ย้อนรอย สงครามกลางเมืองปกป้องรัฐธรรมนูญ 2475 (กบฏบวรเดช)


อัลบั้มรูป สงครามกบฏบวรเดช 2476

ผ่านไป 78 ปี วันคล้ายวันครบรอบวันรัฐธรรมนูญเป็นวันที่มีการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
ก่อนที่วันรัฐธรรมนูญ ปี 2553 จะผ่านไปในค่ำคืนนี้ ผมอยากจะเขียนสงครามปกป้องรัฐธรรมนูญ 2475
เป็นสงครามกลางเมืองที่คนไทยนองเลือดกันเองระหว่างฝ่ายคณะราษฏรกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือกลุ่มนิยมเจ้า
ซึ่งรู้จักกันในนามของกบฏบวรเดช เกิดขึ้นใน ระหว่างวันที่ 12-23 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ผลของสงครามกลางเมืองครั้งนั้นเป็นผลทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 ต้องสละราชสมบัติ
พระองค์เจ้าบวรเดชลี้ภัยไปอยู่เวียดนาม และ ทหารฝ่ายกบฏถูกจับขังติดคุกและถูกส่งไปอยู่ตะรุเตา
แต่ใช่ว่าสงครามกลางเมืองครั้งนั้นจะจบลงนั่นคือจุดเริ่มต้นของเสื้อเหลืองและเสื้อแดงครั้งแรก ที่ส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นการยื้ออำนาจระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายราษฏร
ผมได้ทำการค้นคว้าและศึกษาในหลายแห่งเก็บรวบรวมข้อมูลพอสมควรตั้งแต่ ลพบุรี หัวหิน ตะรุเตา เส้นทางรถไฟสายอีสานที่มีการรบกันตั้งแต่บางเขน ไล่ไปจนถึงอุบลราชธานี รวมถึงในต่างประเทศเยอรมัน และ สหรัฐอเมริกา
ทุกวันนี้ตัวละครลูกหลานของทั้งสองฝ่ายก็ยังคงโลดแล่นอยู่ในถนนสายการเมืองไทย ซึ่งเป็นเรื่องแปลกว่า
ลูกหลายฝ่ายคณะราษฏร ก็มาอยู่ฝ่ายเสื้อแดง และ ลูกหลานฝ่ายกบฏในครั้งนั้น ได้กลายมาเป็นฝ่ายเสื้อเหลืองในทุกวันนี้

ต้นปี 2553 ผมพาตัวเองไปที่ค่ายปืนใหญ่พหลโยธิน โคกกระเทียม จ.ลพบุรี ภายในค่ายแห่งนั้นมีพิพิธภัณฑ์ของพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฏร ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตั้งอยู่ในค่าย เนื่องด้วยพระยาพหลฯ ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเคยมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนทหารปืนใหญ่เมื่อครั้งยังเป็นพันโท พระสรายุทธสรสิทธิ์ (พจน์ พหลโยธิน) ระหว่างที่ผมเดินชมอยู่ในพิพิธภัณฑ์นั้น สายตาเหลือบไปเห็นตู้กระจก
เก็บอัลบั้มภาพ ซึ่งดูจากภายนอกไม่มีอะไรน่าสนใจ ผมก็เลยลองหยิบอัลบั้มนั้นออกมาดู ลักษณะของอัลบั้มเก่ามาก ๆ กระดาษหน้าปกเริ่มเปื่อยยุ่ยตามอายุขัย หน้าปกของอัลบั้มเขียนว่า อัลบั้มการปราบกบฏบวรเดช ระหว่างวันที่ 11-18 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ผมเริ่มหยิบมาดูด้วยความสนใจ มีทั้งหมดอยู่ 2 เล่ม เล่มแรกเป็นภาพในการพระราชทานเพลิงศพของทหารที่ท้องสนามหลวง และบรรยากาศที่สถานีรถไฟหัวลำโพงที่ คณะรัฐบาลมารอรับทหารที่ไปปราบกบฏ อีกเล่มเป็นภาพของการรบในสมรภูมิตั้งแต่สถานีรถไฟบางเขน ไล่ขึ้นไปตามเส้นทางรถไฟสายอีกสาน แก่งคอย บ้านหินลับ ซึ่งเป็นสถานที่ของพระยาศรีสิทธิสงคราม เพื่อนรักของพระยาพหลฯ ซึ่งเคยเป็นนักเรียนนายร้อยเยอรมันด้วยกันและเป็นมือขวาของพระองค์เจ้าบวรเดช ถูกยิงที่นั่น ไล่ไปจนถึง นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ไปจนถึงวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

การรบปราบกบฏในครั้งนั้นพระยาพหลฯได้สั่งให้
จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนายทหารที่กำลังเปล่งรัศมีขึ้นมาเป็นนายทหารหัวหน้าการรบปราบกบฏ
แต่หลังจากที่หมดยุคของพระยาพหลฯ ลาออกจากนายกฯ จอมพล ป.พิบูลสงครามก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น
จอมพล ป. ผู้เป็นทหารที่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยามเป็นประชาธิปไตยก็เปลี่ยนไปเป็นเผด็จการขัดแย้งกับ
นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษ จนต้องหนีออกหนีประเทศ ซึ่งก็เป็นเรื่องยาวไม่ขอกล่าวในตรงนี้

สงครามกลางเมืองเป็นสงครามกลางเมืองครั้งแรกของประเทศไทยที่คนไทยรบกันเอง ซึ่งทางฝ่ายกบฏต้องการนำพระราชอำนาจกลับคืนให้กับทางพระมหากษัตริย์ ฝ่ายรัฐบาลหรือคณะราษฏร ก็ไม่ยอม
ที่จะคืนอำนาจให้ ก็ต้องสู้รบกัน การรบในครั้งนั้นดุเดือดมีทหารเสียชีวิตทั้งในกรุงเทพ และ แถบภาคอีสาน
ในทางประวัติศาสตร์มีการพูดถึงกันว่า ในหลวง ร.7 เป็นผู้สนับสนุนฝ่ายกบฏในครั้งนั้นในขณะเดียวกันก็วางตัวเป็นกลางทางการเมือง อีกประเด็นที่เป็นการงัดข้อทำให้พระองค์ต้องสละราชสมบัติก็คือ ทางคณะรัฐบาลได้ใช้ท้องสนามหลวง
เป็นที่ทำพิธีเผาศพทหารที่เสียชีวิตของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งท้องสนามหลวงนั้นเป็นที่ประกอบพระราชพิธีของพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น และสงครามครั้งนั้นทางฝ่ายรัฐบาลก็เลยได้มาสร้างอนุสาวรย์ปราบกบฏตรงวงเวียนหลักสี่ ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ แต่ก็ได้ถูกลืมกันไปตามกาลเวลาครับ
อย่างไรก็ตามการรบของคนไทยคนนั้นก็ไม่ได้บอกว่าฝ่ายไหนผิดไหนถูก ฝ่ายใดที่ชนะก็เป็นฝ่ายเขียนประวัติศาสตร์ ก็ไม่ต่างจากเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ที่อำนาจรัฐพอชนะก็บอกว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ก่อการร้าย สมัย พ.ศ. 2476 พอฝ่ายรัฐบาลชนะ ก็บอกว่าอีกฝ่ายเป็นกบฏ
ขอเชิญติดตามชมภาพประวัติศาสตร์ ได้เลยครับ



สถานีรถไฟดอนเมือง ที่มีร่องรอยการรบ



ฝ่ายรัฐบาลไล่กบฏไปจนถึงสถานีรถไฟแก่งคอย จ.สระบุรี



บนขบวนรถไฟผ่านสถานีทับกวาง



ฝ่ายกบฏล่าถอยและทำลายรางรถไฟไม่ให้ฝ่ายรัฐบาลติดตาม



กม. 140 ทหารเรือและกองช่างร่วมกันซ่อม


รังปืนของฝ่ายกบฏแถบบ้านหินลับ



ทางรถไฟถูกทำลายที่บ้านหินลับ ก่อนจะเข้า อ.ปากช่อง

พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เพื่อนรักของพระยาพหลฯถูกยิงที่นี่
การเมืองทำให้เพื่อนต้องแตกแยกกัน และพระยาศรีสิทธิสงครามก็คือคุณตาแท้ๆ ของ
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท​์ องคมนตรี



ฝ่ายกบฏรื้อไม้หมอนรถไฟออกที่บ้านหินลับ


พิธีศพของฝ่ายรัฐบาลที่บริเวณพระบรมรูปทรงม้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม



อีกมุมในงานพิธีหน้าพระที่นั่นอนันตสมาคม สถานที่แห่งเดียวกับที่
ในหลวง ร.7 พระราชทานรัฐธรรมนูญ



สุภาพสตรีชาวแก่งคอยไปร่วมปราบกบฏอยู่ในกองเสบียง


สถานีรถไฟหัวลำโพงประชาชนมาต้อนรับฝ่ายทหารรัฐบาลที่กลับจากปราบกบฏ

ความคิดเห็น