จาตุรนต์ ฉายแสง กับ โลกธรรม 8

สัมภาษณ์ จาตุรนต์ ฉายแสง

ผมได้มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์หัวหน้าพรรคไทยรักไทย กับ คุณกานต์ ยืนยง แห่ง Parawat.com
แต่ผมสนใจในประเด็นของประวัติศาสตร์การเืมืองไทยกับพุทธศาสนา ที่คุณจาตุรนต์ ฉายแสง พบเรียนรู้กับความเปลี่ยนแปลงของโลกธรรม 8

ทำไมประวัติศาสตร์ของประเทศไทย อย่าง 2475 คนที่ร่วมอภิวัฒน์มาด้วยกัน ถึงแตกแยกกัน หรือว่าการก่อตั้งพรรคการเมือง อย่างพรรคไทยรักไทย ทำไมถึงแตกแยกกัน

คนในสังคม ไม่ว่าในสังคมไหนมันก็มีความเห็นที่ต่างกัน จะให้ความเห็นเหมือนกันยาก แต่ว่าถ้าเราไม่ได้มีการพัฒนาการของการสร้างอุดมการณ์ เรียนรู้อุดมการณ์ หรือว่าเสนอในความคิดอุดมการณ์แข่งกัน ส่งเสริมคนพัฒนาความคิดของตัวเอง อันนั้นอาจจะทำให้คนเป็นปึกแผ่นกันมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นปึกแผ่นแล้วไปเห็นต่างกัน หมายถึงมีกลุ่มคนที่รวมกันเหนียวแน่นไม่แยกกัน แต่ก็มีอีกกลุ่มที่มีความเห็นต่างกันได้ แต่ว่าผมอยากให้มองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไม่น่ากลัว เป็นเรื่องธรรมดา มีความเห็นต่างกันก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยจะต้องหาทางแก้ ปัญหาของสังคมไทยคือ การที่เมื่อคนเห็นต่างกันแล้ว เราไม่มีทางออกที่ดี ไม่มีวิธี ไม่มีวิถีทางที่จะแก้ไขความเห็นต่างกันโดยสันติวิธี แต่เราไปเลือกใช้ความรุนแรง


ขอคำตอบแบบไม่ใช่การเมืองครับ อย่างเช่นเรามีเพื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน แล้วทำไมเราถึงเกิดความแตกแยกกัน

อ้าว, ก็เมื่อสังคมพัฒนาไป คนก็พัฒนาความคิดของตัวเองไป ก็สังคมมันซับซ้อน เรื่องต่างๆ มันเกิดขึ้นมากมาย ความเห็นคนก็ต่างกันได้ ก็ต้องแตกต่างกันไป แต่เราอย่าไปกลัวความแตกต่างไง ประเด็นคืออย่าไปกลัวความแตกต่าง ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยคือ เมื่อมันต่างกันแล้ว เราไม่มีปัญญาที่จะแก้โดยสันติ เราต้องไปเชิญผู้มีกำลังอาวุธมาแก้ อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ของสังคม

ทำไมคุณจาตุรนต์ถึงยังอยู่พรรคไทยรักไทย ไม่แยกตัวไปเหมือนคนอื่นเขา

ทำไมผมไม่ไป ก็เพราะผมเห็นว่า ผมไม่ค่อยมีทางจะไป ผมจะไปร่วมพรรคการเมืองที่สนับสนุน คมช. ผมก็ทำไม่ได้ เพราะว่าผมต้องการสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่

จะไปเลิกการเมือง ผมก็คิดว่า ผมยังน่าจะสู้ทางการเมืองได้อยู่ ก็เลยคิดว่าจะสู้อยู่ แล้วก็รักษาพรรคไทยรักไทย แล้วก็ทำให้พรรคไทยรักไทยให้เป็นพรรคที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แล้วก็เพื่อไปแก้ปัญหาบ้านเมืองน่าจะดีกว่า

คุณจาตุรนต์เรียนรู้อะไรจากพุทธศาสนาบ้างครับ สำหรับเหตุการณ์ที่ผ่านมา

ทุกอย่างมันมีความเปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยงแท้ คือมันมีความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่จะอยู่ยงคงกระพันตลอดไป แต่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเรามองจากพุทธศาสนา ทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นมันเกิดจากกรรม ซึ่งหมายถึงผลของการกระทำ ไม่ใช่กรรมในชาติก่อน ไม่ใช่กรรมในอดีตนานมาแล้วในชาติก่อน มันเป็นผลของการกระทำของคนในปัจจุบัน

บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยก็เพราะมีคณะมายึดอำนาจ บ้านเมืองล้าหลังก็เพราะเราไปเลือกเดินทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ต่างชาติเขาถึงไม่มาลงทุน ก็เพราะเรามีรัฐบาลที่ไปประกาศไม่ค่อยต้อนรับคนจากต่างชาติ ถ้าเราต้องการประชาธิปไตย เราก็ไม่สามารถเอาธูปเทียนไปบนบานศาลกล่าวกับใครที่ไหน ศาสนาพุทธไม่สอนอย่างนั้น ศาสนาพุทธบอกว่าถ้าอยากได้อะไรก็ต้องไปทำ พึ่งตนเอง แล้วทำ ทำให้สำเร็จ

ถ้าเราอยากได้ประชาธิปไตย เราก็ต้องมีอิทธิบาท 4 ที่จะไปทำให้ได้ประชาธิปไตย ต้องมีความพอใจที่จะทำ ต้องมีความตั้งใจ ต้องมีความขยัน ต้องมีความทุ่มเทที่จะไปทำงาน เพื่อให้ได้ประชาธิปไตย อย่าไปคิดว่าจะมีเทพยดาที่ไหน จะมาเสกเนรมิตให้ อย่าไปคิดว่าจะบนบานศาลกล่าวใคร แล้วก็อย่าไปโทษว่านี่คือเวรกรรมของเรา หรือว่าเป็นเรื่องของการที่เราโชคไม่ดี ทำบุญมาน้อย.

อ่านเพิ่มเติมได้จาก Parawat.com

ความคิดเห็น