินมันต้องเลี้ยงตัวมันเองให้ได้ ถ้าเราใช้เงินผิดประเภท สมมุติว่าเราทำธุรกิจกำไรปีละ 2 ล้าน แต่เราไปสร้างบ้านอยู่ 10 ล้าน อย่าลืมนะครับว่า 10 ล้านมันเป็นดอกเบี้ยปีละล้านกว่า เท่ากับกำไรปีละ 2 ล้านมันหายไป

คุณชีพธรรม : คุณผู้ฟังกำลังรับฟังรายการ Thaiventure.com วันนี้เราสนทนากับท่าน พ... ดร.ทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวกับความเป็นผู้ประกอบการ ท่านก็ได้พูดถึงปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ ที่ท่านผ่านมาและที่ท่านประสบความสำเร็จ ท่านครับมีคำถามจากคุณผู้ฟังที่ Post กันเข้ามาใน Thaiventure.com ถามมาว่า ท่านเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหลายอย่างและมีคู่แข่งทางการค้า อยากทราบว่าท่านมีแนวคิดอย่างไรในการมองคู่แข่ง มีการปรับตัวอย่างไรให้ธุรกิจของเราสามารถชนะได้อย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ และอีกอย่างท่านตั้งเป้าหมายสูงสุดของท่านคืออะไร จากคุณเกษมครับ

... ดร.ทักษิณ: คืออย่าไปมองเกมส์คู่แข่ง เราต้องมองตัวเรา คือถ้าเราไปเล่นเกมส์ของคู่แข่ง เราแพ้นะ ที่ผมเตือนไว้ ผู้ชนะคือผู้ที่คิดเกมส์ใหม่ เพราะฉะนั้นเราต้องเปิดเกมส์ของเราแข่งกับตัวเราเอง ทำให้ตัวเราเองดีขึ้นเรื่อยๆ

คุณชีพธรรม : เหมือนกับตีกอล์ฟเลยนะครับ

... ดร.ทักษิณ: ทำตัวเราเองให้ดีขึ้นวันนี้ได้ 1 พรุ่งนี้เราต้องให้ได้ 2 ได้ 3 ให้ได้ คือเราทำตัวเราให้ดีขึ้น แล้วชำเลืองคู่แข่งแต่อย่าไปเล่นเกมส์คู่แข่ง ถ้าชำเลืองคู่แข่งและไปเล่นเกมส์คู่แข่ง เราแพ้ เพราะว่าคนที่เป็น Master เห็นเกมส์คือตัวชนะ คือเขาจะรู้วิธีการเขาจะ master เกมส์เขาได้ดี เพราะฉะนั้นถ้าเราไปเล่นเกมส์ของเขาเราแพ้ เพราะฉะนั้นต้องเล่นเกมส์ของเรา แข่งกับตัวเราให้มากที่สุด ชำเลืองคู่แข่งเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพตัวเอง แต่อย่าไปเล่นเกมส์ของเขา อันนั้นเป็นหลักในการมองคู่แข่ง

คุณชีพธรรม : ท่านจะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการให้กับคนรุ่นใหม่ ท่านพูดอยู่เสมอ ยุคดอทคอมแล้วจะส่งเสริมอย่างไร

... ดร.ทักษิณ: คือผมเลียนแบบจากความสำเร็จของอเมริกา คนอเมริกาเมื่อก่อนนี้คิดจะเป็นลูกจ้างเขาอย่างเดียว ไม่เคยคิดจะเป็นผู้ประกอบการ ถ้าใครมาบอกว่าผมจะเป็นเถ้าแก่เอง คนเขาจะขำกันกลิ้ง

คุณชีพธรรม : จะไปสู้ IBM สู้ FORD เขาได้อย่างไร

... ดร.ทักษิณ: เป็นอย่างนั้นแหละครับ ลักษณะนั้นแหละครับ เพราะฉะนั้นตอนหลังๆ มาเด็กรุ่นใหม่ๆ กล้าคิด พอกล้าคิด ตอนนั้นอเมริกาบังเอิญเงินเขาเยอะ เงินเขาเยอะ เงินถูกกระจายไปหลายที่ บางคนก็ฝากแบงค์ บางคนไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ บางคนไปลงทุนตลาดตราสารหนี้ บางคนไปจัดตั้งกองทุนขึ้นมา สำหรับบางคนมีเงินแล้วอยากได้กำไรเยอะๆ มากกว่าดอกเบี้ย เขาก็ตั้งเป็นกองทุน กองทุนก็มีหลายรูปแบบ กองทุนก็ไปลงทุนที่อื่นบ้าง บางทีกองทุนก็มาลงทุนในบริษัทใหม่ๆ สร้างบริษัทใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นกองทุนที่ลงในบริษัทใหม่ๆ คือกองทุนที่เรียกว่ากองทุนร่วมทุน ตอนหลังมาอเมริกาก็มีกองทุนแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ บังเอิญมีเด็กรุ่นใหม่ ที่มีไอเดียใหม่ๆ เยอะ ก็เลยเอาคนมีตังค์กับคนมีสมองมารวมกัน คนมีสมองก็บอกว่าผมอยากจะทำเรื่องนี้ คนมีตังค์ก็วิเคราะห์ อ๋อ!ทำเรื่องนี้ได้ตังค์แน่ เอ้า! ลงทุนกัน กองทุนร่วมทุนก็จะลงทุนให้ ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย แต่ว่าได้หุ้นครึ่งหนึ่ง แต่ว่าคนที่มีสมองได้หุ้นอีกครึ่งหนึ่ง และกินเงินเดือนด้วย แต่เงินเดือนไม่มากนัก คนมีสมองนั่นแทนที่จะไปเป็นลูกจ้างกินเงินเดือน 50,000 ก็ยอมมาจัดตั้งกองทุนร่วมทุน แต่กินเงินเดือน 3,000 แต่ได้หุ้นอีก ห้าสิบเปอร์เซ็น แล้วพอบริษัทเติบโตขึ้นก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ คนกองทุนก็ขายหุ้นไปก็ได้ตังค์คืนเป็นกำไร ส่วนเจ้าตัวนั้นก็ได้หุ้นตัวเองไว้อยู่ อยากได้ตังค์ใช้ก็ขายหุ้น ไม่อย่างนั้นก็กินเงินเดือนไปเรื่อยๆ เหมือน Steve job เหมือน

Bill gates (www.microsoft.com/billgates) ก็มาอย่างนี้กันทั้งนั้น ซึ่งในประเทศไทยผมก็เอาconcept นี้มาใช้ โดยการที่รัฐบาลเริ่มก่อน ถ้าหลังจากที่รัฐบาลเริ่มแล้ว ก็จะแก้กฎหมายส่งเสริมเพื่อให้ภาคเอกชนเริ่ม ให้ภาคธนาคารเริ่มให้จัดตั้งกองทุนได้ เพื่อที่จะให้กองทุนเหล่านี้ไปร่วมทุนกับผู้ที่มีความคิดใหม่ๆ

คุณชีพธรรม : ก็เป็นเหมือนกับ Venture capital forum ใช่ไหมครับ

... ดร.ทักษิณ: และในโลกข้างหน้า New economy หรือเศรษฐกิจใหม่ จะเป็นประเภทธุรกิจหรือภาคธุรกิจที่ใช้สมอง ใช้ความคิดมากกว่าใช้การลงทุนทางวัตถุ วัตถุดิบต่างๆ จะใช้น้อย เพราะฉะนั้นจะใช้เทคโนโลยีก็ดี จะใช้ภูมิปัญญาเดิม หรือทักษะต่างๆ มากกว่าที่ใช้เครื่องไม้เครื่องมือแพงๆ เพราะฉะนั้นอย่างเรื่องของดอทคอมทั้งหลายก็ลงทุนไม่กี่ตังค์

คุณชีพธรรม : แต่มัน clash มันพังอยู่นะครับ ทุกวันนี้บ้านเราก็พัง ที่มันพังมันเกิดจากอะไรครับ

... ดร.ทักษิณ: เกิดจากการที่ไม่มีความพอดี คือพระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ ทางสายกลางคือความพอดี คือบางทีบางครั้งพอเขาเริ่มต้น คนที่ลงทุนก็ฝันว่าตรงนี้กำลังจะระเบิดจะเติบโตกันมาก ก็เลยไปตีราคาเขาสูงมากเกินไป และความเป็นจริงแล้วมันไม่จริง สมมุติว่าเรามีของชิ้นหนึ่งมันควรจะราคาพันบาท เราไปคิดไปจินตนาการ ที่พระพุทธเจ้าว่าปรุงแต่งทางอารมณ์ ไปจินตนาการว่า พันบาทมันต้องขึ้นเป็นแสนเป็นล้าน เราก็เลยไปซื้อมาซะวันนี้เลย 5,000

คุณชีพธรรม : มันไม่ใช่เกิดจากตัวผู้ประกอบการด้วยหรือครับ อาจจะเด็กเกินไป ไม่มีประสบการณ์

... ดร.ทักษิณ: มันมีอยู่ 2-3 อย่าง อันนี้ผมเล่าให้ฟังว่านี่คือ การไปตีราคา ไปคิดไปจินตนาการอะไรตรงนั้น แต่เสร็จแล้วตัวของมัน มันเป่งไปไม่ถูกราคาตรงนั้น นั่นก็คือตัวผู้ประกอบการกับตัวไอเดีย ของบริษัทมันไม่ได้ไปถึงขนาดนั้น เพราะศักยภาพไปไม่ถึงขนาดนั้น เราให้ราคาถึงขนาดนั้นมันถึงล้ม ถ้าเราคิดว่าคนมีศักยภาพ 100 หรือ 150 มันก็ไม่เสียหายสักเท่าไหร่ แต่เราไปตีเขา 1,000 มันก็เสียหายแน่นอน มันก็เหมือนกับดอทคอม ซึ่งเกิดขึ้นโดยไอเดีย ซึ่งบังเอิญว่าคนที่ตีราคาหรือคนที่ลงทุนไม่รู้เทคโนโลยี ก็คิดว่าเรื่องนี้ ซึ่งไปฟังเขาโม้ เลยไปกันใหญ่เลย ความจริงแล้วมันไปไม่ถึงขนาดนั้น

คุณชีพธรรม : ถ้าอย่างนั้นท่านต้องแนะนำนักธุรกิจรุ่นใหม่ว่ามีองค์ประกอบอย่างไรที่จะทำให้อยู่รอดกับโลกเศรษฐกิจยุคใหม่นี้ครับ

... ดร.ทักษิณ: ผลสุดท้ายต้องกลับมาที่ความพอดี นั่นก็คือการทำธุรกิจต้องอยู่บนพื้นฐานของกำไร ถ้าเราคิดว่าธุรกิจไม่มีกำไรและหวังว่าจะเอาเงินของคนอื่นมาใช้อย่างสบายๆ นั้น เครดิตของเราจะเสียเร็วมาก คือ concept ใหม่นี้เป็น concept ของ Another people money คือเอาเงินชาวชาวบ้านมาประกอบธุรกิจ ซึ่งถ้าเอาเงินชาวบ้านมาประกอบธุรกิจแล้วเราไม่รับผิดชอบเงินชาวบ้าน วันหลังชาวบ้านก็ไม่เชื่อถือเรา เพราะฉะนั้นการที่จะเอาเงินคนอื่นมาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเงินในตลาดหลักทรัพย์ก็ดี เป็นเงินบริษัทมหาชนก็ดี เราจะต้องรับผิดชอบต่อผลประกอบการ เราจะต้องทำให้บริษัทมีกำไร เพราะฉะนั้นคนที่จะลงทุนกับเราเขาก็ไม่เชื่อถือเรา คือเราจะต้องทำธุรกิจที่สามารถสร้างกำไรได้ และที่สำคัญต้องตอกย้ำเพราะว่าเด็กรุ่นใหม่ บางทีบางครั้ง เราต้องยอมรับว่า ความประสบความสำเร็จในอายุยังน้อย บางทีมันหลงตัวได้เหมือนกัน แล้วหลงตัวมันก็เผลอใช้เงินผิดประเภท อย่างบางคนในชีวิตไม่เคยเลย อยู่ๆ พอมาทำดอทคอม เขาตีราคา Website ตัวเองให้ 20 ล้าน ก็เอาเงินไปซื้อรถสปอร์ตใช้ อย่างนี้มันหมดเร็วแน่ เราต้องคิดว่าเราอาจจะให้รางวัลตัวเองเล็กน้อย อย่าเพิ่งให้รางวัลตัวเองเยอะ เพราะว่าอนาคตชีวิตยังอีกยาวนาน เงินตรงนั้นก็ต้องเก็บมาลงทุน ขยายทุน เพื่อให้ตัวเองเติบโตขึ้นต่อไป

คุณชีพธรรม : ท่านครับ ในฐานะที่ท่านอยู่ในภาวะทางด้านการเมือง ดูแลในระดับการเมือง ที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น อยากจะเรียนถามว่า โดยภาพของคนไทยแล้วสามารถจะแข่งกับตลาดโลกได้หรือเปล่า และคนไทยมีความสามารถจะไปแข่งสิงคโปร์, ฮ่องกง, อินเดีย นี่เป็นคำถามจากคุณสุเทพ สามารถสู้เข้าได้ไหมครับ

... ดร.ทักษิณ: ผมเชื่อในศักยภาพของคนไทย แต่วันนี้ปัญหาคือว่า 1. คือคนไทยยังต้องการการชี้นำที่ถูกต้องพอสมควร ในส่วนที่บางครั้งขาดการนำ ภาวะการนำของเรามีปัญหา ภาวะการนำภาคเอกชน ภาวะการนำภาครัฐ ทั้งหลายไม่ใช่ระดับเดียว ไม่ใช่ว่าจำเป็นต้องเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียว ภาวะการนำของเรามีปัญหา และภาวะของการที่เราจะนำภาวะการนำผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้องเพื่อรองรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงของโลก อันนี้เรามีปัญหาอยู่

คุณชีพธรรม : เราจะมี Innovation ใหม่ๆ เกิดขึ้นไหมครับ ท่านมีความเชื่อเช่นนั้นไหมครับสำหรับประเทศไทย

... ดร.ทักษิณ: คือสมองมันมีอยู่แล้วแต่ขาด Leadership อันนี้เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทย คือเรามีสมองมีศักยภาพแต่ leadership มีปัญหา มันมีปัญหาหลายระดับ คือ leadership ที่สำคัญอันหนึ่งคือ ภาครัฐ จะต้องเข้าในว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เป็นอุปสรรคทั้งหลาย จะต้องรับการแก้ไข ยกตัวอย่าง เรื่อง ปัญหา ต่างๆ ทั้งหลายของระบบราชการ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย เป็นระเบียบ หรือเป็น monopoly จากภาครัฐ ที่ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นได้ในโลกนี้ แต่เกิดขึ้นไม่ได้ในประเทศไทยต้องแก้หมด เช่น อินเตอร์เน็ต ทำไมของประเทศไทยเกิดไม่ได้ bottleneck อยู่ตรงไหนต้องทลายให้หมด และก็เราต้องยอมรับว่า บางครั้งเราจะขึ้นแข่ง premier league เราต้องมีตัว division 2 เราไม่มีตัว premier league เราเข้าไปแข่งขันก็แพ้ เพราะฉะนั้นอาจจะต้อง import นักวิจัยดีๆ เข้ามาช่วยเพื่อนำทางให้นักวิจัยไทยซึ่งกำลังจะเริ่มลงสนามได้มีการพัฒนาฝีมือตัวเองขึ้นมาเร็วหน่อย อันนี้ทางภาครัฐจะต้องมองเห็นตรงนี้

คุณชีพธรรม : แต่อย่างไรก็ตามถ้าจะสู้กับเพื่อนบ้านต้องสร้างผู้ประกอบการขึ้นมาให้มากขึ้นเรื่อยๆ ใช่ไหมครับ

... ดร.ทักษิณ: แน่นอนครับ วันนี้เรามีคนตกงานเยอะครับ ถ้าเรามีแต่คนหางานหมด ประเทศเราก็ไปไม่รอด

คุณชีพธรรม : สร้างอย่างไรครับ

... ดร.ทักษิณ: สร้างผู้ประกอบการถึงจะมีคนสร้างงาน ผู้ประกอบการคือคนสร้างงาน

คุณชีพธรรม : เราจะสร้างอย่างไรครับให้เห็นเป็นรูปธรรม

... ดร.ทักษิณ: นั่นก็คือ เราจะต้องมีกองทุนร่วมทุน ให้กับที่มีไอเดียที่จะเป็นผู้ประกอบการวันนี้ แล้วให้มาทำให้มากที่สุด โดยภาครัฐและภาคเอกชนต้องส่งเสริมกัน และขณะเดียวกัน กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต้องยกเครื่องทั้งระบบ อย่ายกที่ละมาตรา ทีละฉบับ ไม่ทันหรอกครับ

คุณชีพธรรม : ต้องตั้งกระทรวงผู้ประกอบการด้วยหรือเปล่าครับ

... ดร.ทักษิณ: ใช่ครับ ผม Plan ไว้ในนโยบายผม ผมจะมีกระทรวงผู้ประกอบการส่งเสริมผู้ประกอบการ

คุณชีพธรรม : ที่ไหนเขาทำกันในโลกหรือยังครับ ที่ไหนครับ

... ดร.ทักษิณ: มีครับ รู้สึกจะที่มาเลเซีย ก็มีหลายประเทศ

คุณชีพธรรม : มีคำถาม Post ผ่าน Website Thaiventure.com คุณศุภชัย อยากฝากเรียนถามว่า มองธุรกิจ onlineของเมืองไทยจะมีโอกาสเติบโตมากกว่านี้หรือไม่ ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโตของธุรกิจประเภทนี้คืออะไรกันแน่ ระหว่างเงินทุนกับโอกาส หรือมีปัจจัยอย่างอื่นครับ

... ดร.ทักษิณ: ความจริงมันเป็น Communication ของทุกๆ อย่าง คือวันนี้ตอนนี้เราต้องเข้าใจว่าเราเพิ่งอยู่จุดเริ่มต้นเอง ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตบ้านเรายังน้อย แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว แต่ที่นี้เราต้องรีบทลาย bottleneck ของระบบข้าราชการ และพยายามส่งเสริมภาคเอกชนให้กล้าลงทุน และกองทุนร่วมทุนเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่แนวคิดที่จะปลดปล่อยพลังสมองของเด็กรุ่นใหม่นั้นเป็นเรื่องสำคัญ

คุณชีพธรรม : วันก่อนAsia week ขึ้นปกอินเดีย เราแอบอิจฉาว่าทำไมบ้านเราไม่ได้ขึ้นปกแบบอินเดียบ้าง

... ดร.ทักษิณ : เรามีปัญหา 2 อย่าง อย่างที่หนึ่งคือ ภาษาอังกฤษ เพราะว่าอินเดียเขาได้เปรียบเราเรื่องภาษาอังกฤษ 2. เรามีปัญหาเรื่องเราไม่มี Access เข้าสู่ตลาด Software ของอเมริกา ส่วนใหญ่แล้วอินเดียเป็น subcontractor ซึ่งเราจะต้องมี access เข้าสู่จุดนั้นด้วย ซึ่งเราจะต้องทำอย่างจริงจัง เราต้องยอมรับว่าเราบริหารแบบ analog มานานแล้ว

คุณชีพธรรม : ไม่เป็นไรครับ ความจริงเราก็ Think digital แต่ว่า act analog ครับ

... ดร.ทักษิณ : แต่ไม่มี Converter ไม่สามารถ convert ระหว่าง analog กับ digital ได้ ก็เลย communicate กันไม่ได้ ดร. Nicholas Negroponte (ผู้แต่งหนังสือ Being Digital

อ่านฟรีได้ 37 จากเว็บไซค์ Amazon.com)บอกว่า Don’t who has power are analog thinking Don’t who has digital thinking doesn’t has power คือ ดร. Negroponte (http://web.media.mit.edu/~nicholas) เขามาบรรยายในประเทศไทย เขาบอกว่า คนที่อำนาจบริหารส่วนใหญ่มักจะมีแนวคิดแบบ analog ส่วนคนที่มีแนวคิดแบบดิจิตอลมักจะอยู่ในระดับที่ไม่มีอำนาจบริหาร สลับที่กัน

คุณชีพธรรม : อย่างไรก็ตามถ้าท่านได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ขอฝากในเรื่องของผู้ประกอบการด้วยนะครับ

... ดร.ทักษิณ : อันนี้เป็น priority อยู่ในนโยบายพรรค ที่จะต้องรีบทำ เพราะผมรู้ว่าการเป็นผู้ประกอบการ การมีอาชีพอิสระ มันมีความสบายใจ มันได้ใช้พลังสมองตัวเองเต็มที่ มันทุ่มเท มันไม่ต้องมีระบบที่มาควบคุมเรา

คุณชีพธรรม : แต่ความเป็นจริง มันก็โหดและเหนื่อยนะครับ

... ดร.ทักษิณ : มันก็ต้องยอมรับ ก็ต้องกล้าล้มเหลว มันมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งความจริงหนังสือเขียนไม่ดีเท่าไร แต่ว่าขายดีมากทั่วโลก เพราะว่าเป็นหนังสือที่ใช้คำพูดดี ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า dare to fail (http://www.daretofail.com) แต่จริงแล้วแปลเป็นภาษาไทยชื่อว่า กล้าล้มเหลว ของคนมาเลเซียชื่อบิลลี่ ลิม ผมอ่านแล้วรู้สึกไม่ดีเท่าไร ธรรมดามาก แต่ผมขออนุญาต ไม่ใช่ว่าจะมาคุยโม้ว่าอะไร คือหนังสือเกี่ยวกับของผมลองซื้อไปอ่าน ผมคิดว่าอย่างน้อยๆ ประสบการณ์ของผม ผมเล่าจนหมดเปลือก

คุณชีพธรรม : ท่านครับ วันนี้ต้องขอขอบพระคุณท่านมากที่ท่านให้เกียรติรายการ Thaiventure.com Thaiventure ชื่อก็เสี่ยงหน่อยนะครับ

... ดร.ทักษิณ : ครับผมขอให้ทุกท่านกล้าเสี่ยงและประสบผลสำเร็จมากๆ

คุณชีพธรรม : ขอบคุณท่านครับ

ความคิดเห็น