รีวิว เส้นชุมชนท่องเที่ยว OTOPนวัตวิถี เบตงยะลา สุดชายแดนใต้นราธิวาส


บ้านบ่อน้ำร้อน อ.เบตง จ.ยะลา

 เป็นครั้งแรกที่ผมกำลังจะได้เดินทางไป อ.เบตง จ.ยะลา แม้จะเดินทางมา 3 จังหวัดภาคใต้หลายครั้งแต่ผมก็นึกภาพเบตงไม่ออก ครั้งนี้แหละที่จะได้ไปรีวิวหมู่บ้าน OTOPนวัตวิถี บ้านบ่อน้ำ อ.เบตง จ.ยะลา ถามพี่ป้อมมัคคุเทศน์ผู้เชี่ยวชาญเส้นทางภาคใต้ว่าเบตงไกลขนาดไหนครับพี่ พี่ป้อมตอบว่า 4-5 ชั่วโมงครับ แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ทริปไปเที่ยวเบตงต้อง 2 วัน 1 คืนสามารถทำได้ครับ ลงเครื่องบินไฟล์แรกเช้าที่หาดใหญ่ บึ่งตรงไปปัตตานี เกือบ 2 ชั่วโมง จากนั้นเข้าสู่ตัวเมืองยะลา ไม่เกิน 40 นาที จากอำเภอเมือง จังหวัดยะลา ไป อำเภอเบตง เห็นป้ายแล้วอย่าใจอ่อนครับ วิ่งผ่านอำเภอบันนังสตาร์ อำเภอธารโต ผ่านอัยเยอร์เวง เป็นตำบลของอำเภอเบตง วิ่งมาเรื่อยๆ และเลี้ยวไปตามไหล่เขา แทบไม่มีทางตรงเลย เส้นทางคล้ายกับ เดินทางไป อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน


 
คลิป Youtube พาเที่ยวบ่อน้ำร้อนและห้องพัก



ในที่สุดก็ไปถึง หมู่บ้าน OTOP นวัตวิถีบ้านบ่อน้ำร้อน อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ตอนบ่าย2 ไปถึงพบผู้ใหญ่บ้านศรัชย์วิชญ นวลเจริญ รอต้อนรับอยู่ บ้านบ่อน้ำร้อนก็ตามชื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีน้ำร้อนตามธรรมชาติเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากว่า 30 ปี นักท่องเที่ยวไปว่ายน้ำแร่ต้มไข่ พักผ่อน มีห้องพักรีสอร์ท ให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อน ราคาคืนละ 700 บาท ซึ่งห้องพักก็สะดวกสบายมากครับ ถ้าไปแล้วชวนอุดหนุนเสื้อยืดใส่สวยเป็นสัญลักษณ์ว่าเรามาถึงเบตงแล้ว



คลิป Youtube กราบหลวงปู่ทวดวัดบ่อน้ำร้อน


จากบ่อน้ำร้อน เราไปกราบหลวงปู่ทวดที่วัดบ่อน้ำร้อน ซึ่งอยู่ไม่ไกลมาก กราบสักการะท่านแล้วก็เดินทาง ไปอุโมงค์ปิยะมิตร สถานที่แห่งนี้แหละครับเป็นไฮไลท์และเปิดประสบการณ์ใหม่ให้ผมอย่างมากเป็นดินแดนประวัติศาสตร์ การรบแบ่งแยกดินแดงของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ประเทศมาเลเซีย ที่มาตั้งฐานทัพกองกำลังในประเทศไทย และมีการขุดอุโมงค์หลบซ่อนเป็นทาง และ พักอาศัยอยู่ ผมรู้สึกแปลกใจมากว่าทำไมเราไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน ผมต้องแปลกใจมากที่เห็นนักท่องเที่ยวมาเลเซีย มาเที่ยวที่อุโมงค์ปิยะมิตรมากมาย สอบถามจากผู้ใหญ่ว่า ชาวมาเลเซียบางส่วนเห็นนักรบเหล่านี้เป็นฮีโร่ของพวกเขา หลังจากที่มีการเจรจาทางการไทยก็ได้ให้สัญชาติไทยและที่ดินทำกิน แก่นักรบเหล่านี้ซึ่งมีทั้งมาเลเซียและชาวไทย ที่เข้าไปอาศัยทำการรบเชื่อหรือไม่ครับว่า บางคนเข้าไปอยู่ 20 กว่าปี ระหว่างที่เข้าไปซื้อสินค้า พ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้นแหละครับ คือนักรบมาก่อน บางคนกลายเป็นศิลปินนักปั้น ทุกคนเปลี่ยนสถานที่ประวัติศาสตร์เป็นสถานที่ท่องเที่ยว


 
คลิป Youtube ชมสวนดอกไม้เมืองหนาวเบตง


ผมพบสุภาพสตรีสูงอายุท่านหนึ่ง ผู้ใหญ่บ้านบอกว่าเธอเป็นนักรบมาก่อน เธอดูยิ้มแย้มแจ่มใสมากแต่ขาของเธอขาใส่ขาเทียม การเดินขึ้นไปอุโมงค์ประมาณ 800 เมตรเห็นจะได้ เมื่อไปถึง แนะนำให้ชมพิพิธภัณฑ์ก่อนครับ จะเข้าใจถึงว่าทำไมต้องมีอุโมงค์ ดินแดนแห่งนี้คือเมืองแห่งสนามรบ เดินชมพิพิธภัณฑ์ด้วยความสนุกสนานและทึ่งกับประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต อุดมการณ์ของการเมือง เมื่อเดินเข้าไปในอุโมงค์ผมเชื่อว่านักท่องเที่ยวทุกท่านจะทึ่งว่าเขาขุดอุโมงค์กันได้อย่างไร
 ใช้ชีวิตอย่างไร ต่อสู้กับรัฐบาลมาเลเซียในผืนแผ่นดินไทย เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่


 จากอุโมงค์ผู้ใหญ่บ้านพาไปชมสวนดอกไม้เมืองหนาวเบตง ซึ่งอยู่ห่างจากอุโมงค์ขึ้นไปบนเขาอีกประมาณเกือบ 10 กิโลเมตร อากาศเย็นสบายเหมือนกับทางภาคเหนือมาก แต่อยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ผมประทับใจกับเบตงมาก เมื่อไปถึงสวนดอกไม้เมืองหนาวก็ต้องยิ่งแปลกใจมาก เพราะสถานที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของอำเภอเบตง พันธุ์ไม้หลากชนิดถูกนำมาปรับแต่ง ซึ่งทั้งหมดคือฝีมือของอดีตนับรบพรรคคอมมิวนิสต์มาลายากลุ่มเดียวกับอุโมงค์ปิยะมิตร ซึ่งทั้งหมดแบ่งหน้าที่กันทำ สวนดอกไม้มีที่พักโรงแรม ห้องสัมมนา ห้องอาหาร เป็นวิสาหกิจชุมชน ที่บริหารโดยอดีตนักรบทั้งหมด ผมทึ่งมากๆ ว่าจากนักรบกลายเป็นนักธุรกิจบริการเจ้าของโรงแรมสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งผมคิดว่าการใช้ชีวิตเป็นนักรบยากกว่านี้หลายเท่ายิ่งนัก เชื่อหรือไม่ครับว่า นักท่องเที่ยวมาเลเซียชอบมาเที่ยวมาก ๆ เพราะได้คุยกับอดีตนักรบ และ นักท่องเที่ยวชาวไทยก็นิยมสวนดอกไม้เมืองหนาวแห่งนี้


 
คลิป Youtube  พาเที่ยวเบตงยามเย็น


ยามเย็นอยากชวนนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวในอำเภอเบตง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านบ่อน้ำร้อนไม่เกิน 10 กิโลเมตร ไปนั่งรถผ่านอุโมงค์ ไปถ่ายรูปกับตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในตัวอำเภอเบตงเจริญมากๆ ช่างแตกต่างกับเส้นทางที่ผ่านมา สอบถามจากพี่ป้อมมัคคุเทศน์ได้ความว่า นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเดินทางมาเที่ยวเยอะมากๆ ซึ่งถ้าหากใครจะไปชายแดนไทยมาเลเซียที่อำเภอเบตง ต้องขับรถออกไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร




 เช้าวันรุ่งขึ้น ถ้านักท่องเที่ยวไปเที่ยวบ้านบ่อน้ำร้อน แนะนำเมนูมื้อเช้า ผัดหมี่เบตง ร้านนำ้ชา นั่งสบายๆ ราคาเป็นกันเองมากๆ เดินจากที่พัก ไปบริเวณด้านหน้าชอบร้านไหนเลือกเข้าไปเลยครับ ทานอาหารเสร็จ ผู้ใหญ่บ้านพาไปชมสวนส้มโชกุน นั่งรถจิ๊ปไปด้วยกัน เมื่อไปทึ่งผมรู้สึกทึ่งมากๆ สวนส้มโชกุนอยู่บนเขาทั้งลูก เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สนุกมาก ผมทึ่งกับสวนส้มโชกุน ผู้ใหญ่บอกว่าเก็บกันทุกวันส่งไปขายในหาดใหญ่ เช่นเดียวกับดอกไม้ จากสวนส้มแวะไปจุดรับนักท่องเที่ยว ผู้ใหญ่บ้านพาไปชมรถคอกหมูโบราณอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีซึ่งยังใช้งานรับนักท่องเที่ยวได้อยู่ครับ เดินชมรถโดยสารรุ่นคุณปู่ ก็มีรถทัวร์เข้ามา ปรากฏว่าเป็นนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย สอบถามมัคคุเทศน์ชาวไทยบอกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นั่งรถมาทั้งคืนเพื่อมาเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวที่ผมได้เขียนเล่ามาทั้งหมด ชวนชมคลิปเพื่อให้เห็นทุกประสบการณ์เหมือนสายตาของผมเพื่อได้เห็นมา แล้วชวนไปเที่ยว หมู่บ้าน otopนวัตวิถี บ้านบ่อน้ำร้อน อ.เบตง จ.ยะลา ครับ

 
คลิป Youtube ผัดหมี่เบตง อาหารถิ่นยามเช้า





คลิป Youtube  เที่ยวสวนส้มโชกุน




คลิป Youtube  รถคอกหมูโบราณอายุมากกว่า 60 ปี สำหรับบริการนักท่องเที่ยว




คลิป Youtube นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเที่ยวบ้านบ่อน้ำร้อน


หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส





บอกลาผู้ใหญ่ศรัชญ์วิชย์ ก็เกือบ 10 โมงเช้าเข้าไปแล้ว
จุดหมายปลายทางอยู่ที่หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส  
ความไกลขนาดไหนไม่ต้องถามนะครับ วิ่งกลับจากเบตงให้ถึงยะลา 2 ชั่วโมงนิดๆ
แวะรับ อาจารย์สมฤดี ทองคุปต์ คุณครูเพิ่งเกษียณอายุที่ผมเคยรู้จักกับท่านเมื่อครั้งมาสอนหนังสือที่
โรงเรียนโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เมื่อ ปี 2551 อาจารย์เป็นชาวอำเภอตากใบ
จังหวัดนราธิวาส แวะรับอาจารย์ที่ในตัวเมือง จากนั้นก็วิ่งผ่านข้ามเทือกเขาบูโดที่เชื่อมโยง
จังหวัดยะลากับนราธิวาส  ไปถึงนราธิวาสยามบ่าย แวะไปเยี่ยมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานนราธิวาส ที่ได้แนะนำพี่ป้อมมัคคุเทศน์ พร้อมกับขับรถให้ผมด้วยไม่อย่างนั้นทริปนี้ ไม่ง่ายแน่
และขอบคุณพัฒนากรอำเภอทุกท่านด้วยครับ
ทานอาหารกลางวันเรียบร้อย มุ่งหน้าไปหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา12
เปิด google maps ตรวจสอบเส้นทาง รถตู้วิ่ง ผ่านอำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโกลก อำเภอแว้ง
ช่วงอำเภอแว้งเข้าสู่อำเภอสุคิริน เป็นอำเภอเล็ก ๆ ใต้สุด  จากนั้นไปอีก 30 กว่ากิโล
เกือบห้าโมงเย็นแล้วยังไม่ถึง ช่วงสิบกิโลสุดท้าย
ทางเข้าหมู่บ้านเป็นป่าไม้ทั้งแทบบ้านพักอากาศัยของประชาชนไม่หนาแน่นเป็นป่า
ในที่สุดเราก็โล่งอกมาถึงหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา12



คุณอภิสิทธิ์ บินซา ประธานท่องเที่ยวชุมชนมารอต้อนรับอยู่แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าในหมู่บ้านท่องเที่ยวแห่งนี้
มาไกลซะขนาดนี้ มีห้องพักให้นักท่องเที่ยว พักติดกับต้นน้ำสายลำธารแม่น้ำปัตตานี นอนฟังเสียงน้ำไหล
อาบน้ำอาบท่าหายเหนื่อยจากการนั่งรถเดินทางไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมง


พระอาทิตย์ลาลับท้องฟ้ามืดมืด หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ไม่น่ากลัวเลย ตลอดเส้นทางที่มาก็สบายๆ ครับ  
 ไปทานอาหารเย็นที่บ้านคุณอภิสิทธิ์ กับครอบครัว ท่องเที่ยวชุมชนก็แบบนี้ครับ
ไปนั่งทานเหมือนกับเป็นญาติกันอาหารเย็นอร่อยมาก  ที่สำคัญได้คุยกับคุณพ่อดรอแม
คุณพ่อของคุณอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งทุกเที่ยวชุมชนท่านเป็นอดีตนักรบคอมมิวนิสต์พรรคมาลายา
เป็นเช่นเดียวกับกลุ่มอุโมงค์ปิยะมิตรที่เบตง ยะลา  ท่านเป็นชาวสุไหงปาดี เข้าป่ามา 18 ปี ก่อนเจรจาสงบศึก
ได้ที่ทำกินแห่งนี้ เมื่อปี 2532 ชีวิตสนุกสนานมาก ฐานบัญชาการอยู่ห่างจากหมู่บ้านเดินเท้าไปอีก 5 วัน
เพราะฉะนั้นหมู่บ้านแห่งนี้คือหมู่บ้านนักรบอย่างแท้จริง แต่ตอนนี้กลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
มีการล่องแก่ง เดินชมสวนดอกไม้ เดินป่าลองใช้ชีวิตจำลองแบบนักรบ  ฝึกทำอาหารแบบป่าๆ
ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมใครๆ ก็อยากมาเที่ยวหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา12
เพราะอยากมาสัมผัสชีวิตแบบธรรมชาติและสัมผัสนักรบคอมมิวนิสต์มาลายาในอดีต
ซึ่งยังมีผู้นำพรรคคอมมิวนิตน์มาลายา ชื่อว่า ท่านซีดี ปัจจุบันอายุ 95 ยังมีชีวิตอยู่ในหมู่บ้านแห่งนั้น


 
 Youtube เดินยามเช้าชมหมอก สวนดอกไม้สุคิริน



ยามเช้า หกโมงครึ่งต้องรีบออกแต่เช้า ถ้าสายกว่านี้หมอกจะหาย
คุณอภิสิทธิ์มารอรับกิจกรรมนี้คือการเดินเที่ยวหมู่บ้านไปที่สวนดอกไม้สุคิริน
เดินไปเรื่อยๆ ไม่ไกลจากหมู่บ้าน มีร้านขายข้าวยำ อากาศดีมาก ๆ เงียบสงบ เป็นหมู่บ้านสุดท้าย
 เดินจากหมู่บ้านไปไม่เกิน 1 กิโลเมตร มีสวนดอกไม้สุคิรินให้เราได้ชมความงดงามทางธรรมชาติ
นักท่องเที่ยวยังมีไม่มาก แม้แต่คนนราธิวาส ผมเชื่อว่าทริปรีวิว OTOPนวัตวิถี
แบบคลิปจะทำให้นักท่องเที่ยวอยากจะไปสถานที่แห่งนี้มากขึ้น



คลิป Youtube  รีวิวอาหารมื้อเช้า




เดินกลับมาทานอาหารเช้าที่บ้านคุณอภิสิทธิ์ เมนูเด็ด โรตีปลากระป๋องสไตล์นักรบ อร่อยอย่าบอกใครดูกันในคลิปกันเองนะครับ มื้อเช้ามีข้าวยำ พร้อมกับหมี่ และอีกหลายอย่างเป็นมื้อเช้าที่ทุกท่านจะต้องประทับใจ และชมการทำซุปคอมมิวนิสต์ที่อยากให้ทุกท่านชมคลิปลองไปลองทำทานกันดูครับ







คลิป Youtube เมนูซุปคอมมิวนิสต์





คลิป Youtube พิพิธภัณฑ์พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา



ทานอาหารเสร็จมาถึงไฮไลท์ในแบบประวัติศาสตร์การรบ คุณพ่อดรอแม
พาไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ผมขอบอกเลยว่านี่คือไฮไลน์การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
การรบเพราะเต็มไปด้วยเรื่องราวของการต่อสู้ คุณพ่อได้เล่าถึงชีวิตแต่หนหลังการใช้ชีวิตอยู่ในป่า ถึง 18 ปี เรา
จะเห็นเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการรักษา อาวุธการรบ เครื่องมือสื่อสารวิทยุ
 หนังสือแบบเรียนคอมมิวนิสต์ และอื่นๆ มากมาย ผมได้ทำคลิปไว้ยาวถึง 32 นาที ชมกันจุใจ





คลิป Youtube  รีวิวอาหารกลางวัน







คลิป Youtube สินค้า OTOP บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12


มื้อกลางวันก็ทานซุปคอมมิวนิสต์รสชาติเครื่องเทศสุดๆ หอมอร่อยร้อนชื่นใจมากๆ
 ซือสินค้า otopของหมู่บ้าน ก่อนเดินทางกลับผมเห็นกลุ่มวัยรุ่นนักท่องเที่ยว
นั่งรถปิคอัพสวนเข้าไปเพื่อไปล่องแพ  บริเวณก่อนทางเข้าหมู่บ้านมีตลาดนัดเล็ก ๆ
ซึ่งแปลกใจมากไกลขนาดนี้ใครจะมาซื้อของเพราะชุมชนก็ไม่ได้ใหญ่มาก
สอบถามความว่ามาขายให้นักท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นหมู่บ้าน
otopนวัตวิถีแห่งนี้อยากให้มาเที่ยวกันครับ
ร่ำลาคุณอภิสิทธิ์มุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดนราธิวาสเพื่อไปรีวิว
หมู่บ้านบูกิตอ่าวมะนาว อ.เมือง จ.นราธิวาส และตลาดน้ำยะกัง เช้ารุ่งขึ้นก็จะได้ไปต่อที่ บ้านทอน หมู่บ้านotopนวัตวิถี ติดชายทะเลอยู่ใกล้กับสนามบินนราธิวาส



หมู่บ้านบูกิตอ่าวมะนาว อ.เมือง จ.นราธิวาส



ขากลับรถตู้วิ่งผ่านสุโหงโกลก ผ่านสถานีรถไฟใต้สุดของประเทศไทย ผ่านอำเภอตากใบ
อาจารย์สมฤดี พาไปชม ทะเลใต้สุดของประเทศไทย และฝั่งตรงข้ามคือประเทศมาเลเซีย
เป็นอีกสถานที่ที่ต้องพลาดไม่ได้ถ้าเดินทางไปจังหวัดนราธิวาส  ปลากุเลาที่นี่ขึ้นชื่อระดับประเทศครับ








บ่ายสี่โมงเย็นมาถึงหมู่บ้าน OTOPนวัตวิถี บ้านบูกิตอ่าวมะนาว  ซึ่งอยู่ติดกับอ่าวมะนาว
ผมเคยมาอ่าวมะนาวเมื่อเกือบสี่ปีที่แล้วเมื่อครั้งความไม่สงบยังเป็นข่าว แต่เวลานี้ทุกอย่างกลับเข้าสู่เหตุการณ์ปกติ

ที่นี่เป็นแหล่งผลิตผ้าบาติกระดับประเทศ ระหว่างที่ผมเข้าไปเยี่ยมชมการผลิต
ทราบว่า ธนาคารกรุงไทยสั่งไปตัดเสื้อ
ทุกคนในชุมชนกำลังขะมักขเม้น ผมต้องทึ่งกับศิลปินผ้าบาติกที่เขียนลายเส้นลงบนผ้าแบบดั้นสด
ประทับใจในฝีมือการวาดมากครับ







มาถึงไฮไลท์แบบท่องเที่ยวคือการไปเยี่ยมชมอ่าวมะนาว มีจุดเช็คอิน ชายหาดอ่าวมะนาวยาวสุดลูกลูกตา นักท่องเที่ยวนั่งกันอยู่ริมหาดอย่างมีความสุข ชายหาดสวยงามมากๆ ได้รับการดูแลจากอุทยานแห่งชาติ อ่าวมะนาวเขาตันหยง ลมทะเลพัดเย็นสบายจริงๆ  ณ สถานที่แห่ง ถัดจากอ่าวมะนาวคือท่ีพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์  เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่า ความสวยงามของอ่าวมะนาวยังเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ชวนไปเที่ยวกันเยอะ ๆ ครับอยู่ห่างจากเมืองเพียงนิดเดียว







ตลาดน้ำยะกัง อ.เมือง จ.นราธิวาส




 ออกจากอ่าวมะนาวไปตลาดน้ำยะกัง ขนมร้อยปี ไม่น่าเกิน 10 นาที เป็นตลาดน้ำ otopนวัตวิถี เพิ่งตั้งขึ้นไปนานอยู่ริมแม่น้ำบางนารา ตอนนี้กลายเป็นแหล่งพักผ่อนยามเย็น มีร้านค้าอาหารแปลกๆ ในแบบมุสลิม ชวนชมอาหารแปลกๆ ที่ไม่เคยเห็นในคลิป youtube ได้เลยครับ แล้วนึกในใจไว้ ตลาดน้ำยะกังอยู่ในเมือง ห่างจากสนามบินนราธิวาสไม่เกิน 15 กิโลเมตร เครื่องบินมีทุกวัน 2 สายการบิน ไทยสไมล์กับแอร์เอเซีย เลือกได้เลยครับว่าจะขึ้นที่สุวรรณภูมิหรือสนามบินดอนเมือง ผมขอแนะนำว่าถ้าบินมาเที่ยวนราธิวาส เวลาไม่มาก เที่ยว อ่าวนราทัศน์ในเมือง ไปอ่าวมะนาว และเที่ยวตลาดน้ำยะกัง ครับ



บ้านทอน อ.เมือง จ.นราธิวาส









ตื่นเช้าตรู่ขอบคุณพัฒนากรชุมชนช่วยประสานหมู่บ้านไว้เรียบร้อยอย่างดี บ้านทอนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สุดยอดแห่งหนึ่งในสายตาของผมครับ อยู่ห่างจากสนามบินนราธิวาส นิดเดียว ถ้าหากภูเก็ตมีหาดไม้ขาวสำหรับชมเครื่องบินขึ้นลง  ชายหาดบ้านทอนก็มีเช่นเดียวกับหาดไม้ขาวภูเก็ต ชาวหาดยาวกว่าไม่ต่ำกว่า 5 กิโลเมตรครับ










ไปถึงก็เดินชมหาด ดูการต่อเรือกอและ สำหรับทำประมง ไปดูห้องพักริมทะเล นิดนึงครับ
ชุมชนบ้านทอนนักท่องเที่ยว นำเครื่องดื่มแอลกอฮอร์มาดื่มไม่ได้ แต่ไปดื่มข้างนอกแล้วมาพักได้ครับ











ทริป ยะลา นราธิวาส  ถ้าใช้เส้นทางท่องเที่ยวแบบที่ผมรีวิว 3 วัน 3 คืน ในหมู่บ้านotopนวัตวิถี ถ้ามีเวลาไม่ถึงก็ปรับตามความเหมาะสม แต่ผมขอบอกไว้ก่อนนะครับว่า การท่องเที่ยวแบบชุมชนใช้เวลามากกว่าการเที่ยวแบบเดิมที่เราเคยเที่ยวในอดีต นักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ลองชมคลิปที่ผมรีวิวไว้ก่อน ถ้ามีโอกาสค่อยไปเที่ยวกับครับ อย่าลืมบันทึกใส่ลงในปฏิทินท่องเที่ยวของท่านครับ

ชีพธรรม คำวิเศษณ์

ความคิดเห็น